“มหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว” เมื่อความหลากหลายทางชีวภาพมาบรรจบกับความหลากหลายทางวัฒนธรรม

ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ชีวิตให้มีความหลากหลายเพื่อให้ชีวิตเหล่านั้นดำเนินไปอย่างสมดุล เกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกัน เกาะเกี่ยวก่อร่างเป็นระบบนิเวศที่หลากหลาย ซับซ้อน และงดงาม เอื้อประโยชน์ต่อทุกชีวิตในโลก ปัจจุบันความหลากหลายในชีวิตกำลังถูกคุกคาม ก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งจากการกระทำของมนุษย์ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เพื่อกระตุ้นให้ทั่วโลกได้เห็นความสำคัญของความหลากหลายของชีวิต และตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ องค์การสหประชาชาติโดย 157 ประเทศทั่วโลกร่วมกันลงนามรับรองอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ หลังจากนั้นจึงได้ประกาศให้วันที่ 22 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อระลึกถึงอนุสัญญาฯ ดังกล่าว

กลับมาที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564 ยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียน “ดอยหลวงเชียงดาว” เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ นับเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลลำดับที่ 5 ของเมืองไทย ซึ่งพื้นที่สงวนชีวมณฑล หมายถึง พื้นที่ที่มีการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งด้านป่าไม้ พันธุ์พืช และสัตว์ป่า ตลอดจนวัฒนธรรมในพื้นที่ ก่อให้เกิดการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับป่าและพื้นที่ธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ระบบการจัดการ แบ่งอาณาเขตในการอนุรักษ์ และการทำมาหากินในพื้นที่อย่างชัดเจน สำหรับพื้นที่ดอยหลวงเชียงดาว ยังมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม อาทิ วัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ ม้ง มูเซอ ลีซอ ปกากะญอ และวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งเป็นตัวอย่างของวิถีชีวิตคนดูแลป่า และป่าดูแลคนอย่างยั่งยืน

ดอยหลวงเชียงดาว จัดเป็นยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศไทย กับสถิติความสูง 2,225 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล อุดมไปด้วยพรรณไม้กว่า 2,000 ชนิด และยังมีพืชเฉพาะถิ่นที่พบได้ที่เดียวในโลกมากกว่า 100 ชนิด นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่ามากถึง 672 ชนิด ซึ่งเป็นเป็นสัตว์ป่าหายาก และอยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ แม้ดอยหลวงเชียงดาวจะมีลักษณะเป็นภูเขาหินปูน แต่ทิวทัศน์ขุนเขาที่ทอดยาว สวยเพลินตา เมื่อเดินผ่านทางลาดชันที่โอบล้อมด้วยผืนป่า ระหว่างทางเราจะพบดอกไม้และพืชพรรณหลากหลาย เป็นความสวยงามที่หาชมได้ยาก เพลินตา ลืมความเหนื่อยล้าได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่ธรรมชาติที่เราได้สัมผัสตลอดทางเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หากเราเดินทางไปจนสุดยอดดอย ผืนป่าที่ทอดตัวไปจนสุดสายตา ความยิ่งใหญ่ของภูเขาที่เรียงรายไล่ขนาดกันไป ประกอบกับแสงสุดท้ายของดวงอาทิตย์ที่กำลังลับขอบฟ้า ผสานกับท้องฟ้าสีทองอร่าม เป็นความงดงามที่ต้องบอกเลยว่า “สวยจนหายเหนื่อย”

ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการสัมผัสความงามของธรรมชาติที่ดอยหลวงเชียงดาวให้มากยิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือของ NIA เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว ภาคีเรารักดอยหลวงเชียงดาว และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการจัดทำแอปพลิเคชัน “มหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาว” ซึ่งพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ทั้งแบบออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลที่ถูกต้องโดยตรงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ เกี่ยวกับการเตรียมตัวขึ้นไปศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาว และแบบออฟไลน์ เนื่องจากเมื่อเข้าสู่พื้นที่ดอยหลวงเชียงดาวจะไม่สามารถเชื่อมต่อ

สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ โดยผู้ใช้งานสามารถดาวน์โหลดข้อมูลของดอยหลวงเชียงดาวลงในสมาร์ทโฟน เมื่อเดินทางไปถึงจุดที่กำหนด จะสามารถสแกน QR Code เพื่อให้แอปพลิเคชันแสดงข้อมูลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องไปเรื่อยๆ ตลอดเส้นทาง เช่น ข้อมูลพืชพรรณเฉพาะถิ่น แถบบอกประเภทของป่าตามระดับความสูง แถบบอกระยะความสูงของภูเขา และระยะทางจากจุดที่ใช้งานไปจนถึงจุดหมายที่ต้องการ คำแนะนำสถานที่จุดชมวิว ฟอสซิลหอย 230 ล้านปี รวมถึงเรื่องราวความเชื่อ ความศรัทธาในพื้นที่ ประวัติของเจ้าหลวงคำแดง เทพอารักษ์ประจำดอยหลวงฯ และมีการนำเทคนิค Gamification เพื่อพัฒนาประสบการณ์เดินทางของนักท่องเที่ยว มีช่องทางการบริจาคเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลทรัพยากร โดยจะมีการอัปเดตเนื้อหาในลักษณะปฏิทินกิจกรรมให้เห็นถึงความต้องการเร่งด่วนในแต่ละช่วงเวลา เช่น ปัญหาไฟป่า และยังเปิดโอกาสให้กลุ่มคนที่สนใจการอนุรักษ์เข้ามามีส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครพิทักษ์ดอยหลวงเชียงดาว เช่น อาสาสมัครทำแนวกันไฟ การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่ป่า

จะเห็นได้ว่า ดอยหลวงเชียงดาว นับเป็นพื้นที่ที่ทรงคุณค่า และมีความสำคัญทั้งทางด้านระบบนิเวศพันธุ์ไม้ และสัตว์ป่า รวมไปถึงวัฒนธรรมชุมชน ดังนั้นการศึกษาธรรมชาติอย่างเข้าใจ การปฏิบัติตามกฎกติกา และช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ นวัตกรรมเพื่อสังคมที่นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ ยังสามารถช่วยต่อยอดและรักษาความมหัศจรรย์ของดอยหลวงเชียงดาวให้คงอยู่สืบต่อไป และช่วยทำให้ คนไม่ไปทำร้ายธรรมชาติเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน ธรรมชาติก็จะไม่ย้อนกลับมาทำร้ายคน เช่นกัน

ที่มาข้อมูล

บทความโดย
อธิชา ชูสุทธิ์ (ปอม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)