โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่
นวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทย การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาค
โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่ เป็นโครงการที่มุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาสังคมและลดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ หรือกลุ่มพื้นที่เป้าหมายด้วยนวัตกรรม ผ่านการดำเนินงานร่วมกับ “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเชิงพื้นที่” ที่จัดตั้งขึ้นกระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยอบรมบ่มเพาะเพิ่มความสามารถด้านนวัตกรรมให้กับชุมชนและผู้ประกอบการทางสังคม จนสามารถพัฒนา “ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม” ในพื้นที่ที่ตอบโจทย์ปัญหาและตรงตามความต้องการของสังคมหรือชุมชน อันจะนำไปสู่โมเดลการแก้ปัญหาสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โครงการสำหรับเมืองและชุมชน
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้พัฒนาแพลตฟอร์มการส่งเสริมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม โดยการนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤติ และนำไปสู่ทิศทางที่เหมาะสม และสอดคล้องตามแผนปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สำนักงานมีแผนการดำเนินงานภายใต้แผนงาน “โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชน (Flagship)” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการพัฒนานวัตกรรมของประเทศซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการนวัตกรรมในระยะหลังการวิจัยและพัฒนา หรือการต่อยอดจากงานวิจัยและสิ่งประดิษฐ์สู่เชิงพาณิชย์ 2) สำรวจ ศึกษา วิเคราะห์ และประเมินทางวิชาการ รวมทั้งความต้องการพัฒนานวัตกรรมในด้านต่าง ๆ เพื่อเสนอแนะนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการพัฒนานวัตกรรมของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี 3) ส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของเครือข่ายวิสาหกิจในสาขาอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ อันก่อให้เกิดระบบนวัตกรรมแห่งชาติที่เข้มแข็ง 4) ส่งเสริมและสนับสนุนการยกระดับทักษะความสามารถด้านเทคโนโลยีและการบริหารจัดการด้านนวัตกรรม และ 5) ส่งเสริมและสนับสนุนเพื่อสร้างความตื่นตัวด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันก่อให้เกิดวัฒนธรรมนวัตกรรม ทั้งในระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ระดับองค์กรและระดับประชาชน
โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village) เป็นโครงการที่อาศัยรูปแบบกลไกการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Diffusion) ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาด้านสังคมปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ด้วยนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีการพัฒนาต้นแบบหรือโมเดลที่สำเร็จแล้วร่วมกับองค์กรเครือข่ายขนาดใหญ่ หรือหน่วยงานระหว่างประเทศ ให้สามารถกระจายสู่ชุมชน หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นให้เกิดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในกลุ่มจังหวัดยากจนของประเทศ หรือพื้นที่เป้าหมายนำร่อง
โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับเมือง (City and Community Innovation Challenge) เพื่อกำหนดโจทย์ปัญหาสำหรับนวัตกรรมเมืองและสร้างต้นแบบการแก้ปัญหาสังคมในระดับพื้นที่ทั้งในเขตเมือง ที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดจากการขยายตัวของสังคมเมือง โดยเปิดรับข้อเสนอแนวคิดการพัฒนาในหลากหลายมิติ จากนั้นจะมีการตัดสินแนวคิดที่ดีและมีโอกาสในการขยายผล ซึ่งองค์กรที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับทุนสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ เพื่อให้ได้ข้อสรุปและข้อเสนอแนะในการขยายผลแนวคิด เทคโนโลยี โอกาสทางสังคมและธุรกิจไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไป
โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา (Sectoral Social Innovation Project) เพื่อเป็นการสร้างนวัตกรด้านสังคมและกิจการเพื่อสังคมร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย องค์กรภาคเอกชน มูลนิธิ และสมาคมต่างๆ โดยมุ่งเสริมสมรรถนะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถ โดยให้การสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษาทั้งด้านนวัตกรรม เทคโนโลยี และการจัดการ เชื่อมโยงองค์ความรู้ พร้อมทั้งกิจกรรมเสริมความเข้มแข็ง กิจกรรมการประกวดรางวัลด้านสังคม รวมถึงพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องเพื่อทดลองและปรับปรุง ตลอดจนพัฒนาแนวคิด จนเกิดความมั่นใจ สามารถจัดตั้งกิจการเพื่อสังคม และยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคงและยั่งยืน ในประเด็นนวัตกรรมเชิงสังคม 9 ด้าน คือ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านภาครัฐและการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ
โครงการ การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคม
โครงการการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคมเป็นการดำเนินการร่วมกับเครือข่ายพันธมิตรต่างๆ ในรูปแบบ “เครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม” และ ดำเนินการจัดตั้ง “หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับผู้ประกอบการสังคมและเยาวชน” เพื่อร่วมสร้างกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ในการสร้างระบบนิเวศของการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมทางสังคม ตลอดจนการพัฒนาระบบประเมินผลกระทบเชิงสังคม (Social Impact Assessment) ที่สามารถแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการดำเนินงาน นอกจากนี้ ยังมุ่งเน้นให้เกิดกิจกรรมการสนับสนุนบุคลากรที่มีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม ซึ่งนับเป็นการสร้างสมรรถนะด้านนวัตกรรมให้กับกลุ่มเป้าหมายในระดับเยาวชน วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัย องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ตลอดจนองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ให้สามารถร่วมกันสร้างประโยชน์ต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน