กรณีศึกษาชุมชนหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท “นวัตกรรมกับการลดความขัดแย้งภายในชุมชน”
จากอดีตถึงปัจจุบัน อาชีพหลักของประชากรส่วนใหญ่ในประเทศไทย คือ การทำเกษตรกรรม โดยมีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาแนวทางการปลูกพืชและการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบใหม่ๆ หลากหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นเกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ หรือการใช้ประโยชน์จากของเหลือทิ้งจากฟาร์ม ซึ่งจะทำให้เกษตรกรลดรายจ่าย และสามารถสร้างรายได้จากโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มมากขึ้น โดยปัจจุบันชุมชนต่างก็ให้ความสนใจในรูปแบบและเสาะหาหนทางในการพัฒนาพื้นที่ของตนเองเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลูพืชและเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ปัจจัยหลักและการเพิ่มทางเลือกในการดำเนินงานด้านเกษตรกรรมคงหนีไม่พ้นเรื่องแหล่งน้ำและวิธีการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายประเทศต้องเผชิญกับวิกฤตภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี ดังนั้น การหาวิธีการที่จะช่วยบริหารจัดการแหล่งน้ำทางการเกษตรจึงเป็นทางออกให้กับเกษตกรที่ต้องการสร้างรายได้จากการเพาะปลูกเป็นหลัก ในส่วนของเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ เช่น ฟาร์มหมู เป็นต้น ปัญหาที่สำคัญในการดำเนินงาน คือ ความขัดแย้งกับแหล่งชุมชนบริเวณใกล้เคียง ทั้งปัญหาเรื่องกลิ่น น้ำเสีย และการยอมรับจากชุมชนในพื้นที่ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหากปัญหาที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จะสร้างความเดือดร้อนและทุกข์ยากต่อการดำรงชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งเกี่ยวโยงกับเรื่องปากท้องตลอดจนสวัสดิภาพคของคนภายในชุมชนโดยตรง
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการนำผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ไปแก้ไขโจทย์ปัญหาของชุมชนพร้อมทั้งมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เป้าหมาย เพื่อค้นหาแนวทางการแก้ไขโจทย์ปัญหาให้ตรงกับความต้องการของชุมชน โดยหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของ สนช. คือ ชุมชนหนองมะโมง อำเภอหนองมะโมง จังหวัดชัยนาท โดยทางเทศบาลตำบล
หนองมะโมง ได้ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ชุมชนหนองมะโมงเป็นพื้นที่อยู่นอกเขตชลประทานทั้งหมด อีกทั้งปริมาณน้ำ
ใต้ดินไม่เพียงพอสำหรับการทำเกษตรกรรม ประชาชนในพื้นที่จึงพบกับวิกฤตระดับน้ำบาดาลลดลงมากกว่าปกติ ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของประชาชน และในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำท่วมเกิดขึ้นทุกปีแต่ไม่สามารถเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งได้ จนได้สมญานามว่า “พื้นที่แล้งซ้ำซาก” โดยเทศบาลได้รับเรื่องร้องเรียนในทุกๆ ปี ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่หน่วยงานท้องถิ่นได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก จึงได้พยายามหาแนวทางเพื่อบรรเทาปัญหา โดยในปี พ.ศ. 2558 ทางเทศบาลได้สร้างสระเก็บน้ำบ้านหนองดู่ มีขนาดพื้นที่ประมาณ 400 ไร่ เพื่อบรรเทาภัยแล้งให้กับประชาชน โดยใช้ปั๊มน้ำเครื่องยนต์สำหรับการกระจายน้ำผ่านคลองส่งน้ำของเทศบาลเพื่อใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายและปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้ ดังนั้น สนช. จึงร่วมกับเทศบาลตำบลหนองมะโมง มุ่งเน้นสรรหาวิธีการและแนวทางในการแก้ไขปัญหาตามความต้องการของชุมชน โดยได้ร่วมกันจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน (ภาพที่ 1) จำนวน 77 บ่อ นำโดยเทศบาลตำบลหนองมะโมงที่เป็นหน่วยงานหลักที่บรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนด้านปริมาณน้ำที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งต้องการลดปัญหาน้ำท่วมขังและเพิ่มปริมาณน้ำใต้ดินในพื้นที่หมู่ 1 บ้านหนองมะโมง โดยสามารถบรรเทาภัยแล้งที่ได้ผลในระยะยาว และอีกหน่วยงานที่มาช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำ คือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้นำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเชิงพื้นที่ (Geodatabase) (ภาพที่ 2) มาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำเพื่อวางแผนและออกแบบการดำเนินงานธนาคารน้ำใต้ดินทั้ง 77 บ่อ ดังกล่าว โดยมีข้อมูลที่จำเป็นในการบริหารจัดการทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด เช่น ตำแหน่งธนาคารน้ำ การกักเก็บน้ำ และปริมาณน้ำสำรอง เป็นต้น ผ่านเว็บไซต์เพื่อให้เทศบาลสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจัดสรรทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้ ชุมชนหนองมะโมงมีแหล่งกักเก็บน้ำที่สำคัญ คือ สระน้ำ 400 ไร่ ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 บ้านหนองดู่ โดยเทศบาลได้สร้างคลองส่งน้ำเพื่อให้ประชาชนบริเวณใกล้เคียงได้รับประโยชน์ และได้ปรับเปลี่ยนวิธีการสูบน้ำผ่านโครงการระบบสูบน้ำพลังงานทดแทนแบบผสมผสานของกังหันลมและโซล่าเซลล์ลอยน้ำ (ภาพที่ 3) โดย บริษัท เอฟที เอนเนอร์จี จำกัด ภายใต้การสนับสนุนของ สนช. ทำให้ประชาชนในเขตระยะคลองส่งน้ำของเทศบาลได้ใช้น้ำสำหรับการทำเกษตรกรรมอย่างพอเพียง
สำหรับประเด็นด้านความขัดแย้งระหว่างฟาร์มเลี้ยงหมูกับประชาชนในบริเวณใกล้เคียง เนื่องจากกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ ทำให้สร้างความไม่พอใจแล้วเกิดข้อร้องเรียนเข้ามาที่เทศบาลอยู่บ่อยครั้ง สนช. จึงร่วมกับวิสาหกิจชุมชนก๊าซชีวภาพหนองมะโมง และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการดำเนินโครงการระบบผลิตและส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร (ภาพที่ 4) เพื่อนำก๊าซชีวภาพไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเป็นก๊าซหุงต้มในวัด โรงเรียน และครัวเรือนของชุมชนหมู่ที่ 4 บ้านหนองตะขบ รวมทั้งสิ้นมีจำนวน 40 ครัวเรือน ซึ่งนอกจากจะเป็นการลดปัญหาเรื่องกลิ่นแล้ว ยังสามารถทำให้ชุมชนลดรายจ่ายค่าก๊าซหุงต้มอีกทางหนึ่งด้วย ส่งผลให้เกิดการยอมรับและสามารถลดข้อขัดแย้งในพื้นที่ลงได้อย่างเป็นรูปธรรม
อาจกล่าวได้ว่า ปัญหาที่เกิดข้อร้องเรียนส่วนใหญ่นั้น มีสาเหตุหลักมาจากผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชากรในพื้นที่ แนวทางที่สำคัญสำหรับการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น คือ ต้องเข้าใจโครงสร้างของปัญหาแล้วเร่งดำเนินการแก้ไขให้ตรงจุด นอกจากนี้ นวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการลดความขัดแย้ง และยังส่งผลต่อบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของคนในชุมชนให้ราบรื่นและมีความสุข ดังนั้น ก้าวแรกคือก้าวที่สำคัญ เพราะนวัตกรรมมักจะมาคู่กับความเปลี่ยนแปลง หากคนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่คิดที่จะร่วมกันแก้ปัญหาแล้ว ย่อมไม่มีทางที่ “หนองมะโมงโมเดล” จะสำเร็จได้อย่างทุกวันนี้
ภาพที่ 1 โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน
ภาพที่ 2 โครงการการบริหารจัดการธนาคารน้ำใต้ดินด้วยเทคโนโลยีระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์พื้นที่ชุมชนหนองมะโมง
ภาพที่ 3 โครงการระบบสูบน้ำพลังงานทดแทนแบบผสมผสานของกังหันลมและโซล่าเซลล์ลอยน้ำ
ภาพที่ 4 ระบบผลิตภัณฑ์และส่งจ่ายก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร
ผู้เขียน : วรรณิตา ทองพัด
นักพัฒนานวัตกรรม
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)