กรณีศึกษาชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม “หมู่บ้านเสียงแคนแดนอีสาน”
ชุมชนท่าเรือ อำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยอีสาน มีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดมาหลายรุ่นด้านการผลิตเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสาน ได้แก่ แคน โหวด พิณ และโปงลาง ถูกกล่าวขนานนามให้เป็นหมู่บ้านที่ผลิตเครื่องดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก อีกทั้งยังมีวัดและพระเป็นศูนย์รวมทางจิตใจ เป็นชุมชนที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นรากเหง้าของชุมชนไว้ ทำให้มีรากฐานที่แข็งแรง แม้ว่าชุมชนท่าเรือจะมีอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่โดดเด่น แต่ปัจจุบันกลับเกิดการส่งต่อและสืนสานการทำเครื่องดนตรีน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากเด็กรุ่นใหม่อพยพย้ายถิ่นฐานไปทำงานนอกชุมชนมากขึ้น
ปัจจุบัน มีหลายหน่วยงานที่เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมให้กับชุมชน แต่ก็ยังขาดองค์ประกอบในหลายมิติ โดยเฉพาะการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยยกระดับรายได้ของคนในชุมชน ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงได้เข้าไปสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนของชุมชนในจังหวัดนครพนม โดยได้ดำเนินงานภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ในพื้นที่ชุมชนท่าเรือ เพื่อให้เกิดนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์วัฒนธรรมชุมชนในรูปแบบต่างๆ ก่อให้เกิดการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นแก่คนในชุมชน
ด้วยวิถีชีวิตของชุมชนที่มีการผลิตเครื่องดนตรีอีสาน ในทุกๆ เย็นจะมีช่างแคนนั่งทำแคนและเป่าแคนอยู่หน้าบ้าน เดินไปทางไหนก็มีเสียงอันไพเราะให้ฟังเป็นประจำ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของชุมชนนี้ จึงเกิดการพัฒนาโครงการ “E-San Live Streaming” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มถ่ายทอดสดการท่องเที่ยวชุมชนเสมือนจริง โดยจะช่วยให้ผู้คนได้เข้าชมและเข้าถึงมนต์เสน่ห์ของเสียงแคนและวิถีชีวิตของคนในชุมชน
นอกจากแคนแล้วยังมีเครื่องดนตรีอื่นๆ อีก เช่น โหวด พิณ ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถเข้าดูและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในรูปแบบ 3 มิติ ผ่านแพลตฟอร์ม “Hug Tha Ruea 3D” แผนที่ท่องเที่ยวสามมิติที่แสดงมรดกทางวัฒนธรรมในรูปแบบดิจิทัลของชุมชนท่าเรือ ซึ่งจะให้ข้อมูลพื้นฐานว่าบ้านไหนที่ผลิตเครื่องดนตรีบ้าง และมีคลิปวิดีโอตัวอย่างให้รับชมได้อีกด้วย
หลังจากที่ได้ดูผ่านไลฟ์ สตรีมมิ่ง และแผนที่สามมิติไปแล้ว หากต้องการไปเที่ยวที่ชุมชน ก็สามารถจองแพ็คเกจท่องเที่ยวผ่าน https://www.tharueanawa.com/ ซึ่ง “Tha Ruea NA WA” เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการท่องเที่ยวชุมชนท่าเรือ ที่ช่วยเรื่องการจองแพ็คเกจเส้นทางการท่องเที่ยว แนะนำไกด์ชุมชน และที่พัก แบบเบ็ดเสร็จในที่เดียว หรือหากสนใจผลิตภัณฑ์ของชุมชน ยังสามารถรับชมตัวอย่างสินค้าและสั่งซื้อได้ในแพลตฟอร์ม “AIR HUB@ท่าเรือ” ผ่าน airhubtharue.com ได้อีกด้วย
สำหรับนวัตกรรมที่นำไปช่วยด้านการผลิตต้นน้ำสำหรับการทำเครื่องดนตรีของชุมชนท่าเรือ คือการพัฒนาต้นแบบการปลูกไผ่แคน โดยอาศัยระบบไฮโดรกริดสำหรับฟื้นฟูนิเวศป่าชุมชนเพื่อการปลูกไผ่แคน ที่ช่วยฟื้นฟูระบบการให้น้ำไผ่แคน ให้สามารถนำไปใช้ทำแคนได้ โดยลดปริมาณไผ่แคนที่เดิมจำเป็นต้องนำเข้ามาจากฝั่งลาวได้ ก่อให้เกิดความยั่งยืน และความมั่นคงทางด้านวัตถุดิบในการผลิตเครื่องดนตรีอีสานในระยะยาว
จากการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ณ ชุมชนท่าเรืออำเภอนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องที่มีการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น มาต่อยอดด้วยองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญหลากหลายแขนง ทำให้เกิดนวัตกรรมที่สามารถดึงศักยภาพจากภูมิปัญญาจากเครื่องดนตรีพื้นเมืองอีสานมาขับเคลื่อนการท่องเที่ยวชุมชน และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จนเกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน อีกทั้งยังเป็นการสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก่อให้เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน ทำให้คนในชุมชนมีอาชีพที่บ้านเกิด การอพยพย้ายถิ่นฐานลดน้อยลง ความเจริญสู่พื้นที่มากยิ่งขึ้น โดยในโครงการนี้มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 1,842 ราย ที่เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ และเกิดผลตอบแทนทางสังคมเฉลี่ย (SROI) 3.49 เท่า
โดย วรรนิภา พงษ์ไทยสงค์ (โม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)