ประชากรในประเทศไทยนับวันจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากในปี พ.ศ. 2562 ถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยมีประชากรผู้สูงอายุมากถึง 11.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 17.5 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งในปี พ.ศ. 2565 นี้ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (สัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 20) และในปี พ.ศ. 2576 ประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด (สัดส่วนผู้สูงอายุสูงถึงร้อยละ 28) [1] ซึ่งสังคมผู้สูงอายุนี้กำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานเนื่องจากวัยทำงานลดลง หรือการที่ภาครัฐมีค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขและบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว การผลักดันให้ประชากรสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีจึงเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย
อายุขัยที่เพิ่มขึ้นพร้อมสุขภาพที่ดีก็ยังไม่ดีเท่ากับการมีสุขภาพดีและการเป็นอิสระ ดังนั้น การสูงวัยอย่างมีสุขภาพดีไม่ได้จำกัดอยู่เพียงด้านร่างกายเพียงอย่างเดียว แต่ยังครอบคลุมความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ สังคม การศึกษา และการเงินของผู้สูงอายุ นวัตกรรมที่เข้ามามีบทบาทให้ประชากรสูงวัยอย่างมีสุขภาพดี จึงเป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่จะตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้สูงอายุ ช่วยเปลี่ยนประสบการณ์การสูงวัย เพิ่มความสะดวกสบาย ช่วยให้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองได้ง่ายและปลอดภัยมากขึ้น มีชีวิตที่ยืนยาว ตลอดจนมีสุขภาพที่ดี
ในบริบทของสังคมปัจจุบัน NIA ได้พัฒนาและสนับสนุนนวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุใน 6 ด้าน เพื่อช่วยรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของไทย ลองมาดูกันว่ามีนวัตกรรมด้านใดบ้าง
1. นวัตกรรมด้านการเงินและการจ้างงาน (Financial freedom and stability) ที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุยังคงเข้าถึงโอกาสทางอาชีพและมีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น เกิดการใช้จ่ายอย่างมั่นคง รวมถึงการเข้าถึงสิทธิทางการเงินของผู้สูงอายุ เช่น โครงการ “ขิง” แอปพลิเคชัน (สร้าง-จ้าง) งานวัยเก๋า ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ภูพานซอฟต์ ไอทีโซลูชั่นส์ ซึ่งเป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มที่ช่วยสร้างอาชีพหลังเกษียณตามความถนัดของแต่ละบุคคล ด้วยการจับคู่ระหว่างผู้สูงอายุและผู้ที่ต้องการจ้างงานกลุ่มผู้สูงอายุ
2. นวัตกรรมด้านสุขภาพกาย (Health) คือสิ่งจำเป็นสูงสุดในการมีชีวิตยืนยาว เน้นการใช้ชีวิตแบบ “สูงวัยที่บ้าน” โดยการมีส่วนร่วมของครอบครัว การหมั่นดูแลผู้สูงอายุ รักษาเมื่อยามเจ็บไข้ และตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย เช่น โครงการรักษาทางไกลเพื่อผู้สูงอายุ ของบริษัท ออนไลน์ด๊อค จำกัด ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ทางไกลราคาถูก โดยสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพออนไลน์กับแพทย์หลากหลายสาขาได้ทุกที่ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการจัดส่งยาถึงบ้าน
3. นวัตกรรมด้านสุขภาพทางปัญญา (Cognitive Health) เป็นเครื่องมือหรือบริการใหม่ที่จะเข้ามาช่วยบริหารระบบความจำให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ เพื่อลดความเสี่ยงในความบกพร่องทางสติปัญญา การแยกตัวทางสังคม และผลลบด้านสุขภาพอื่น ๆ เช่น Tribemix ของประเทศอังกฤษ ที่นำเอาเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR มาใช้ในการดูแลผู้ป่วยโรคภาวะสมองเสื่อมให้สงบและปรับปรุงสภาวะเชิงอารมณ์ [2]
4. นวัตกรรมด้านสังคมสูงวัย (Social & Connectivity) เพื่อช่วยลดความโดดเดี่ยวทางสังคม ให้ได้สัมผัสกับ “วิถีแห่งความสุข” สนับสนุนให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในสังคมอย่างเต็มที่ เพราะความเหงา ความซึมเศร้า และความวิตกกังวล สามารถส่งผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพ เช่น โครงการวัยเก๋าเตือนภัย ของบริษัท ทูลมอโร จำกัด ที่ให้ความรู้ด้านอาชญากรรมออนไลน์แก่ผู้สูงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุร่วมกันให้ข้อมูลพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเองผ่านระบบ เกิดการสร้างเป็นสังคมที่ช่วยระวังภัยให้กันและกัน
5. นวัตกรรมด้านการเคลื่อนไหวและการใช้ชีวิตประจำวัน (Mobility & Transportation) เนื่องจากการเดินทางและการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องที่ลำบากสำหรับผู้สูงอายุ นวัตกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ดี หรือสะดวกในการเดินทาง นับเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับชีวิต เพิ่มความมั่นใจ และความเป็นอิสระของผู้สูงอายุ เช่น โครงการ Go Mamma: แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งสำหรับผู้สูงอายุ ของบริษัท บางกอกแนนนี่ เซ็นเตอร์ จำกัด ที่ให้บริการการเดินทางสำหรับผู้สูงอายุให้มีความสะดวกสบายและปลอดภัย ด้วยระบบติดตามรถ (tracking) พร้อมระบบแจ้งเตือน (notification) ในกรณีฉุกเฉิน รวมถึง มีผู้ดูแลให้บริการหากต้องการ
6. นวัตกรรมด้านการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพ (Activities of Daily Living) เป็นการชักจูงให้ผู้สูงอายุลุกขึ้นมาทำกิจกรรมมากขึ้น ช่วยลดโอกาสเข้าสู่ภาวะอาการติดเตียงได้ เช่น โครงการธนาคารเวลาสำหรับสะสมเวลาความดีเพื่อแลกบริการให้แก่ผู้สูงอายุ ของบริษัท ยังแฮปปี้ จำกัด ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันสำหรับสะสมเวลาความดีสำหรับผู้สูงอายุ กระตุ้นให้ผู้สูงอายุลุกมาทำกิจกรรมช่วยเหลือผู้อื่นและสังคมในด้านต่างๆ แล้วนำเวลาความดีที่สะสมไว้มาแลกเป็นของรางวัลและบริการที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงอายุ
นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุ ถือว่าเป็นกระแสหลักของนวัตกรรมโลกในทศวรรษนี้ และนับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมรูปแบบใหม่ให้สามารถเดินหน้า ไม่สะดุดล้มลงด้วยปริมาณประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยชรา การนำนวัตกรรมมาช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างปัจจัยสิ่งแวดล้อม และปรับวิถีชีวิตเพื่อที่ผู้สูงอายุจะสามารถใช้ชีวิตสะดวกสบายและง่ายขึ้น จะทำให้ผู้สูงอายุรอดพ้นจาก “ความจน การเจ็บป่วย และถูกทอดทิ้ง” [3] และมีกำลังไปช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม เพราะสังคมผู้สูงวัย ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของคนสูงวัย แต่เป็นเรื่องของคนทุกวัยที่จะต้องหันมาช่วยกันพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เพราะสักวันหนึ่ง คุณเองก็จะต้องเป็นผู้สูงอายุเช่นกัน โอกาสที่คุณจะได้เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมนั้นคงไม่ไกลเกินตัวแน่นอน
อ้างอิงข้อมูล
- สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย 2562 (https://thaitgri.org/?p=39457), มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุ
- Virtual Reality for Dementia Care (https://www.tis.tv/video/tribemix-virtual-reality-for-dementia-care), Tribemix
- ประเทศไทยต้องเดินแบบไหน ถึงจะใช้ชีวิตสูงวัยได้อย่างมีคุณภาพ (https://www.bangkokbiznews.com/social/974811), นพ.ประเวศ วะสี
บทความโดย
เฉลิมพงษ์ กล้าขยัน (เอ็ม)
นักพัฒนานวัตกรรมอาวุโส ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)