“มิติปัญหาสังคมอุบัติใหม่” คำนี้ไม่ได้เกิดเพราะการระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส 2019 เท่านั้น เพียงแต่โคโรน่าไวรัสเป็นหนึ่งในตัวเร่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของโครงสร้างทางสังคม ตั้งแต่ระดับครัวเรือนระดับเมือง จนถึงระดับประเทศ ในการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลให้สังคมเกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็วนี้ได้สร้างช่องโหว่และปัญหาตามมาอย่างมากมาย ทั้งปัญหาความรุนแรง อาชญากรรม ปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ ปัญหาด้านการเคลื่อนย้ายของแรงงาน รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยปัญหาเหล่านี้เราสามารถพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมปัจจุบัน
จากเหตุการณ์ George Floyd ชาวอเมริกันที่ถูกตำรวจควบคุมตัว โดยการจับกุมครั้งนี้ เป็นเหตุทำให้ชายผู้นี้ได้เสียชีวิต และคลิปได้หลุดออกมาสู่สื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการชุมนุมและการประท้วงที่เกิดขึ้นทุกเมืองของสหรัฐอเมริกาที่พูดกันถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมในกลุ่มคนหลากผิวสี อีกทั้งยังมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนักในประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเป็นสังคมประชาธิปไตย แต่ทำไมยังเกิดการเหยียดสีผิวจนก่อให้เกิดปัญหาความรุนแรง ปัญหานี้เป็นปัญหาที่เกิดมาอย่างต่อเนื่องเหมือนคลื่นใต้น้ำ แต่เพราะการตายที่เกิดขึ้นนี้จึงป็นเหตุที่ทำให้การเหยียดสีผิวถูกพูดถึงอีกครั้งและกลับกลายเป็นแคมเปญที่ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 ของแบรนด์สินค้าอย่าง Nike ที่เปลี่ยนแคมเปญ จากสโลแกนที่ Nike ใช้จนติดหูอย่าง “Just Do it” ได้ทำการพลิกโฉมเป็น “Don’t Do it” โดยวีดีโอเพียง 1 นาทีนี้กลับเป็นก้าวที่สะเทือนวงการ เพราะหลายแบรนด์เลือกที่จะวางตัวเป็นกลาง แต่การแสดงจุดยืนของ Nike ถือเป็นกลยุทธ์ที่ดีเกินคาดจนทำให้หุ้นพุ่งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เหตุการณ์นี้ยังทำให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด แต่การแสดงจุดยืนที่ชัดเจนเพื่อสิทธิความเท่าเทียมได้สร้างผลกระทบที่ทำให้ผู้คนหันมาตระหนักถึงปัญหาการเหยียดสีผิวนี้ที่มีมานานและยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อพูดถึงปัญหาความรุนแรง ในประเทศไทยเองก็ได้เกิดเหตุอาชญากรรมที่สะเทือนขวัญครั้งใหญ่ที่ถูกบันทึกในประวัติศาสตร์อีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา ที่ศูนย์การค้าแห่งหนึ่งใน จ.นครราชสีมา โดยได้เกิดเหตุกราดยิง โดยผู้ก่อเหตุ ได้ใช้อาวุธสงครามที่ขโมยมาจากค่ายทหารมาทำการสังหารผู้คนบริสุทธิ์ระหว่างเส้นทางที่หลบหนีและบริเวณภายในศูนย์การค้า หากมองเพียงแต่สิ่งที่ปรากฏ เราจะพบเพียงความสูญเสียของญาติของผู้เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน ความโกรธแค้นของผู้คน แต่ในเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นกลับมีปมการคดโกงเงินผู้เสียชีวิตอยู่เบื้องหลัง ส่งผลให้ผู้เสียชีวิตได้ก่อเหตุดังกล่าวจนลามไปถึงเหตุการณ์สังหารครั้งใหญ่นี้ ในหลายประเทศที่เกิดเหตุการณ์คล้ายเหตุการณ์เช่นนี้ ได้มีการวิเคราะห์ถึงปัญหา และแนวทางการแก้ไข หลายประเทศมีการเรียกร้องให้ใช้โทษสูงสุด หลายประเทศมีการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การศึกษารวมไปถึงระบบครอบครัว และยังมีอีกหลายประเทศเองก็เลี่ยงการประหารและหาแนวทางการแก้ไขอื่นๆ เพื่อให้เห็นคุณค่าของชีวิตมากขึ้น
ไม่เพียงแต่มิติปัญหาในด้านของอาชญากรรม แต่ผลของความขัดแย้งและความรุนแรงต่างๆ ยังลามไปถึงความเท่าเทียมทางเพศที่สร้างปัญหาในระดับที่รุนแรงไม่แพ้กัน ในศตวรรษที่ผ่านมาของประเทศไทยและในสังคมโลก สถานภาพของผู้หญิงดูเหมือนว่าจะไม่เสมอภาคเท่าเทียมกับผู้ชายและบ่อยครั้งที่เห็นเป็นข่าวว่า ผู้หญิงถูกกดขี่ และกีดกันทางสังคม สภาพดังกล่าวถือเป็นการไม่เคารพสิทธิมนุษยชน และไม่ยอมรับคุณค่าความเป็นมนุษย์เพียงเพราะสถานภาพทางเพศ หลายหน่วยงานและหลายองค์กรจึงได้มีการจัดตั้งเพื่อเรียกร้องให้ยอมรับฐานะ สิทธิ และบทบาทของผู้หญิง และยังเคยมีเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อีกเหตุการณ์หนึ่งที่ดังไปทั่วโลกอย่างการวิ่งมาราธอนของ Kathrine Switzer ที่เป็นผู้หญิงคนแรกที่ลงแข่งขันในการวิ่งมาราธอน Boston City Marathon ในปี 1967 โดยเธอคือคนที่ถูกคุกคามทางเพศอย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้ชายที่ไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้หญิงจะมาวิ่งมาราธอน แต่เธอก็ก้าวข้ามและได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมรายการที่เป็นผู้ชายที่สนับสนุนให้ทุกเพศเท่าเทียมกันจนเป็นผู้หญิงคนแรกที่ทำได้สำเร็จ การกระทำอย่างไม่เท่าเทียมเหล่านี้ยังคงเป็นภาพที่เราเห็นได้ในสังคม รวมไปถึงสถานะต่างๆ ในสังคมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ด้วย ที่ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องการนวัตกรรมกระบวนทัศน์ในการนำไปแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และเท่าเทียมกันมากขึ้น
ในมุมของการเคลื่อนย้ายของแรงงานเองก็มีประเด็นที่ส่งผลต่อคนไทยในปัจจุบัน จากหลายปีก่อนที่ประเทศในกลุ่มเอเชียอาคเนย์ได้มีการก่อตั้งประชาคมอาเซียนเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศในกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจนกระทั่งมีครบทั้ง 10 ประเทศ ทำให้เกิดทั้งการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และกลุ่มแรงงาน แต่ปัญหาที่ตามมา คือ แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านกลับมีค่าแรงที่ถูกกว่าและความรู้ความสามารถที่ไม่ต่างกับประเทศไทย อีกทั้งยังมีภาษาอังกฤษซึ่งเป็นภาษาสากล ที่แข็งแรง ทำให้เกิดการเรียกร้องทั้งสิทธิและกฎหมายคุ้มครองแรงงานทั้งไทยและต่างชาติ การเสียเปรียบในหลายๆด้านนี้ ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังขาดคุณสมบัติที่ตอบโจทย์ของตลาด สถาบันการศึกษาและหลายภาคส่วนจึงได้มีการจัดทำหลักสูตรเสริมทักษะต่างๆทั้ง soft skill และ hard skill ในรูปแบบของแพลตฟอร์ม การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ และการอบรมสัมนาต่างๆ เพื่อพัฒนาให้แรงงานที่ออกไปให้มีคุณภาพต่อไป
ผลของการร่วมมือกันระหว่างประเทศเพื่อสร้างประชาคมที่แข็งแรงนี้ ทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัว มีการย้ายฐานการผลิตเข้ามาในประเทศที่เป็นศูนย์กลาง ผลที่ตามมาคือรายได้ของคนในประเทศเพิ่มขึ้นสูงขึ้น ความเจริญเข้ามาสร้างการเติบโตของธุรกิจ และในช่วงที่ทุกอย่างกำลังรุดหน้าไปนั้น แหล่งทรัพยากรที่ถูกดึงนำไปใช้โดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบในภายภาคหน้า ธรรมชาตินั้นก็ได้เตือนเราในรูปแบบของภัยพิบัติที่เกิดขึ้นผิดที่ ผิดฤดู ยังไม่รวมกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่เห็นในเมืองสำคัญใหญ่ๆ ของโลกอย่างเช่น ปัญหาหมอกควันที่ประเทศจีน ที่เป็นเพียงคลื่นระลอกแรก เพื่อให้เราตระหนักว่าโลกกำลังอ่อนแอ ขณะที่สิ่งแวดล้อมกำลังถดถอย มนุษย์เองก็เริ่มตระหนักว่าความยั่งยืนนั้นควรเดินไปพร้อมกับการรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชาได้มีการร่วมมือกัน เทคโนโลยีต่างๆ ได้ถูกนำมาใช้ เคสของฝุ่นควันที่เคยพบในเซี่ยงไฮ้ได้ลดลงอีกครั้ง จากการที่มีกฎหมายบังคับใช้ ทั้งปิดโรงงานเก่า ผู้คนเปลี่ยนมาใช้รถพลังงานไฟฟ้า รวมไปถึงสร้างแหล่งพื้นที่สีเขียวเพิ่มอีก 5 แห่ง และสุดยอดนวัตกรรมก็ถูกปล่อยออกมา เรียกได้ว่าสร้างความสนใจให้กับวงการเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมกันเลยทีเดียว คือ ตึกฟอกอากาศ ที่ นครซีอาน ตึกนี้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทั้งตึกมีหลักการคือ พลังแสงอาทิตน์จะทำให้อากาศในห้องด้านล่างที่มีสภาพเหมือนเรือนเพาะชำเกิดร้อนขึ้น อากาศร้อนจะลอยขึ้นสู่ปล่องขนาดใหญ่ตรงกลาง อากาศเย็นที่เต็มไปด้วยมลพิษรอบหอคอยจะไหลเข้ามาแทนที่ เมื่ออากาศร้อนลอยขึ้นในปล่องก็จะพบกับตัวกรองฝุ่นที่ติดตั้งไว้เพื่อดักฝุ่นขนาดเล็กทุกขนาด อากาศหลังการฟอกแล้วมีฝุ่นน้อยลงก็จะลอยออกด้านบนของปล่องระบายอากาศ เป็นวงจรต่อเนื่องไม่สิ้นสุด และมีผลการวิจัยที่ออกมารองรับว่าสามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ถึงวันละ 10-19%
จากโลกาภิวัฒน์ที่ทำให้เกิดปัญหาอุบัติใหม่เชิงสังคม ไม่เพียงแต่เป็นบททดสอบของมนุษยชาติที่ต้องรับมือ แต่ยังเป็นการกระตุ้นเอาความคิด ความสามารถจากมนุษย์มาร่วมกันสร้างนวัตกรรมเพื่อการอยู่รอด การปรับตัวต่อทุกสภาวะกลายเป็นเหมือนยีนส์ที่ถูกฝังในมนุษย์ทำให้รอดพ้นจากหลายวิกฤตจนมาถึงปัจจุบันได้ ด้วยเหตุนี้ ทาง NIA ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรนำด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ได้มองเห็นถึงผลกระทบในมิติต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของสังคมเมืองและชุมชนในปัจจุบัน ดังนั้น NIA จึงได้มีการเปิดรับสมัครโครงการ City & Community Innovation Challenge 2021 เพื่อให้ผู้ที่มีความสนใจที่มีแนวคิดจะแก้มิติปัญหาสังคมอุบัติใหม่ด้านต่างๆ ทั้งด้านสันติภาพและการแก้ปัญหาความรุนแรง การแก้ปัญหาอาชญากรรม ความเท่าเทียมทางเพศ การเคลื่อนย้ายของแรงงาน และปัญหาสิ่งแวดล้อม ได้ร่วมกันนำนวัตกรรมเข้าไปแก้ไขปัญหาที่ท้าทายในระยะต่อจากนี้
ผู้เขียน : อัฑฒ์รุจ อิ่มบุณยวัฒน์
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
อ้างอิง :