เกี่ยวกับเรา

นวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation) หมายถึง กิจกรรม ผลิตภัณฑ์ หรือบริการใหม่ ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของสังคมเป็นหลัก โดยมีการพัฒนาและเผยแพร่ผ่านองค์กรเพื่อสังคม” (Mulgan, 2007) ซึ่งมีส่วนช่วยในการพัฒนาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เพื่อเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต หรือเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคม มีผลกระทบในระดับชุมชน หรือส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ดังนั้นนวัตกรรมสังคม จึงเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ในการนำนวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาสังคม โดยเป็นกระบวนการ  เครื่องมือ การดำเนินงาน หรือสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สังคมดีขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคม โดยไม่จำกัดขอบเขต หรือความหมายในการดำเนินงาน เพื่อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์มหาชน) (สนช.) จึงได้ดำเนินการเปิดตัวยุทธศาสตร์ใหม่ด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม พร้อมกลไกสนับสนุนที่มุ่งสร้างและพัฒนายกระดับธุรกิจนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม สิ่งแวดล้อม ประชาชน และสนับสนุนชุมชนท้องถิ่น โดยใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม โดยมีเครือข่ายพันธมิตรในการดำเนินโครงการร่วมกัน เพื่อให้เกิดการสนับสนุนและขยายผลการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมในเชิงสังคมอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ของรัฐบาล นอกจากนี้ สนช. ยังได้กำหนดเป้าหมายของการพัฒนา platform โครงการนวัตกรรมคือ “การสร้าง Social Economy ด้วย Social Innovation” และกำหนดเป้าหมายรายปี ดังนี้

“การสร้าง Social Economy ด้วย Social Innovation”

ปี 2560: ปีแห่งการสร้าง Social Innovation Platform

ปี 2561: ปีแห่งการสนับสนุนนวัตกรรมตาม Social Issue-based

ปี 2562: ปีแห่งการยกระดับการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม

ปี 2563: ปีแห่งการเป็นผู้นำนวัตกรรมด้านสังคม

          ในการดำเนินงานของ สนช. จะให้ความสำคัญต่อประเด็นการพัฒนา platform ทางสังคม และสาขาธุรกิจเพื่อสังคม (social business sectors) ที่สร้างความสามารถทางนวัตกรรมของสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งการสร้างธุรกิจนวัตกรรม และการสร้างเครือข่ายนวัตกรรมเชิงสังคม โดยมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการให้ประโยชน์หรือสาธิตนำร่องผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการที่เพิ่มมูลค่า เพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้นในประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคม 9 ด้าน คือ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านภาครัฐและการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผ่านกลไกการสนับสนุนของ สนช. ที่พัฒนาขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม รวมถึงแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ระหว่างชุมชน ผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคม หน่วยงานวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน หน่วยงานสนับสนุนเงินทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และในที่สุด สนช. ได้ก้าวสู่การเป็นองค์กรนำในการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมของประเทศไทยที่สำคัญองค์กรหนึ่ง

สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานในระยะที่ 2 ของ สนช. ในช่วงปี 2564–2567 นั้น เป็นการขับเคลื่อนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เข้ากับบริบท หรือสถานการณ์ต่างๆ ของประเทศหรือของโลกที่กำลังเผชิญอยู่ ควบคู่ไปกับการนำภาพอนาคตมาเป็นเครื่องมือในการกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงมหภาคที่เป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในรูปแบบโมเดล Quintuple Helix ที่เป็นการเชื่อมโยงภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม เข้าด้วยกันให้สามารถสร้างโอกาสทางนวัตกรรมเพื่อสังคมที่หลากหลายมากขึ้น และมีโอกาสในการสร้างผลกระทบที่กว้างขึ้นโดยเฉพาะในระดับภูมิภาค อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนของโครงการที่มากขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายในระยะเวลา 4 ปีต่อจากนี้ ได้แก่

ปี 2564: ปีแห่งการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมในการฟื้นฟูประเทศจากภาวะวิกฤติ

ปี 2565: ปีแห่งการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคมสู่ระดับภูมิภาค

ปี 2566: ปีแห่งการสร้างเครือข่ายและสร้างผลกระทบเชิงสังคม

ปี 2567: ปีแห่งการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคม

          สนช. หวังว่าการขับเคลื่อนงานนวัตกรรมเพื่อสังคมในระยะที่ 2 นี้ จะทำให้ทุกภาคส่วนในระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคมได้รับการบ่มเพาะ เชื่อมโยง ส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเป็นระบบ จนทำให้ประเทศไทยสามารถแสดงให้ประชาคมโลกเห็นว่า เราก็มีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงประเทศโดยการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ และนำไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม จนสามารถพัฒนาโครงการที่เกิดผลกระทบเชิงสังคมที่สำคัญ ในระยะต่อจากนี้ไป