เดือด เดือด เดือด ทราบหรือไม่ว่า ตอนนี้โลกของเรากลายเป็น “ภาวะโลกเดือด” แล้ว องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization – WMO) คาดการณ์ว่าโลกจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรม ซึ่งหากเป็นแบบนั้น สิ่งมีชีวิตหลายชนิดมีความเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เพิ่มมากขึ้น เพราะไม่สามารถปรับตัวกับความร้อนที่เพิ่มได้ทัน นอกจากนี้ ยังส่งผลให้น้ำแข็งทั่วโลกมีการละลายเร็วขึ้นถึงสามเท่าเมื่อเทียบกับศตวรรษที่ผ่านมา โดยหากน้ำแข็งละลายหมดทั่วโลกจะทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเฉลี่ยถึง 1 เมตร ซึ่งจะทำให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ของสภาพอากาศทั่วโลก ไม่ว่าจะปรากฏการณ์เอลนีโญ ลานีญา ที่รุนแรงและส่งผลกระทบวงกว้าง กินระยะเวลานาน สร้างความเดือดร้อนกับสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยตัวแปรสำคัญที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงจากภาวะโลกร้อนมาเป็นภาวะโลกเดือดก็คือ มนุษย์ นั่นเอง
ทุกประเทศทั่วโลกต่างก็ได้รับผลกระทบที่มาจากภาวะโลกเดือด ที่ใกล้ตัวจนเรานึกไม่ถึง ซึ่งมาในรูปแบบของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ทำให้เกิดปัญหาตามมาอย่างมากมาย โดยจะเห็นได้จากในปี 2566 มีการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ภูเขาน้ำแข็งขั้วโลกเคลื่อน น้ำท่วม หรือไฟป่า ในต่างประเทศอย่างรุนแรง ทำให้มีผู้เสียชีวิตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติจำนวนมาก กระทั่งในประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบอย่างไม่ทันได้ตั้งตัว เราจะเห็นได้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยมีปริมาณน้ำฝนสูงสุดในรอบ 40 ปี รวมถึงมากกว่าในปี 2554 ที่เกิดภาวะอุทกภัยน้ำท่วมทั้งประเทศเสียอีก โดยเกิดฝนตกหนักน้ำท่วมอย่างรวดเร็ว มีการระบายน้ำช้า เกิดน้ำท่วมขังในหลายๆ พื้นที่ในประเทศ ส่วนในปี 2566 มีการคาดการณ์ว่าจะเป็นปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์จากปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งปัญหาหลักๆ ที่ทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง เกิดจากประชาชนและภาครัฐไม่ได้วางแผนรับมือกับภาวะภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง และยังเข้าไม่ถึงความรู้พื้นฐานในการป้องกันภัยและยังไม่มีการนำนวัตกรรมมาใช้อย่างจริงจัง เพื่อที่จะช่วยในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามในต่างประเทศก็เริ่มมีการตื่นตัว และมีการคิดค้นนวัตกรรมเพื่อที่จะนำมาใช้เตรียมรับมือกับภัยทางธรรมชาติด้วยวิธีที่แตกต่างกัน และยังสามารถนำมาต่อยอดเป็นธุรกิจนวัตกรรมที่น่าสนใจ โดยขอยกตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจในต่างประเทศ ดังนี้
1. Water Gate ระบบควบคุมน้ำท่วมทันใจ
เป็นระบบการกั้นน้ำและเปลี่ยนทิศทางของน้ำด้วยแรงดันของน้ำเอง โดยวัสดุจะเป็นการใช้ PVC แทนการใช้กระสอบทราย วัสดุสามารถขนย้ายได้ง่าย มีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำท่วมได้ดีกว่ากระสอบทราย และนำมาใช้ซ้ำได้ถึง 25 ครั้ง โดยคนเพียงคนเดียวก็สามารถใช้งานได้
2. ClimaGuard ถุงกันภัยน้ำท่วม
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนถุงใช้สำหรับป้องกันความเสียหายของทรัพย์สิน โดยผลิตภัณฑ์ทำจากโพลีเอสเตอร์ที่มีความทนทานต่อน้ำและหิมะ ซึ่งใช้สำหรับป้องกันทรัพย์สินที่จะไม่มีการเคลื่อนที่ระหว่างเกิดภาวะน้ำท่วมหรือพายุหิมะ เช่น รถยนต์ โดยผลิตภัณฑ์สามารถใช้ซ้ำได้ จัดเก็บ ขนย้ายง่าย และยังเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับการรับมือจากภัยธรรมชาติได้อีกด้วย
3. Flood Barrier Socks ถุงกั้นน้ำสำหรับพื้น
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเหมือนกระสอบทราย แต่เมื่อโดนน้ำจะขยายตัวเป็นถุงกั้นน้ำได้ภายในเวลา 10 นาที โดยภายในประกอบไปด้วยผงดูดซับและเจลที่สามารถขยายตัวได้ โดยการใช้งานสามารถวางซ้อนกันเหมือนกำแพงอิฐเพื่อเพิ่มความสูงของกำแพงในการป้องกันน้ำท่วมและเปลี่ยนทิศทางของน้ำได้ โดยผลิตภัณฑ์มีขนาดเบา สามารถใช้งานได้ง่าย ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถสลายตัวได้เอง
4. Bambi Bucket ถังดับเพลิงทางอากาศ
เป็นถังที่มีการออกแบบใช้เฉพาะกับเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์สร้างจากผ้าที่ทนทานน้ำและเชื้อรา มีน้ำหนักเบา โดยถังจะถูกยึดกับเฮลิคอปเตอร์เพื่อส่งน้ำให้กับทีมดับเพลิงในจุดที่มีการเข้าถึงยาก มีขนาดกะทัดรัด พับจัดเก็บ ทำความสะอาดได้ง่าย และสะดวกต่อการซ่อมแซม
สำหรับประเทศไทย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการหาวิธีที่จะช่วยแก้ปัญหาเพื่อป้องกันภัยทางธรรมชาติ และได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนวัตกรรมดังต่อไปนี้ เพื่อช่วยเหลือประชาชนและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
1. Fon Faa Arkat : สถานีแจ้งเตือนภัยน้ำท่วมและสภาพอากาศอย่างแม่นยำด้วย AI สำหรับชุมชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น
เป็นการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการทำนายการเกิดฝนตกล่วงหน้าที่มีความแม่นยำ โดยใช้เทคโนโลยี Edge AI ที่สามารถใช้ในอุปกรณ์ขนาดเล็ก และสามารถทำงานได้แม้ในพื้นที่ที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต ซึ่งเหมาะกับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล มีราคาไม่แพง โดยสามารถแจ้งเตือนแบบ Real-Time ซึ่งทำให้ประชาชนสามารถวางแผนล่วงหน้าในการป้องกันภัยน้ำท่วม และการทำเกษตรกรรมได้ โดยมีการนำนวัตกรรมไปใช้แล้วในพื้นที่เทศบาลตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
2. EV Solar Cell Boat: เรือไฟฟ้า พลังงานโซล่าเซลล์ ร่วมกับ วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี
เป็นเรือที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า จากพลังงานที่เก็บประจุไว้ในแบตเตอรี่ สามารถชาร์จเก็บประจุได้จากพลังงานโซล่าเซลล์ ทำให้เรือไฟฟ้าทำการชาร์จพลังงานได้ต่อเนื่อง โดยเรือไฟฟ้าสามารถบรรจุคนได้ประมาณ 5 – 7 คน น้ำหนักรวมไม่เกิน 1,000 กิโลกรัม ทำความเร็วสูงสุดที่ 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถวิ่งตอนไม่มีแสงแดดได้ 4 ชั่วโมง และยังมีการเพิ่มชุดแปลงแรงดันไฟฟ้าให้ใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม หรือชาร์จโทรศัพท์มือถือได้ จะเห็นได้ว่าเรือไฟฟ้ายังเป็นตัวเลือกที่ดีในการเตรียมรับมือกับน้ำท่วม ประกอบกับมีคุณสมบัติที่ไม่สร้างมลพิษทางสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางเสียงที่จะส่งผลกระทบกับชุมชนริมน้ำอีกด้วย
3. Dr. Barrier: แอปพลิเคชันช่วยตัดสินใจในการชิงเผาเพื่อลดปัญหาไฟป่า ร่วมกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์พงษ์ธร วิจิตรกูล
เป็นการพัฒนาแอปพลิเคชันชิงเผา ที่เริ่มจากการประเมินความเสี่ยง ปริมาณการสะสมของเชื้อเพลิง สภาพอากาศ และสภาพภูมิประเทศ เพื่อกำหนดวันชิงเผาให้เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดไฟป่าที่รุนแรง และระบบยังสามารถประเมินจุดความร้อน (Hot Spot) จากการเผาและสามารถแนะนำวิธีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาภัยจากไฟป่าและการจัดการไฟป่าอย่างถูกวิธี โดยมีการนำนวัตกรรมไปใช้แล้วในพื้นที่ป่าจังหวัดอุตรดิตถ์
สุดท้ายนี้การป้องกันภัยจากธรรมชาติในปัจจุบันยังเป็นการป้องกันที่ปลายเหตุ ดังนั้นหากเราจะร่วมกันทำให้เกิดความยั่งยืนในการป้องกันภัยจากธรรมชาติ คงต้องช่วยกันเริ่มแก้ไขที่ต้นเหตุ ด้วยการปลูกฝังให้ประชาชนมีความรู้ ตระหนักถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาพื้นที่ป่าไม้ต้นน้ำ ไม่บุกรุกพื้นที่ทางธรรมชาติ ช่วยกันเฝ้าระวัง ควบคู่ไปกับการปรับตัว รู้จักที่จะนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ พร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- https://www.climaguard.co/blogs/climaguard-news/5-innovative-flood-prevention-products-for-2023
- https://www.megasecur.com/en
- https://thaipublica.org/2023/05/global-temperatures-to-break-records-in-next-five-years/
- https://www.thaiwater.net/uploads/contents/current/YearlyReport2022/rain2.html
- https://www.reuters.com/sustainability/cop/meltdown-west-antarctic-ice-sheet-unavoidable-study-says-2023-10-23/
บทความโดย
วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)