กรณีศึกษาชุมชนเมืองจัง จังหวัดน่าน “เกษตรกรรมบนพื้นที่สูงกับระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร”
ภาคเหนือตอนบนมีลักษณะภูมิประเทศส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นภูเขาสูง เขตที่ราบหุบเขา และเขตแอ่งที่ราบ พื้นที่ดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นพื้นการทำเกษตรกรรมของประชากรในจังหวัดนั้นๆ การทำการเกษตรบนพื้นที่สูงจึงอาจก่อให้เกิดการพังทลายของดินได้โดยง่าย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาในการปลูกพืช และถูกทิ้งให้รกร้าง กลายเป็นทุ่งหญ้าที่ไม่มีประโยชน์หรือเป็นภูเขาหัวโล้น
จังหวัดน่านตั้งอยู่ในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งในจังหวัดที่มีลักษณะภูมิประเทศ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง ที่ลาดเชิงเขา และภูเขา สภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่น ลอนชันเกิน 30 องศา ประมาณร้อยละ 85 ของพื้นที่จังหวัด แบ่งเป็นพื้นที่ป่า ร้อยละ 42 พื้นที่เกษตรกรรม ร้อยละ 35.12 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไร่หมุนเวียน ประมาณร้อยละ 16.82 (กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์) เนื่องจากลักษณะพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขาที่ราบสูง จึงทำการเกษตรค่อนข้างลำบาก เกษตรกรส่วนใหญ่จึงนิยมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยอาศัยน้ำฝนธรรมชาติเป็นหลัก ผลผลิตก็ไม่ได้ตามที่ต้องการ มีการใช้สารเคมีจำนวนมาก ต้นทุนการผลิตสูง รายได้ต่ำ จึงเกิดหนี้สินสะสมซ้ำซาก ทำให้จังหวัดน่านมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำและติดอยู่ในพื้นที่จังหวัดยากจนลำดับต้นๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ดังนั้นจึงมีหลายหน่วยงานเข้าไปร่วมสนับสนุน พัฒนา และแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่อย่างจริงจัง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่เข้าไปสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนของจังหวัดน่าน โดยที่ผ่านมา ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ในพื้นที่ชุมชนเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน เพื่อเป็นโมเดลนำร่องในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูงทำให้เกษตรกรมีน้ำพอเพียงสำหรับการทำเกษตร โดยมีการใช้นวัตกรรมระบบบริหารจัดการน้ำที่เหมาะสมกับพื้นที่สูง 3 รูปแบบ ได้แก่
โครงการ Neo Solar: ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง มีการดำเนินการในพื้นที่หมู่ที่ 8 บ้านราษฎร์สามัคคี ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งมีลักษณะพื้นที่ที่เป็นภูเขาสูง ใช้ระบบการสูบน้ำแบบปั๊มที่สามารถส่งน้ำขึ้นไปบนบ่อน้ำที่จุดสูงที่สุดที่มี Head 65 เมตร โดยใช้แหล่งพลังงานจากโซล่าเซลล์แบบลอยน้ำ และมีระบบการควบคุมระบบสูบและกระจายน้ำไปยังบ่อน้ำตามจุดที่กระจายไว้เพื่อปล่อยจ่ายน้ำไปยังแปลงเกษตรได้โดยไม่ต้องคอยขับรถขึ้นดอยไปปิดเปิดทุกครั้ง
อีกหนึ่งรูปแบบการจัดการน้ำบนพื้นที่สูงคือ โครงการระบบสูบน้ำแบบขั้นบันไดพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ดำเนินการพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านเมืองหลวง ตำบลเมืองจัง อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ซึ่งภูมิประเทศมีลักษณะเป็นที่ลาดเชิงเขา พื้นที่ลาดชันขึ้นเป็นขั้นๆ และมีระยะที่ห่างกัน จึงมีการออกแบบการใช้ระบบสูบบ้ำแบบขั้นบันไดที่มีการใช้ระบบสูบน้ำแบบโซล่าเซลล์เพื่อส่งต่อน้ำเป็นจุดๆ 4 ระยะ มีระบบควบคุมการสูบน้ำโดยใช้ระบบลูกลอย เพื่อส่งน้ำไปยังจุดสูงที่สุดและปล่อยกระจายน้ำไปยังบ่อพักน้ำเพื่อกระจายสู่แปลงเกษตร
นอกจากระบบบริหารจัดการน้ำบนพื้นที่สูงแล้ว ยังมีระบบการบริหารจัดการน้ำที่เรียกว่า SQUARE: แพลตฟอร์มการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำด้านการเกษตร ที่นำมาดูแลระบบการส่งน้ำเพื่อการเกษตรทั้ง 19 ระบบของตำบลเมืองจัง ทำให้สามารถช่วยวิเคราะห์ปริมาณความต้องการน้ำสำหรับการเกษตรรายแปลงให้แก่เกษตรกร ความเหมาะสมการให้น้ำแก่พืชแต่ละชนิด เพิ่มความสะดวกต่อการจัดการจัดสรรน้ำแก่แปลงเกษตรให้มีความเหมาะสมต่อการทำเกษตรกรรม โดยระบบดังกล่าวจะมีการดึงเอาประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการตลอดจนการติดตามและประเมินผล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เท่าเทียม และเป็นธรรมสำหรับประชาชนทุกคน
จากผลการดำเนินงานทั้งสามระบบดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับการนำนวัตกรรมลงไปช่วยเพิ่มระบบบริหารจัดการน้ำสำหรับการเกษตรบนพื้นที่สูง ส่งผลให้เมื่อมีระบบน้ำที่ดี มีเกษตรกรที่ได้รับประโยชน์ จำนวนกว่า 600 ราย เกษตรกรเริ่มมีการปลูกไม้ผลบนพื้นที่ทำการเกษตร เช่น มะม่วง ลำไย เป็นต้น ทดแทนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถือเป็นการเป็นการเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกรในการใช้น้ำสำหรับการปลูกพืชนิดอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ที่มีความมั่นคงยิ่งขึ้นและเกิดความยั่งยืนในการทำเกษตรกรรม
ผู้เขียน : วรรนิภา พงษ์ไทยสงค์
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)