หน้าหนาว … ฤดูกาลที่คนเชียงใหม่รักด้วยใจ แต่ถูกทำร้ายที่ปอด

“ผ่านลมหนาว จะกี่คราวก็ยังเหมือนเดิม … ลมหนาวมาเมื่อใด กลัวฉันกลัวขาดใจ” เนื้อเพลงยอดฮิต “ลมหนาว” จากวงดนตรี ที ฟอร์ ทรี (Tea for Three) เป็นเสียงสะท้อนที่สามารถแทนใจคนเชียงใหม่ รวมถึงผู้คนในเขตภาคเหนือตอนบนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปี ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับปัญหาฝุ่น PM 2.5

ผ่านไปแค่พริบตา ฤดูกาลแห่งความสุขที่หลายๆ คนคิดถึงกำลังวนมาอีกครั้ง และในฤดูหนาวที่ใกล้เข้ามานี้ เป็นที่ค่อนข้างมั่นใจมากว่าทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่บนภูเขา จะมีอุณหภูมิที่ลดต่ำลงจากปริมาณน้ำฝนที่มากในปีนี้ ฉะนั้นเมืองท่องเที่ยวทางภาคเหนือย่อมน่าสนใจเป็นพิเศษ ไม่เพียงแต่ผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรง หากแต่ประชาชนในพื้นที่ต่างรู้ดีว่า เศรษฐกิจกำลังจะคึกคักและเงินจะสะพัดเป็นอย่างมากในช่วงเวลาปลายปี

ช่วงเทศกาลของเชียงใหม่ นับว่ามีเสน่ห์ลำดับต้นๆ ในโลก เช่น เทศกาลยี่เป็ง (เทศกาลลอยกระทง) รวมถึงเทศกาลวันหยุดปลายปีทั้งคริสต์มาสหรือปีใหม่ ที่คนทั่วโลกพร้อมใจกันหยุด และออกเดินทางมาท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นและน่าจะหนาวเร็วหนาวนานกว่าปกติ เป็นสิ่งดึงดูดและเพิ่มเสน่ห์ให้เหล่าเมืองทางภาคเหนือ ดังนั้นในฤดูหนาวซึ่งมีระยะเวลายาวไปจนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ในปีถัดไป ถือเป็นช่วงเวลา High-Season ที่ดึงดูดเงินจำนวนมหาศาลจากบรรดานักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศผู้มาเยือนถิ่นล้านนาได้เป็นอย่างดี

ในขณะเดียวกัน หน้าหนาวกลับเป็นฤดูกาลที่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ ต้องต่อสู้กับฝุ่นควัน PM 2.5 เป็นพิเศษ โดยข้อมูลของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือที่เป็นภูเขาล้อม ทำให้เมื่อมวลความกดอากาศสูงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ส่งผลให้ลมสงบ ฝุ่นละอองถ่ายเทได้ยาก นำมาซึ่งการสะสมของฝุ่นละอองในปริมาณที่สูงรวมถึงฝุ่น PM 2.5 ด้วย

ภาพข่าว “ส่อแย่! เชียงใหม่ฝุ่นควันไฟป่าและ PM 2.5 เริ่มขยับเกินค่ามาตรฐาน-ค่ามลพิษพุ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก” ภาพข่าวจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์ (MGR Online)

One Step at A Time … รู้ถูกที่ แก้ถูกทาง

กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียงจากกรมควบคุมมลพิษ ได้ให้คำนิยามถึง
“ฝุ่น PM 2.5” ว่า “เป็นฝุ่นที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน เกิดจากการเผาไหม้ทั้งจากยานพาหนะ การเผาวัสดุทางการเกษตร ไฟป่า และกระบวนการอุตสาหกรรม สามารถเข้าไปถึงถุงลมในปอดได้ เป็นผลทําให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ และโรคปอดต่างๆ หากได้รับในปริมาณมากหรือเป็นเวลานานจะสะสมในเนื้อเยื่อปอด ทําให้การทํางานของปอดเสื่อมประสิทธิภาพลง ทําให้หลอดลมอักเสบ มีอาการหอบหืด”

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลก ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความอันตรายว่า ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในกลุ่มของสารก่อมะเร็ง ที่มีโอกาสพัฒนาไปเป็นมะเร็งปอด ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกาย เพิ่มโอกาสการเป็นโรคหัวใจ โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และโรคหลอดเลือดในสมอง ดังนั้น ปัญหาค่าฝุ่น PM 2.5 เกินเกณฑ์มาตราฐาน (มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) จึงถือเป็นเรื่องสำคัญและเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันแก้ไขให้เร็วที่สุด

และก่อนที่เราจะถกประเด็นว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เราควรมาทบทวนถึงที่มาของปัญหาก่อน โดยปัญหาฝุ่น PM 2.5 มาจาก 2 แหล่งหลัก คือ (1) กิจกรรมในภาคเมือง เช่น โรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการจราจร (2) กิจกรรมในภาคชนบท เช่น การเผาเศษวัสดุเหลือใช้จากภาคการเกษตร การเผาถางพื้นที่เกษตรกรรม เป็นต้น อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่นที่ควบคุมได้ยาก เช่น ฝุ่นควันจากการเผาไหม้ของภาคการเกษตรหรือไฟป่าซึ่งมาจากประเทศเพื่อนบ้านด้วย

สิ่งนี้เราพบทุกปี กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง แล้วภาคเมืองทำอะไรกันอยู่ ?

ที่ผ่านมา มักมีการแก้ปัญหาของภาคชนบทและภาคการเกษตรเป็นส่วนใหญ่ ลองมาดูการแก้ปัญหาของคนในเมืองกันบ้าง ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น การแก้ปัญหาจากภาคเมือง (ผู้มีอำนาจด้านกฎหมาย ผู้ดูแลท้องที่) ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากิจกรรมที่ทำในภาคเมืองทุกวันนี้ส่งผลต่อ การเกิดฝุ่น PM 2.5 ทั้งสิ้น

ภาพแสดงการจราจรที่หนาแน่นในเมืองเชียงใหม่ รูปภาพจากเว็บไซต์ https://thinkofliving.com

สำหรับการแก้ปัญหาของเมืองเชียงใหม่ ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ที่ผ่านมามีความพยายามแก้ไขร่วมกับนักวิชาการและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมมาโดยตลอด เช่น สภาเมืองสีเขียว ผู้เป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการพัฒนาโครงการ “สวนเจริญประเทศ” ซึ่งเป็นป่ากลางเมืองเชียงใหม่ ขนาด 9 ไร่ ที่เกิดจากการยืนหยัดของชุมชน นอกจากนี้กลุ่มภาคีในเชียงใหม่อื่นๆ เช่น กลุ่มใจบ้าน กลุ่มเชียงใหม่ เขียว-สวย-หอม เครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เมืองเชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) สภาลมหายใจจังหวัดเชียงใหม่ ยังได้ร่วมกันพัฒนาโครงการในภาคสาธารณะขึ้นมามากมาย ให้เชียงใหม่เป็นเมืองสีเขียว เช่น “โครงการสวนผักคนเมือง” โครงการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้กลายเป็นสวนผักกลางเมืองเชียงใหม่ ที่หล่อเลี้ยงคนในชุมชนให้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตของสถานการณ์โควิด-19 เป็นโครงการที่ได้รับรางวัลมามากมายประดับประเทศ

นอกจากนี้ยังมี “โครงการสวนสาธารณะริมน้ำปิงแห่งใหม่” โครงการที่จะเชื่อมวิถีชีวิตคนเชียงใหม่กับแม่น้ำให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ตลอดจน “โครงการพัฒนารถไฟฟ้าสำหรับนักเรียน” ซึ่งอยู่ในระหว่างการพัฒนาโครงการ เป็นต้น

สำหรับในปี พ.ศ. 2565 ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ “โครงการจัดการมลพิษอากาศในเมือง” (Urban Air Pollution Project) โดยเทศบาลนครเชียงใหม่ร่วมมือกับคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก องค์การสหประชาชาติ หรือ UNESCAP ในโครงการ Smart Cities Innovation Lab โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศอย่างเป็นรูปธรรม จากการสำรวจความต้องการจึงได้พบแนวทางการแก้ปัญหาได้ตรงความต้องการที่เร่งด่วน โดยจะมีการจัดกิจกรรมให้ความรู้และให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา PM 2.5 นอกจากนี้จะมีการบริจาคเครื่องกรองอากาศแก่สตรีมีครรภ์ เนื่องจากงานวิจัยแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงต่อทารกในครรภ์จากปัญหา PM 2.5 และเพิ่มระบบการแจ้งเตือนคุณภาพอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ในระบบ GEMs และดาวเทียม PANDORA ซึ่งเป็นระบบ Warning System ที่จะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพฝุ่นควัน เพิ่มประสิทธิภาพของสถานีวัดอากาศภาคพื้นดินให้มีความแม่นยำมากขึ้นจากการผสานข้อมูลร่วมกับดาวเทียม PANDORA ซึ่งโครงการนี้เป็นความร่วมมือของสามฝ่าย ทั้งเทศบาลนครเชียงใหม่ UNESCAP และศูนย์เตรียมความพร้อมป้องกันภัยพิบัติแห่งเอเชีย (Asian Disaster Preparedness Center – ADPC) โดยการแจ้งเตือนอย่างมีประสิทธิภาพในกรณีอากาศเป็นพิษร้ายแรง จะช่วยเฝ้าระวังและลดการเจ็บป่วยของประชาชนในแต่ละชุมชนได้ในระยะยาว

สำหรับเรื่องการแก้ไขปัญหาในระดับประเทศ รัฐบาลได้ประกาศให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 เป็นต้นมา

ทุกอย่างฟังดูเหมือนไปได้ดี แต่ดูเหมือนต้องรอเวลาในการเห็นผล…

แล้วมีวิธีไหนที่แก้ปัญหา PM 2.5 ที่เห็นผลเร็วบ้างหรือไม่ ?

ในขณะที่ปอดของชาวเมืองรอการบรรเทาผลกระทบในระยะยาว สิ่งที่เราควรมองหาในการแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สามารถดูตัวอย่างนวัตกรรมที่ใช้ลดปัญหาหมอกควันในเมืองต่างๆ ทั่วโลก เช่น

Smog Free Tower: หอคอยปลอดควัน

คือเครื่องฟอกอากาศกลางแจ้งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด โดยมีขนาดสูง 7 เมตร เทียบได้กับตึกสูงสี่ชั้น ซึ่งจากการทดสอบ พบว่าตัวเครื่องสามารถจับฝุ่นละออง PM 10 ได้มากถึงร้อยละ 70 และ PM 2.5 ได้ถึงร้อยละ 25 โดยมีการทำงานที่คล้ายกับเครื่องฟอกอากาศในโรงพยาบาล ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใช้กำลังไฟเพียง 1,400 วัตต์เท่านั้น โดยสามารถฟอกอากาศได้ถึง 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง และปัจจุบันได้มีการติดตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้วที่เมือง Rotterdam ประเทศเนเธอร์แลนด์

เครื่องขจัดควันพิษ ‘Smog Free Tower’ โดย Mr. Daan Roosegaarde เพื่อฟอกอากาศในพื้นที่เขตเมือง Rotterdam บริเวณสวนสาธารณะ รูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.studioroosegaarde.net

Air-Purifying Billboard: เครื่องฟอกอากาศบนป้ายโฆษณาขนาดยักษ์

ผลงานจากมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี เมืองลิมา ประเทศเปรู ที่ได้ทำการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศไว้กับป้ายโฆษณาขนาดยักษ์ โดยตัวป้ายสามารถฟอกอากาศได้มากถึง 3.5 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือเทียบเท่ากับต้นไม้จำนวนกว่า 1,200 ต้น

Air-Purifying Billboard : เครื่องฟอกบนป้ายโฆษณาเทียบเท่าต้นไม้ 1,200 ต้น โดยมหาวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศเปรู รูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.ozy.com

Photosynthesis Bike: จักรยานลดฝุ่นด้วยการเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช

จักรยาน “Photosynthesis Bike” คือจักรยานที่ช่วยลดปริมาณฝุ่นด้วยการเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช (Photosynthesis) โดยการกรองคาร์บอนไดออกไซด์ผ่านอุปกรณ์ระหว่างช่องแฮนด์จักรยาน และมีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่ฝังอยู่ในเฟรมจักรยานเป็นตัวช่วยสร้างออกซิเจนออกมา ซึ่งเป็นการออกแบบที่น่าสนใจมากๆ อย่างไรก็ตาม ผลงานนี้ยังเป็นแค่ไอเดีย ซึ่งคาดว่าคงสามารถนำมาใช้จริงได้ในอนาคตอันใกล้นี้

จักรยานลดฝุ่นด้วยการเลียนแบบการสังเคราะห์แสงของพืช (Photosynthesis Bike) รูปภาพจากเว็บไซต์ https://www.zdnet.com

ถ้านวัตกรรมยังไม่แพร่หลายและยังต้องใช้เงินทุนจำนวนหนึ่ง แล้วการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนที่ต้นทุนต่ำที่สุดควรทำอย่างไร ?

เมื่อกลับไปดูที่สาเหตุแล้วเราจะสามารถตอบคำถามนี้ได้อย่างทันที มองในมิติโอกาส คือ การแก้ปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืนสามารถเป็นไปได้ แต่หากมองในมิติด้านอุปสรรคสำคัญ คือ การแก้ปัญหาต้องเริ่มต้นจากการลดความสบายส่วนบุคคล และต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย

การเปลี่ยนแปลงนั้นเริ่มจากระดับบุคคล เราต้องพยายามเดินกันให้มากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเมืองที่เป็นระยะเดินได้ ลดความสบายในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลโดยเฉพาะในเขตเมืองที่เป็นพื้นที่แออัด ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวขนาดเล็กตั้งแต่ระเบียงหรือเขตพื้นที่บ้านเราเอง  เลือกใช้รถสาธารณะให้มากที่สุด ถึงแม้จะต้องใช้เวลาไปถึงปลายทางที่นานกว่าแต่มันคือหนทางที่เราสามารถจะได้รับอากาศสะอาดกลับคืนมาสู่ปอดของเรา

รวมถึงการส่งเสริมจากภาครัฐ ต้องการความจริงจังในการบังคับใช้กฎหมายกับยานพาหนะที่ปล่อยควันดำ เพิ่มมาตรการควบคุมการปล่อยควันจากโรงงานอุตสาหกรรม เพิ่มทางเท้า เพิ่มพื้นที่สาธารณะมากกว่าเพิ่มตึกคอนกรีต ศึกษาแลกเปลี่ยนนวัตกรรม วิธีแก้ปัญหา และนำมาปรับใช้จากประเทศที่เคยพบปัญหาเหล่านี้แต่สามารถแก้ไขได้แล้ว เนื่องจากปัญหาฝุ่นควันนั้นเป็นปัญหาที่เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างก็พบเจอเช่นกัน

กระบวนการระหว่างรอแบบอดทนนั้นขม แต่ผลของความอดทนนั้นหวาน… ไม่ว่าวันนี้คุณจะเป็นคนท้องถิ่น หรือกิจการที่ต้องพึ่งพาการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค หรือนักท่องเที่ยวที่หลงรักมนต์เสน่ห์แห่งล้านนา หรือผู้มีใจรักและมีความหวังในการพัฒนาเมืองสีเขียวให้เกิดขึ้นได้จริงในประเทศไทย ทุกคนสามารถร่วมสร้างเมืองที่ไร้ฝุ่นควันไปด้วยกัน แล้วหน้าหนาวในฝันของชาวเมืองเหนือจะกลับมาสดใสอีกครั้ง

ภาพแสดงมาตราการกำจัด PM 2.5 ในทุกภาคส่วน จากกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จากเว็บไซต์ https://mgronline.com

สำหรับผู้ที่มีไอเดียในการแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 หรือการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมสนับสนุนท่าน เปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยแก้ปัญหาของเมืองได้จริง โดยสามารถติดตามรายละเอียดการประกาศให้ทุนสนับสนุนโครงการได้ที่ www.social.nia.or.th

อ้างอิงข้อมูลจาก

  • บทความ “ฝุ่น : วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก” วันที่ 15 มกราคม 2562 (ฝุ่น : วิธีแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของเมืองใหญ่ทั่วโลก, 2019)
  • บทความ “5 นวัตกรรมรับมือการเปลี่ยนแปลงมลภาวะทางอากาศ” วันที่ 1 เมษายน 2562 เว็บไซต์ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ, 2019)
  • บทความ “เกษตรไม่เผา ………….จะ…….ทำยังไง” วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 เว็บไซต์สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) (ดาราพงษ์, 2013)
  • บทความ “มาตรการแก้ ‘PM2.5’ จากยานยนต์” วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 เว็บไซต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) (ธรรมพานิชวงค์ & ภูมิวัฒน์, 2021)
  • หนังสือเรียนรู้ อยู่กับฝุ่น PM 2.5 โดยกลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2019)

ขอบคุณรูปภาพจาก

  • บทความ “ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ 2562 แนะนำพิกัดฉลองลอยกระทงพร้อมตารางงานยี่เป็งตลอด 3 วัน 3 คืน!” เผยแพร่วันที่ 1 พ.ย. 2562 โดยเว็บไซต์ Bangkok Airways www.blog.bangkokair.com/ประเพณียี่เป็งเชียงใหม่/
  • ข่าวประชาสัมพันธ์ วันที่ 31 พ.ค. 2565 เว็บไซต์เทศบาลนครเชียงใหม่ www.cmcity.go.th
  • บทความ “เชียงใหม่นำร่อง “เมืองขนส่งยั่งยืน” รณรงค์ให้ใช้ “จักรยาน-เดินเท้า” เริ่มที่ย่านเมืองเก่า” เผยแพร่วันที่ โดยเว็บไซต์ www.thinkofliving.com ผู้เขียน Nuntanach D.
  • Project Smog Free Tower เว็บไซต์ STUDIO ROOSEGAARDE www.studioroosegaarde.net
  • บทความ “ไอเดียนวัตกรรม รับมือมลภาวะทางอากาศถึงจุดวิกฤต” วันที่ 10 ม.ค. 2563 เว็บไซต์ OMNI RECIPES สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา http://omni-recipes.com/2020/01/10/10163/
  • ผลงานที่ได้รับรางวัลการออกแบบสร้างสรรค์ (CREATIVE DESIGN AWARDS) ประจำปี 2020 เว็บไซต์ CREATIVE DESIGN AWARDS https://cdadesignawards.com/abous-us/
  • ข่าว “เตรียมเปิด “สวนเจริญประเทศ” ปอดแห่งใหม่ของเมืองเชียงใหม่” เว็บไซต์ CM108 เผยแพร่วันที่ 17 มิ.ย. 2562 https://www.cm108.com/w/515/
  • บทความ “4 นวัตกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต รับวิกฤต PM 2.5” เว็บไซต์ Krungsri Plearn Plearn https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/innovation-air-pollution
  • บทความ “7 มาตรการแก้ปัญหาฝุ่นควันด้วยงานวิจัยจาก อว.” วันที่ 31 ม.ค. 2563 เว็บไซส์สำนักข่าว MGROnline https://mgronline.com/science/detail/9630000010477
  • หัวข้อข่าว “ส่อแย่! เชียงใหม่ฝุ่นควันไฟป่าและ PM 2.5 เริ่มขยับเกินค่ามาตรฐาน-ค่ามลพิษพุ่งติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก” เผยแพร่วันที่ 28 ก.พ. 2565 13:39 ปรับปรุง: 28 ก.พ. 2565 13:39 โดย: ผู้จัดการออนไลน์ https://mgronline.com/local/detail/9650000020098

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)