จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (COVID-19) นับตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ได้ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและกระทบกับวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในสังคมอย่างเห็นได้ชัด ทุกภาคส่วนในสังคมจึงต้องปรับตัวให้สามารถดำรงอยู่ได้ในวิกฤตการณ์ดังกล่าว แต่การดำรงอยู่ได้เพียงอย่างเดียวนั้นอาจไม่เพียงพอท่ามกลางกระแสแห่งการแข่งขันที่สูงและการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมี “แพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Business Platform)” ที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนองคาพยพต่างๆ ทั้งในด้านการศึกษา การดูแลสุขภาพ นวัตกรรมภาครัฐ การท่องเที่ยวชุมชน เกษตรกรรมยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ให้สามารถดำรงอยู่ได้ในเชิงธุรกิจเพื่อสังคม ตลอดจนการใช้ระบบดิจิทัลในการช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
แพลตฟอร์มที่มีความสำคัญต่อการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มแรก คือ “ด้านการศึกษา” ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความจำเป็น ดังนั้นในสภาวะปกติใหม่ (New normal) ที่ทุกคนต้องเผชิญ จึงต้องมีการจัดการและออกแบบการศึกษาที่ผู้ถ่ายทอดต้องเข้าใจบริบทของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และที่สำคัญต้องตอบโจทย์และเหมาะสมกับบริบทของผู้เรียน นอกจากนั้นยังมีหัวใจสำคัญก็คือการเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้ผู้เรียนเกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนการสอน นำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม
อีกหนึ่งแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมที่มีความสำคัญ คือ “ด้านการดูแลสุขภาพ” ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งแม้ว่าในหลายๆ ประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยจะมีระบบสาธารณสุขที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่ในส่วนของภาคประชาชนผู้ดำเนินชีวิตในสังคมย่อมต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นนวัตกรรมที่จะเข้ามาสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลสุขภาพของตัวเองได้ ลดการใช้ทรัพยากรที่ก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ เพิ่มความสะดวกสบายในชีวิต ตลอดจนลดปริมาณความแออัดในการรับบริการในโรงพยาบาลต่างๆ นอกจากนั้นยังต้องมีการใช้เทคโนโลยีให้เกิดความคุ้มค่าและสะดวกสบาย เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล การบริการการแพทย์ทางไกล การพัฒนาระบบนัดหมาย การพัฒนาโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการด้านสุขภาพ และการใช้หุ่นยนต์ช่วยในการดูแลรักษา
ในส่วนของภาครัฐเองซึ่งเปรียบเสมือนกับแนวหน้าที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นและต้องหาวิธีในการรับมือกับสภาวะปกติใหม่ การอาศัยความเข้าใจบริบทของสังคมแต่เพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จึงต้องมีการคิดค้นวิธีการใหม่เป็น “นวัตกรรมภาครัฐ” เพื่อให้สามารถนำมาแก้ไขปัญหาเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอาศัยการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน ในการทำให้เข้าใจถึงปัญหาที่แท้จริง ข้อจำกัดในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ และทางเลือกในการแก้ปัญหา ตัวอย่างนวัตกรรมการแก้ปัญภาครัฐที่เห็นได้ชัดคือ การบริการประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ต้องมีความเปลี่ยนแปลงไป มีการนำใช้ระบบดิจิทัลเพื่ออำนวยความสะดวกและลดขั้นตอนตลอดจนเป็นการประหยัดเวลา ทั้งต่อประชาชนผู้รับบริการเองและต่อเจ้าหน้าที่ที่ให้บริการ เช่น การทำใบขับขี่ การทำบัตรประชาชน และการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลของรัฐ เป็นต้น
อนึ่ง ถ้าหากมองในบริบทแพลตฟอร์มที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับประเทศไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่า “การท่องเที่ยวชุมชน” เป็นหนึ่งในธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สามารถดึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของประเทศมาสร้างจุดสนใจให้แก่นักท่องเที่ยว ดังนั้นหากจะทำให้การท่องเที่ยวชุมชนได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวในระดับสากล ต้องใช้จุดแข็งของของพื้นที่ในการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยว นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์เพื่อให้เกิดการสานต่อเชิงวัฒนธรรม มีการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่คำนึงถึงความเหมาะสมและบริบทของท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญ สร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชน ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวในทุกกระบวนการตั้งแต่การค้นหาแหล่งท่องเที่ยว การเดินทาง ที่พักอาศัย โปรแกรมการท่องเที่ยวในชุมชนจำเป็นต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา และที่สำคัญที่สุดคือการรักษาเอกลักษณ์ของชุมชนไม่ให้แปรเปลี่ยนไปตามปัจจัยภายนอก
ความเปลี่ยนแปลงด้านต่อมาที่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยก็คือด้านเกษตรกรรม ที่ต้องอาศัยการพัฒนาให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้องกับ “เกษตรกรรมยั่งยืน” เนื่องจากเกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้โดยการใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการลดปริมาณการใช้สารเคมี ลดปริมาณการใช้ทรัพยากรต่างๆ คำนึงถึงระบบนิเวศน์ ตลอดจนสร้างรูปแบบการค้าที่เป็นธรรม มีที่ปรึกษาและหน่วยงานสนับสนุนที่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง สามารถก่อให้เกิดเกษตรกรรมยั่งยืนได้ตั้งแต่กระบวนการก่อนทำการเกษตร ระหว่างทำการเกษตร และหลังจากได้ผลผลิตเพื่อส่งไปตามตลาดเป้าหมาย
สำหรับแพลตฟอร์มสุดท้ายที่น่าสนใจ คือแพลตฟอร์มด้าน “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และเกิดความรุนแรงและความถี่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยปฏิเสธไม่ได้ว่าพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์ก็มีส่วนทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการพัฒนานวัตกรรมที่จะมาตั้งรับปัญหาและแก้ปัญหาด้านนี้ จึงมีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว มีการทำงานแบบบูรณาการหลายหน่วยงานเพื่อนำข้อมูลมาประมวลผลให้เกิดประสิทธิภาพ ประชาชนในแต่ละพื้นที่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้อย่างทันท่วงที หน่วยงานภาครัฐมีการเตรียมพร้อม และมีเครื่องมือในการรับมือที่ทันสมัยเพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันและในสภาวะปกติใหม่ต้องอาศัยแพลตฟอร์มธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เข้ามาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมเมืองและชุมชนในมิติต่างๆ ให้สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกทั้งต่อภาคประชาสังคมและสิ่งแวดล้อม และสามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนต่อไป
วุฒิรักษ์ แพงตาแก้ว
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ(องค์การมหาชน)
อ้างอิง : ฐิติณัฏฐ์ อัคคะเดชอนันต์. (2019). สมรรถนะของพยาบาลกับนวัตกรรมการดูแลสุขภาพประชาชนใน ยุคไทยแลนด์ 4.0. Thai Journal of Nursing Council, 34(1), 5-13.