ระบบเฝ้าระวังช้างป่าโดยชุมชน ด้วยการประมวลผลภาพช้างป่าแบบอัตโนมัติ

ในปัจจุบันสถานการณ์ “ช้างป่า” ในพื้นที่ บ้านคลองตาอิน หมู่ 9 ตำบลคลองพลู อำเภอเขาคิชฌกูฏ จังหวัดจันทบุรี ได้มีปัญหาช้างป่าเข้ามากินและทำลายพืชผลในพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชน มาเป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี (ตั้งแต่ปี 2545) โดยการเข้ามาของช้างป่าในช่วงแรก เริ่มต้นจาก 4-5 ตัว แต่ปัจจุบันปี 2566 มีช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ชุมชน 20 ตัว ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนทุเรียน เงาะ มังคุด ลองกอง ยางพารา ปาล์ม และสวนมะพร้าว ทำให้ชุมชนในพื้นที่ต้องคอยเฝ้าระวังในการอยู่อาศัยและทำมาหากินกันอย่างยากลำบาก จากข้อมูลปี 2563 -2565 ชุมชนกว่า 538 ครัวเรือน ได้รับความเดือดร้อนจากช้างป่า สวนผลไม้ถูกทำลายจำนวน 3,180 ต้น รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 32,160,000 บาท นอกจากนี้ในปี 2563 – 2565 ยังมีสถิติผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากช้างป่า 1 ราย และมีผู้เสียชีวิตรวม 10 ราย

จากข้อมูลข้างต้นจึงทำให้เกิดการดำเนินโครงการระบบเฝ้าระวังช้างป่าโดยชุมชน ด้วยการประมวลผลภาพช้างป่าแบบอัตโนมัติ โดยสถานการณ์ของพื้นที่ที่มีช้างป่าลงมากินและทำลายพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ของเกษตรกรและพื้นที่ชุมชนรวมกว่าหมื่นไร่ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบกับชุมชนทั้งในด้านผลผลิตที่ถูกทำลาย รวมไปถึงการบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ดังนั้นเพื่อที่จะช่วยให้ทั้งคนและช้างป่าให้สามารถอยู่ร่วมกันได้ รวมทั้งการสร้างแนวทางการจัดการช่วยเหลือทั้งคนและช้างป่าเริ่มต้นจากชุมชนโดยไม่ใช้ความรุนแรง จึงมีการสร้างความเข้าใจและปรับวิธีคิดของชาวบ้าน ให้เข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการปัญหาช้างร่วมกัน และมีการหาวิธีการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ดังนั้นจึงได้มีแนวทางการกำหนดกิจกรรมของโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและศักยภาพของชุมชน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือการดำเนินงานด้วยการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นหลัก และการทำความเข้าใจบริบทของคนและช้างป่าในพื้นที่

ด้วยเหตุนี้การพัฒนาระบบเฝ้าระวังช้างป่าโดยชุมชนจึงได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาร่วมประสานกับการทำงานของกลุ่มอาสาในพื้นที่ กล่าวคือ การใช้เทคโนโลยีโดรนที่ติดตั้งระบบตรวจจับช้างแบบอัตโนมัติ นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยระบบ AI เพื่อประเมินจำนวนช้างป่า และแจ้งเตือนข้อความพร้อมรูปภาพไปที่แอปพลิเคชันไลน์ของกลุ่มอาสาสมัครเฝ้าระวังช้างป่า เมื่อมีช้างบุกรุกพื้นที่ของชุมชน ซึ่งโดรนสามารถขึ้นบินครอบคลุมพื้นที่ลาดตระเวนแบบอัตโนมัติ ได้ตามพื้นที่ที่กลุ่มอาสาสมัครกำหนด และตามระยะเวลาที่กลุ่มอาสาสมัคร ใช้ในการออกปฏิบัติงาน หรือสามารถปรับตั้งเวลาให้โดรนออกบินลาดตระเวนได้ตามต้องการ โดยจะมีการคำนวณระยะทางรอบการบินเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ รวมทั้งการตั้งสถานีเพื่อชาร์จแบตเตอรี่โดรนแบบอัตโนมัติด้วยระบบ Solar Cell ซึ่งสามารถช่วยลดแรงงานของกลุ่มจิตอาสา ลดเวลาในการออกลาดตระเวน อีกทั้งยังช่วยลดความเสียหายของพืชผลทางการเกษตรจากช้าป่าได้อีกด้วย ซึ่งโครงการนี้เป็นการต่อยอดจากบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) โดยหวังว่า “นวัตกรรม” จะเป็นทางออกให้ชุมชนและช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติต่อไป

นายณรงค์ธร  เนื้อจันทา
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)