ชวนสัมผัสนวัตกรรมการท่องเที่ยว ในเมืองรองของภาคเหนือ

ใกล้ช่วงวันหยุดยาวประจำปี หรือช่วงวันสงกรานต์นี้ ทุกท่านอาจจะมีการวางแผนท่องเที่ยวกันบ้างแล้ว … แต่หากใครเริ่มเบื่อกับคนจำนวนมากที่แย่งกันกินแย่งกันเที่ยวในเมืองท่องเที่ยวยอดฮิต และยังไม่มีหมุดหมายในดวงใจ เราอยากชวนให้ทุกท่าน มาท่องเที่ยว “เมืองรอง” กันบ้าง … บางทีนอกจากการได้พักผ่อนในช่วงวันหยุดแล้ว คุณอาจจะได้สัมผัสสิ่งใหม่ อย่างที่เมืองใหญ่ไม่มี

ประเทศไทยนั้นมีสถานที่ท่องเที่ยวหลากหลาย ทั่วทุกภาคมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแตกต่างกัน และไม่เฉพาะคนในประเทศเท่านั้น แต่ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจากทั่วโลกอีกด้วย โดยผลสำรวจเกี่ยวกับแผนการท่องเที่ยวระดับโลก พบว่า “ประเทศไทย เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวลำดับ 4 ที่น่าเดินทางไปเยือนมากที่สุดในโลกหลังสถานการณ์โควิด-19” (ที่มา: Visa Global Travel Intentions Study) และ เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ครองตำแหน่งอับดับ 1 สำหรับสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการท่องเที่ยวและทำงาน (Workation) มากที่สุดในโลก ประจำปี 2565 (ที่มา: William Russell.com) นอกจากนี้ จากการสำรวจของสำนักต่างๆ ในหัวข้อสถานที่ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ และเรื่องความปลอดภัยในการเดินทาง ประเทศไทยก็ยังติดอันดับ Top 10 ของโลกด้วย เช่นกัน

ภาพแสดงข้อมูล การสำรวจอันดับการท่องเที่ยวของประเทศไทย พ.ศ.2565
ภาพและข้อมูลโดย กระทรวงการต่างประเทศ

ทั้งนี้หากใครอยากเที่ยวสถานที่ใหม่ สัมผัสประสบการณ์ใหม่ เราอยากชวนให้ทุกคนลองไปเที่ยว “เมืองรอง” หรือ จังหวัดที่ยังไม่มีนักท่องเที่ยวไปจำนวนมาก ซึ่งยังคงเสน่ห์ของท้องถิ่นไว้อย่างเต็มเปี่ยม โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ให้นิยามคำว่า “เมืองรอง” ไว้ดังนี้ “เมืองรอง หรือ Less visited area หมายถึง เมืองที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก หรือยังมีนักท่องเที่ยวเข้าไปไม่มากนัก การกระจายรายได้ถึงชุมชนท้องถิ่นจึงแตกต่างกับเมืองท่องเที่ยวหลัก เกณฑ์การพิจารณาความเป็นเมืองรองคือ เมืองดังกล่าวมีนักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวไม่ถึง 6 ล้านคนต่อปี” ซึ่งปัจจุบัน ททท. ชูการท่องเที่ยว “เมืองรอง” จำนวน 55 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 16 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ภาคกลาง 7 จังหวัด ภาคตะวันออก 5 จังหวัด และภาคใต้ 9 จังหวัด

ภาพแสดงชื่อจังหวัดท่องเที่ยว “เมืองรอง” ของประเทศไทย
ภาพและข้อมูลโดย เว็บไซต์ Kapook Travel

โดยการเที่ยวเมืองรองเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และมีข้อดีหลายอย่าง ดังนี้

  1. ประสบการณ์การท่องเที่ยวที่แตกต่างและใกล้ชิดธรรมชาติ การเดินทางไปยังเมืองรอง อาจจะให้ความรู้สึกเหมือนกลับไปสู่การสัมผัสกับธรรมชาติ เนื่องจากเมืองรองเองยังไม่ได้มีการพัฒนาอย่างเต็มที่เมื่อเทียบกับเมืองใหญ่ ที่เต็มไปด้วยอาคารสูง และการค้าที่มีการขยายตัวอย่างมาก มักมีสถานที่ท่องเที่ยวที่มีสเน่ห์ไม่เหมือนใคร ซึ่งอาจช่วยเพิ่มประสบการณ์ใหม่ๆ และความท้าทายในการเดินทาง
  2. การได้เรียนรู้วัฒนธรรมท้องถิ่น การไปเที่ยวเมืองรอง นับเป็นการไปเที่ยวเมืองที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากที่อื่น ๆ ที่อาจจะได้เรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการใช้ชีวิตของคนท้องถิ่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ
  3. ราคาที่ถูกกว่า เมืองที่นักท่องเที่ยวยังมีน้อยมักมีค่าครองชีพที่ถูกกว่าเมืองใหญ่ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของธุรกิจท่องเที่ยวอาจจะไม่สูงเท่าในเมืองใหญ่ นอกจากนี้ ราคาของอาหารและของที่ระลึกในเมืองรองส่วนใหญ่มักถูกกว่าเช่นกัน
ภาพแสดงสถานที่ท่องเที่ยว จุดเช็กอินใหม่ ในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง
ข้อมูลโดย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย รวบรวมโดยสำนักข่าว TNN Online

ปัจจุบันการท่องเที่ยวเมืองรอง ไม่ได้หมายความว่า จะไม่ได้รับความสะดวกสบาย ตรงกันข้าม กลับรู้สึกผ่อนคลาย และได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นอย่างเป็นกันเองจากคนในพื้นที่ อีกทั้งยังได้เรียนรู้วิถีชุมชน ปรับสมดุลร่างกายง่าย ๆ เช่น การทานผักพื้นถิ่น การใกล้ชิดกับธรรมชาติ เป็นโอกาสในการใช้โซเชียลมีเดียให้น้อยลง (Social Detox) ทำให้ได้รับแรงบันดาลใจ และเกิดความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ มากมาย นอกจากนี้ เหล่าบรรดาเมืองรอง ยังเริ่มมีการพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบที่น่าสนใจ เพิ่มสเน่ห์ให้กับการท่องเที่ยวชุมชนที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างหลากหลายและเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) จึงอยากเชิญชวนทุกท่าน ให้ออกเดินทางท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ผ่านการสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชนที่มีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมในรูปแบบต่าง ๆ โดยขอนำเสนอตัวอย่างผลงานนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวชุมชนเมืองรองของภาคเหนือที่เครือข่ายองค์กรต่างๆ ร่วมกันพัฒนาขึ้น ได้แก่

1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีการส่งเสริม “นวัตกรรมการจัดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพออนเซนสายน้ำแร่วิถีถิ่นคนท่าปาย” โดยเป็นการแช่น้ำแร่ออนเซนจากสายน้ำแร่ธรรมชาติที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน และสำหรับคนที่อยากทำงานแบบอยู่ที่ไหนก็ได้ ก็มีการพัฒนาแพลตฟอร์ม “ดอยสเตอร์ โนแมด: Workation เปลี่ยนไลฟ์สไตล์สู่การทำงานที่มีความสุข” โดยนอกจากจะมีพื้นที่ที่อำนวยความสะดวกในการทำงานแล้ว ยังมีกิจกรรมนอกเวลางานให้เลือกหลากหลาย ตามแต่ไลฟ์สไตล์ เช่น การเดินป่าเส้นทางธรรมชาติ การเลือกโฮมสเตย์กับชาวบ้านซึ่งเป็นชนเผ่าชาติพันธุ์ ทำกิจกรรม Workshop กับชุมชน และกิจกรรมอื่น ๆ อีกมากมายที่หาได้ยากในเมืองท่องเที่ยวหลัก

2. จังหวัดลำปาง มีตัวอย่าง 2 นวัตกรรมที่อยากเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปเยือน ได้แก่แพลตฟอร์ม “เที่ยวชุมชน ยลมวยไทย อาหารถูกใจไปลำปาง” ซึ่งผลงานนี้ ได้ออกแบบแอปพลิเคชันท่องเที่ยวจังหวัดลำปาง 3 ภาษา (ภาษาไทย – จีน – อังกฤษ) มุ่งเน้นการท่องเที่ยวบริเวณอำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง โดยจุดเด่น คือการพัฒนาการท่องเที่ยวด้วยการผสานรูปแบบ Offline และ Online อย่างลงตัว โดยนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดลำปาง สามารถหาข้อมูลทางท่องเที่ยวได้ก่อน ผ่านทางเว็บแอปพลิเคชัน ซึ่งมีข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหารไว้อย่างครบถ้วน พร้อมเส้นทางท่องเที่ยวภายใน 1 วัน (One Day trip) ซึ่งเป็นเส้นทางท่องเที่ยวพิเศษ เลือกได้หลายหลายรูปแบบตามไลฟ์สไตล์ นอกจากจะได้เยี่ยมชมสถานที่สำคัญในจังหวัดแล้ว ยังมีพิกัดจุดท่องเที่ยว Unseen ต่าง ๆ เช่น ชุมชนทำลูกประคบ ศูนย์เครื่องปั้นเซรามิกชุมชน กลุ่มทอผ้ากี่กระตุก หรือแม้แต่เที่ยวค่ายมวย ซึ่งทุกสถานที่จะมีกิจกรรมสนุกๆ ให้นักท่องเที่ยวร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวัน นอกจากได้เที่ยวแล้ว ยังได้อุดหนุนของกินของฝาก จากผลิตภัณฑ์ชุมชนซึ่งออกแบบมาอย่างสวยงาม เช่น น้ำมะขามเปียกลำปาง ผลิตภัณฑ์ตุงล้านนาเล็ก โมบายใบจาก เป็นต้น

อีกหนึ่งแห่งในจังหวัดลำปางที่น่าสนใจ คือ ผลงานชื่อว่า “”Craft Therapy Studio”: การท่องเที่ยวเชิงหัตถศิลปบำบัด” พัฒนาโดยกลุ่มศิลปินหัตถศิลป์ สวนเป็นศรี จังหวัดลำปาง ภายในบริเวณสวนมีการจัดกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อนำหัตถศิลป์มาบำบัดความเครียด อาทิ 1) การผลิตผ้ามัดย้อม 2) การผลิตเซรามิก และ 3) การเผาเซรามิกแบบรากุ ซึ่งกระบวนกิจกรรมนั้นเป็นการออกแบบร่วมกันระหว่าง ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา และศิลปินหัตถศิลป์ นับเป็นกิจกรรมที่มีความโดดเด่น มีความสนุกสนาน และนักท่องเที่ยวยังได้ของฝีมือตัวเองกลับเป็นที่ระลึกด้วย

ภาพแสดงเว็บแอปพลิเคชัน และตัวอย่างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นป้ายแท็กสินค้าโมบายใบจาก และสายรัดผลิตภัณฑ์ตุงล้านนาเล็ก โดย เจ้าของผลงานนวัตกรรม บริษัท อัลติเมทมวยไทย จำกัด

3. จังหวัดพะเยา ผลงาน “ห้องเรียนสถาปัตยกรรมสําหรับเด็ก โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ชุมชนบ้านบัว จังหวัดพะเยา” กิจกรรมเรียนรู้ชุมชน โดยการเปิดหลักสูตรให้เด็กนักเรียนหรือผู้ที่สนใจ เข้าร่วมการเรียนรู้ผ่านการเดินเที่ยวในชุมชน โดยลองสังเกตลักษณะรูปทรงบ้าน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ในบริเวณชุมชนบ้านบัว ตำบลบ้านตุ่น อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ซึ่งถึงแม้พื้นที่จะอยู่ในอำเมืองเมือง แต่ชาวบ้านในชุมชนยังอนุรักษ์วิถีชีวิตกึ่งชนบทไว้ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรงสถาปัตยกรรมของบ้าน การทำขนมด้วยวิธีท้องถิ่น ต้นไม้เก่าแก่ และวิถีทำเครื่องสานด้วยมือ โดยในช่วงเช้าผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เริ่มเดินเรียนรู้ในชุมชน ซึ่งแบ่งเป็นฐานต่างๆ ในบริเวณรอบหมู่บ้าน และในช่วงบ่ายมีกิจกรรม Workshop โดยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจินตนาการบ้าน และวิถีชุมชน ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการเยี่ยมชมหมู่บ้าน ออกมาในรูปแบบการสร้างตัวต่อด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ ที่เรียกว่า “ชิ้นส่วนประกอบจากธรรมชาติ” เป็นกิจกรรมที่สามารถทำได้ทั้งครอบครัว ทั้งสนุก และได้รับความรู้เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยจากพี่ๆ ป้าๆในชุมชนตลอดทั้งวัน

“เราเชื่อว่าการออกไปเที่ยวเมืองรอง ยังมีเสน่ห์อีกหลายอย่าง รอคุณไปค้นพบ เก็บกระเป๋าแล้วออกไปเรียนรู้นวัตกรรมการท่องเที่ยวเมืองรอง…จากเมืองที่เคยเป็นแค่ที่สอง หากได้ลองสัมผัส แล้วมุมมองของคุณจะเปลี่ยนไป

สำหรับผู้ที่มีแนวคิดและนวัตกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA พร้อมสนับสนุนท่าน เปลี่ยนไอเดียเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยสร้างรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ได้จริง โดยสามารถติดตามรายละเอียดการประกาศให้ทุนสนับสนุนโครงการได้ที่ www.social.nia.or.th

ช่องทางการติดต่อสอบถามกิจกรรม

อ้างอิงข้อมูลจาก

  • ข่าวธุรกิจท่องเที่ยว “เจ๋ง!ไทยติดอันดับโลก ปี2565 กวาด14 รางวัล “ท่องเที่ยว”โชว์ท็อปฟอร์มสุด” วันที่ 14 ก.ค. 2565 เว็บไซส์ ฐานเศรษฐกิจ (ฐานเศรษฐกิจ, 2022)
  • บทความ “ทำความรู้จัก ‘เมืองรอง’ คืออะไร และ 55 จังหวัดน่าไปมีที่ไหนบ้าง” วันที่ 25 เม.ย. 2562 สำนักข่าวโพสต์ทูเดย์  (โพสต์ทูเดย์, 2019)
  • หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดย วิทยาลัยพัฒนาเศรษฐกิจและเทคโนโลยีชุมชนแห่งเอเชีย (adiCET) มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
  • หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน โดย สถาบันนวัตกรรมและถ่ายทอดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยพะเยา

ขอบคุณรูปภาพจาก

  • ผลการจัดอันดับของไทย จากผลสำรวจทั่วโลก ประจำปี 2565 วันที่ 23 ก.ค. 65 Facebook กระทรวงการต่างประเทศ Ministry of Foreign Affairs of the Kingdom of Thailand https://www.facebook.com/photo.php?fbid=418193573683069&set=pb.100064772884025.-2207520000.&type=3
  • บทความ “เที่ยวเมืองรอง ชี้พิกัด 55 เมืองรอง กับที่เที่ยวสวย ๆ ทั่วไทย” วันที่ 5 ม.ค. 2561 เว็บไซต์ กระปุก – ท่องเที่ยว https://travel.kapook.com/view186037.html
  • บทความ “เปิดจุดเช็กอิน จังหวัดท่องเที่ยว “เมืองรอง” มีที่ไหนอัปเดตบ้าง?” วันที่ 27 ต.ค. 2564 เว็บไซต์สำนักข่าว TNN Thailand https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/94338/
  • บทความ “สวนเป็นศรี : อาร์ตสเปซที่ชวนมาทำเซรามิกรากุ และผ้ามัดย้อมชิโบริ” วันที่ 29 มี.ค. 2566 เว็บไซต์ Sarakadee Lite https://www.sarakadeelite.com/lite/suanphensri-lampang/
  • ทีมงาน NIA, หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (SID-AT UN และ SID UN) และ เจ้าของผลงานนวัตกรรม

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)