กิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise เป็นกิจการที่มีเป้าหมายหลักเพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมในมิติของคน (people) สิ่งแวดล้อม (planet) และการเงิน (profit) ไปพร้อม ๆ กัน หรือที่เรียกว่า Triple Bottom Line โดยใช้กลไกการบริหารจัดการของภาคธุรกิจมาผนวกรวมกับองค์ความรู้และนวัตกรรมสังคมที่มีความยั่งยืน และมีการนำผลกำไรที่เกิดขึ้นไปลงทุนซ้ำเพื่อขยายผลทางสังคมที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ปัจจุบันธุรกิจต่างๆ ไม่ได้ถูกประเมินเพียงเฉพาะด้านผลกำไร หรือคุณภาพของสินค้าและบริการเท่านั้น แต่มีเรื่องของการสร้างผลกระทบต่อสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งทำให้เกิดโมเดลของธุรกิจเพื่อสังคมขึ้นมา [1]
สำหรับในประเทศไทย กิจการเพื่อสังคมถือว่าเป็นองค์กรรูปแบบใหม่ที่เริ่มได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยมีการผสมผสานกลไกทางธุรกิจกับความต้องการแก้ปัญหาสังคมเข้าด้วยกัน และมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจเพื่อสังคม (social economy) ในอนาคต เนื่องจากเป็นกิจการที่ให้น้ำหนักกับแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าการแสวงหาผลตอบแทนทางการเงิน อีกประการที่สำคัญคือ กิจการเพื่อสังคมจะต้องตอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอีกหลายฝ่ายว่าการดำเนินกิจการดังกล่าวทำให้เกิดคุณค่าทางสังคม และ/หรือสิ่งแวดล้อม หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร หากไม่มีโครงการหรือกิจการนี้เข้าไปทำงาน ผลลัพธ์หรือการเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ โดยผลที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่าผลลัพธ์ทางสังคม หรือ Social Impact ซึ่งควรสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายและพันธกิจของโครงการหรือกิจการ โดยที่สามารถวัดผลลัพธ์ทางสังคมได้จากประเมินผลลัพธ์ทางสังคม [2]
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) ได้ตระหนักถึงการเติบโตของกิจการเพื่อสังคมและความสำคัญของการพัฒนานวัตกรรมสังคมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น สนช. โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม จึงได้ริเริ่มกลไกการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สามารถตอบสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม สนช. ได้ตระหนักว่าโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมมีลักษณะที่แตกต่างจากโครงการนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจ กล่าวคือโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมจะไม่มุ่งสร้างเพียงผลกำไรของโครงการเท่านั้น แต่จะมองไปถึงผลลัพธ์ทางสังคมที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้น สนช. จึงได้ดำเนินการออกแบบตัวชี้วัดการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม (Social Impact Assessment: SIA) ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งนี้ SIA ยังเป็นเครื่องมือและกระบวนการสำคัญที่จะต้องทำในกิจการหรือโครงการเพื่อสังคมที่ประกอบด้วยกระบวนการวิเคราะห์ การตรวจวัดผลกระทบทั้งเชิงบวกและเชิงลบตามกิจกรรมและแผนการดำเนินงาน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดขึ้น [3] ที่ทำให้สามารถช่วยในการวางแผน การติดตามผลการทำงาน และการประเมินผลให้เป็นรูปธรรมที่เพื่อสื่อสารให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) หรือคนภายนอกองค์กรได้รับรู้
ก่อนจะเริ่มการประเมินผลลัพธ์ทางสังคม ต้องมีการกำหนดปัญหา กลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มพันธกิจของกิจกรรม โดยเครื่องที่ใช้ในการกำหนดปัญหา กลุ่มเป้าหมาย พันธกิจและระบุผลลัพธ์ ประกอบด้วย
- ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลง (Theory of Change) โดยสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกิจกรรมที่องค์กรจะทำกับผลกระทบหรือผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมายแต่ละกลุ่มอย่างเป็นเหตุเป็นผล โดยผลลัพธ์จะต้องสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของกิจกรรม “โครงการนี้มอบคุณค่าอะไรให้สังคม” หรือ “หากไม่มีโครงการนี้แล้ว ผลลัพธ์ทางสังคมอะไรที่จะไม่เกิดขึ้น”
- การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) หมายถึง บุคคล กลุ่มคน องค์กร หรือองค์กรตัวแทน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทางตรงหรือทางอ้อมต่อกิจกรรมเพื่อสังคม เนื่องจากการประเมินผลลัพธ์ทางสังคมเป็นการวัดความเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
- ห่วงโซ่ผลลัพธ์ (Impact Value Chain) คือการแจกแจงกิจกรรมและผลผลิตที่ทำให้ทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้จริง
ปัจจัยนำเข้า (Input) | กิจกรรม (Activities) | ผลผลิต (Output) | ผลลัพธ์ (Outcome) |
สิ่งที่ต้องใช้ในโครงการเพื่อสร้างผลลัพธ์ | กิจกรรมหลักที่ทำในโครงการเพื่อทำให้เกิดผลที่คาดหวัง | ผลผลิตจากการทำกิจกรรมที่สามารถวัดได้ | ผลลัพธ์ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคม |
- ตัวชี้วัดทางสังคม (Social Impact Indicators) เป็นสิ่งที่จะบ่งบอกถึงประเด็นที่จะสะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่กิจกรรมต้องการสร้าง ซึ่งตัวชี้วัดจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของกิจกรรมและปัญหาที่ต้องการแก้ไข
- กรณีฐาน (Base Case Scenario) เป็นเครื่องมือสำคัญของการประเมินที่ใกล้เคียงความจริงที่สุด เพื่อสะท้อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกิจกรรม
สำหรับกิจการเพื่อสังคมที่ต้องการคำนวณผลตอบแทนจากการลงทุน (Social Return On Investment; SROI) เป็นการนำผลลัพธ์ทางสังคมในด้านต่างๆ มาคำนวณหามูลค่าเป็นตัวเงิน แล้วเทียบกับมูลค่าทางการเงินของต้นทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการเพื่อดูว่าโครงการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมคิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ต่อเงิน 1 บาทที่ลงทุนไป นับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญเพื่อใช้ในการหาความคุ้มค่าของการลงทุน
ตัวอย่างกิจการเพื่อสังคมที่ได้รับการสนับสนุนในการดำเนินโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จาก สนช.
โครงการผลิตภัณฑ์นมเพื่อสุขภาพช่องปาก
โดย บริษัท แดรี่โฮม จำกัด
ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตพร้อมดื่มจากเชื้อโปรไบโอติกที่มีความสามารถในการควบคุมเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของอาการฟันผุ มีการพัฒนาให้กลายเป็นโครงการเพื่อสังคมเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถแพร่กระจายเข้าสู่ชุมชนและกลุ่มเด็กผู้ด้อยโอกาสให้สามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ที่มีประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นการช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้เป็น อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในระบบสาธารณสุขของชุมชนที่ใช้กับการดูแลช่องปากได้อีกด้วย
โครงการการจัดการเปลือกข้าวโพดเหลือทิ้งแบบครบวงจร (เพื่อลดมลพิษจากการเผาทำลาย) โดยเปลี่ยนเป็นอาหารสัตว์และปุ๋ยอินทรีย์
โดย บริษัท เชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
โดยบริษัทฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาหมอกควันในพื้นที่ชุมชนที่เกิดจากการเผาทำลายเปลือกข้าวโพด จึงได้ต่อยอดงานวิจัยและพัฒนากระบวนการผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์จากวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรในเขตชุมชน เพื่อเป็นอาหารหมักสำหรับโคที่สามารถลดระยะเวลาที่ใช้ในการหมักลง และปุ๋ยคอกเพื่อหมุนเวียนใช้ในชุมชน นอกจากนี้ทาง บริษัท ยังมีกลไกที่เข้ามาสนับสนุนให้เกิดการเลี้ยงโคพื้นเมืองเพื่อเป็นรายได้เสริมให้กับเกษตรกรอีกหนึ่งทาง
โครงการ ยังแฮปปี้: ระบบเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้
โดย บริษัท ไอเพย์ อิท ฟอร์เวิร์ด จำกัด
ซึ่งเป็นธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้เล็งเห็นว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุแต่งผู้สูงอายุหลายคนที่ประสบปัญหา มีอาการเหงา เบื่อหน่าย วิตก เครียด สิ้นหวัง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บริษัทฯ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น YOUNGHAPPY: ระบบเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้ด้วย solution high touch to high tech และยังเป็นแอปพลิเคชันเดียวในประเทศไทยที่เชื่อมโยงบริการสร้างกิจกรรม และให้สวัสดิการกับผู้สูงอายุ โดยพนักงานที่ให้บริการเป็นผู้สูงอายุในช่วงวัยเดียวกันกับผู้รับบริการ จึงเป็น one stop service for elderly ที่อาศัยเทคโนโลยีที่ทำให้คุณภาพการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น
นอกจากนี้ สนช. ยังได้มีการศึกษาและรวบรวมตัวชี้วัดทางสังคม (Social Indicators) ที่เหมาะสมสำหรับโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ครอบคลุมบริบทเชิงสังคมในหลากหลายมิติ และในปี 2562 นี้ สนช. กำลังพัฒนาเครื่องมือเรียนรู้ออนไลน์เกี่ยวกับผลลัพธ์ทางสังคม ที่จะช่วยระบุประเด็นทางสังคม การเขียนทฤษฎีการเปลี่ยนแปลงของโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม รวมถึงการระบุตัวชี้วัดเบื้องต้นที่ตรงกับเป้าหมายการดำเนินงาน เพื่อช่วยให้ผู้สนใจในการเป็นผู้ประกอบการวิสาหกิจเพื่อสังคม สามารถกำหนดทิศทางของกิจการให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นต่อไป
ผู้แต่ง: นางสาวสุวรรษา ทองหยู นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สังกัดงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อ้างอิง:
- New Developments in Social Impact Assessment. Vanclay. 2003
- http://www.salforest.com/blog/whysia
- INDIGENOUS PEOPLES AND RESOURCE EXTRACTION IN THE ARCTIC: EVALUATING ETHICAL GUIDELINES. Emma Wilson. 2017