การขอรับการสนับสนุน

โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม

เป็นกลไกให้ทุนสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมแบบให้เปล่า (grant) ในการพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยในมิติต่างๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนและสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความเท่าเทียมกันในสังคม และสามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ โดยแบ่งออกเป็นกลไกลหลักๆ 4 กลไก ดังนี้

1. โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา (Sectoral Social Innovation Project)

โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่เปิดรับข้อเสนอโครงการจากทั่วทั้งประเทศ สนับสนุนความหลากหลายของแนวคิดนวัตกรรม สู่การพัฒนาต้นแบบหรือนำร่องนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ไขปัญหาสังคมไทยทั้ง 9 มิติ ได้แก่ 1) ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2) ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน 3) ด้านการศึกษา 4) ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม 5) ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน 6) ด้านภาครัฐและความเป็นเมือง 7) ด้านสุขภาพ 8) ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม และ 9) ด้านการจัดการภัยพิบัติ ผ่านการสนับสนุนเงินทุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ ติดตามการรับสมัครได้ที่ ข่าวประกาศ

2. โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน (City and Community Innovation Challenge)

สนับสนุนการสร้างนวัตกรรมสำหรับพัฒนาเมืองและชุมชน (Innovation for urbanization) โดยเกิดการบูรณาการ่วมกับพื้นที่ ทั้งหน่วยงานด้านการปกครอง องค์กรเอกชน องค์กรภาคสังคม และภาคประชาชน ผลักดันไปสู่การใช้งานจริงเพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นที่ท้าทายของชุมชนและเมือง ผ่านการสนับสนุนเงินทุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ ติดตามการรับสมัครได้ที่ ข่าวประกาศ

3. โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Village)

สนับสนุนการนำผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมไปขยายผลสู่พื้นที่เป้าหมาย และก่อให้เกิดระบบนิเวศนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่สามารถแก้ไขปัญหา ส่งเสริม และสนับสนุน ยกระดับคุณภาพชีวิตในพื้นที่เป้าหมาย และเป็นต้นแบบการขยายผลผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ที่ช่วยแก้ปัญหาความยากจนหรือปัญหาตามบริบทของพื้นที่นั้นๆ วงเงินสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ ติดตามการรับสมัครได้ที่ ข่าวประกาศ

4. หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit : SID)

เป็นการบ่มเพาะเพื่อยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมหรือผู้ที่สนใจ จนสามารถพัฒนาแนวคิดสู่ต้นแบบหรือโครงการนำร่องได้ ผ่านกิจกรรมเครือข่ายมหาวิทยาลัย การให้ปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญและการบ่มเพาะ โดยหวังว่าจะเกิดนวัตกรเพื่อสังคม และกิจการเพื่อสังคมที่สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง และแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม ติดตามการรับสมัครได้ที่ ข่าวประกาศ

“นวัตกรรม” แบบไหน ถึงขอรับทุนได้?

NIA ให้การสนับสนุน “นวัตกรรม” ทุกรูปแบบ ทั้งที่จับต้องได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี แอปพลิเคชัน รวมถึงนวัตกรรมที่จับต้องไม่ได้ เช่น บริการ หรือกระบวนการใหม่ๆ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง

ขอทุนต้องทำอย่างไร

**อำนาจในการพิจารณาอนุมัติโครงการ เป็นสิทธิของ สนช. แต่เพียงฝ่ายเดียวและให้ถือเป็นที่สิ้นสุด**

คลิก >> ลงทะเบียนขอรับการสนับสนุน

ดาวน์โหลดฟอร์มข้อเสนอโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม

ดาวน์โหลดคู่มือการลงทะเบียนขอรับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมรายสาขา

ดาวน์โหลดคู่มือการลงทะเบียนขอรับการสนับสนุนโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม

***ใช้แบบฟอร์มโครงการนวัตกรรมของทางสำนักงานฯ เท่านั้น มิฉะนั้น สำนักงานฯ ขอสงวนสิทธิ์ในการพิจารณาโครงการ***

คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ

  • นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย (บริษัท หจก. มูลนิธิ สมาคม วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์) 

    ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่ร้อยละ 51 ของนิติบุคคลนั้น ถือโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย

  • ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น

    (เว้นแต่ทุนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ซ้ำซ้อนจากที่ขอรับการสนับสนุน)

  • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

    ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง หรือผู้ต้องโทษในคดีอาญา

เกณฑ์การพิจารณา

สำหรับโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จะทำการพิจารณาโครงการที่ยื่นเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนพัฒนานวัตกรรมตามหลักเกณฑ์ใน 3 ด้านหลัก คือ

  1. ความเป็นนวัตกรรม
  2. ผลกระทบเชิงสังคม
  3. ความยั่งยืนของโครงการ

รูปแบบเงินสนับสนุน

  • ผู้ผ่านเกณฑ์การสนับสนุนจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อดำเนินโครงการมูลค่าไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนโครงการที่สำนักงานฯ
  • การจ่ายเงินเพื่อให้การสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการ จะเป็นลักษณะการเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลัง (reimbursement) ซึ่งผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องออกค่าใช้จ่ายในโครงการแต่ละงวดไปก่อน ตามแผนงาน แล้ว สนช. จะทำการเบิกจ่ายให้เป็นรายงวด
  • กรณีผู้ขอรับทุนเป็นภาคเอกชน จะต้องแสดงค่าใช้จ่าย (In-Cash) ที่เกิดขึ้นหลังจากลงนามสัญญาส่วนของผู้ขอรับทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าโครงการ
  • สนช. ไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax, VAT)
  • ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนในนามของนักวิจัยโดยตรงได้ โดยผู้ยื่นขอรับการสนับสนุนต้องเป็นหน่วยงานที่นักวิจัยสังกัดอยู่เท่านั้น