ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงทั้งในเวทีระดับประเทศและระดับสากล และยังถูกยกระดับให้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน สืบเนื่องมาจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ที่ยิ่งนับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น
“การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม” จึงถือเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญที่จะช่วยบรรเทาความรุนแรงจากสถานการณ์ดังกล่าว พร้อมทั้งมนุษย์ยังสามารถใช้ทรัพยากร
ธรรมชาติได้อย่างคุ้มค่าและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด
ปัจจุบันมนุษย์มีการคิดค้นกระบวนการ วิธีการจัดการ และนวัตกรรมที่จะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในหลากหลายมิติ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
น้ำจืด ทะเลและชายฝั่ง มหาสมุทร (Freshwater, Marine and Coastal, Ocean)
“น้ำ” เป็นหนึ่งในทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยใช้ในการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม โลจิสติกส์ ประมง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งการใช้ประโยชน์จากน้ำที่หลากหลายนี้ จึงทำให้น้ำมีการปนเปื้อนจากกิจกรรมการดำรงชีวิตของมนุษย์ แหล่งน้ำจืดที่เริ่มลดน้อยลง ดังนั้น เพื่อการแก้ปัญหา การป้องกัน และการนำน้ำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงต้องมีกระบวนการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม
ตัวอย่างนวัตกรรม เช่น นวัตกรรมเครื่องเปลี่ยนน้ำเค็มเป็นน้ำจืดด้วยวิธีการ Reverse Osmosis ระบบกระจายน้ำเพื่อการเกษตรบนพื้นที่สูง ระบบกรองน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อแก้ปัญหาการปนเปื้อนของน้ำ รวมถึงการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนด้วยนวัตกรรมทุ่นดักจับขยะในทะเลและนำขยะไปแปรรูปเป็นสินค้าชุมชน เป็นต้น
ฝุ่น ควัน และการจัดการไฟป่า (Dust, Smoke, and Forest Fire management)
สถานการณ์ “ฝุ่นควัน” ในปัจจุบันทวีความรุนแรงมาก เห็นได้ชัดจากปัญหาฝุ่นควัน P.M. 2.5 ที่ในหลายพื้นที่ทั่ว ประเทศมีดัชนีคุณภาพอากาศที่อยู่ในเกณฑ์อันตราย ผู้คนไม่สามารถออกมาดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งได้อย่างปลอดภัย และอีกหนึ่งปัญหาของการเกิดฝุ่นควันคือ ปัญหาไฟป่า ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและจากฝีมือของมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบกับมนุษย์และสัตว์ป่า ตัวอย่างนวัตกรรมที่ช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว เช่น “Smoke Watch” แอปพลิเคชันแจ้งเตือนและเฝ้าระวังไฟป่าจากการเผาในที่โล่ง “Dr. Barrier” แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจในการชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า และ “Leaf” การสร้างแผงฟอกอากาศรูปร่างใบไม้ที่ใช้ดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนเป็นออกซิเจน
การจัดการขยะและของเสีย (Waste management)
จากสถิติของกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปี 2565 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณขยะมูลฝอย 25.70 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ที่มีปริมาณขยะมูลฝอย 24.98 ล้านตัน สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการอุปโภคที่สูงขึ้น หากขยะเหล่านี้ได้รับการจัดการที่ไม่ดีพอ อาจจะส่งผลกระทบทั้งด้านสุขภาพของคนในสังคมไปจนถึงระบบสาธารสุข การท่องเที่ยว และสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างนวัตกรรมที่นำมาช่วยในการจัดการขยะและของเสีย เช่น นวัตกรรมชุดถังย่อยอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจนเพื่อการจัดการขยะอินทรีย์ ในชุมชนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
“Green Drive” แพลตฟอร์มการจัดการกากอุตสาหกรรมครบวงจรที่สามารถช่วยให้เกิดการจัดการกากอุตสาหกรรมอย่างมีระบบและปลอดภัย และ “Trash Lucky” ถังรีไซเคิลอัจฉริยะระบบ IoT ที่ทำให้รู้สถานะของถังแต่ละใบเพื่อการตัดสินใจก่อนนำขยะไปทิ้ง และแต้มที่ได้จากการทิ้งขยะสามารถนำไปลุ้นโชคได้
วัสดุหมุนเวียน (Circular Materials)
“วัสดุหมุนเวียน” ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการจัดการกับเศษวัสดุหรือวัสดุที่เหลือจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่ยังสามารถนำมาสร้างมูลค่าและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ (อ้างอิง: https://www.tcdcmaterial.com) ตัวอย่างเช่น การนำถุงน้ำยาล้างไตที่ใช้แล้วและมีความปลอดภัยมาเข้าสู่กระบวนการผลิตวัสดุทดแทนหนัง บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากเส้นใยกล้วย และการนำเอาขยะพลาสติกประเภทพอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ (LDPE) และขยะเหลือทิ้งทางการเกษตรมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เส้นเชือกพลาสติกรีไซเคิลคอมโพสิท
พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy)
“พลังงานหมุนเวียน” เป็นพลังงานทางเลือกที่มีแหล่งกำเนิดตามธรรมชาติที่ได้รับความสนใจทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไป เนื่องจากส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและสามารถใช้ได้อย่างไม่จำกัด ตัวอย่างโครงการ เช่น ระบบผลิตก๊าซชีวภาพแบบบอลลูนด้วยผ้าใบโพลิเอสเตอร์ โดยวัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตก๊าชีวภาพ ได้แก่ มูลสัตว์ ขยะอินทรีย์ เป็นต้น “Neo-Solar” ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรโดยเป็นการใช้พลังงานจากพลังงานแสงอาทิตย์ในการสูบน้ำบาดาล และ “E4C-Biodry: ต้นแบบระบบผลิตเชื้อเพลิง RDF จากขยะชุมชนที่สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงทั้งในรูปแบบของไฟฟ้าหรือความร้อน
การจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้มนุษย์ผ่านพ้นวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปได้ และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและปลอดภัย เพื่อส่งต่อสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับลูกหลานในอนาคตต่อไป ดังนั้น
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงได้เปิดรับข้อเสนอโครงการภายใต้โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ปี 2567 ในหัวข้อ นวัตกรรมเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อม (Innovation for Environmental Management) ขึ้น เพื่อให้นวัตกรที่อยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้เสนอแนวทางการพัฒนานวัตกรรม และรับการสนับสนุนเพื่อนำไปดำเนินการจริงในพื้นที่ต่อไป
เพราะสิ่งแวดล้อมคือพื้นฐานและต้นกำเนิดของทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ มาร่วมกันสร้างความตระหนักและรักษาสิ่งแวดล้อมดี ๆ ให้อยู่กับเราไปนาน ๆ
บทความโดย
นางสาวภาลัดดา เนื่องแก้ว (เอิร์น)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)