คนแออัด รถติด และอุบัติเหตุบนท้องถนน ปัญหาช่วงเทศกาลที่จัดการได้ด้วยนวัตกรรม

หลังจากได้พักผ่อนหย่อนใจในวันหยุดยาวช่วงปีใหม่ ผู้คนก็พากันกลับสู่สถานที่ทำงาน กางปฏิทินที่เพิ่งได้รับแจกมา ลงแผนงานหรือทบทวนภาระหน้าที่ที่ต้องดำเนินการต่อในปี 2567 ขณะเดียวกันนั้นก็ไม่ลืมที่จะเช็ควันหยุดครั้งต่อไปเพื่อเป็นแรงบันดาลใจเล็กๆ ในการทำงาน เพราะนอกจากเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ที่เป็นวันหยุดครั้งใหญ่ของคนทั่วโลกแล้ว ประเทศไทยยังมีวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันสำคัญทางศาสนา หรือวันสำคัญของชาติที่รัฐบาลประกาศเป็นวันหยุดราชการให้ผู้คนออกไปร่วมงานเทศกาล ไม่เพียงแต่วันหยุดเท่านั้นที่เรียกผู้คนให้ออกมาทำกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจ วันสำคัญที่ไม่ได้ถูกประกาศเป็นวันหยุด เช่น วันวาเลนไทน์ วันตรุษจีน วันฮาโลวีน หรือวันลอยกระทง ก็มักจะมีมวลชนหลั่งไหลออกไปร่วมกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก

เรามักจะเห็นภาพว่าวันหยุดหรือเทศกาลต่างๆ นั้นเป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนจะออกมาดื่มด่ำกับบรรยากาศของวันสำคัญหรือเทศกาลนั้น แต่อีกด้านหนึ่งของเทศกาลก็จะมีภาพความแออัดของผู้คนในสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม ภาพปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนท้องถนนจากความประมาทเลินเล่อของคนใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะช่วงปีใหม่และเทศกาลสงกรานต์ที่เราจะเห็นภาพข่าวร้ายหรือเหตุสลดมาพร้อมกับภาพความสวยงามของเทศกาลอยู่เสมอ แม้ว่าเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะพยายามจัดการกับปัญหาเหล่านี้อยู่เรื่อยๆ ทุกปี แต่ก็ไม่สามารถจะลบภาพข่าวร้ายในช่วงเทศกาลไปได้ง่ายๆ เพราะปัญหาคนแออัด รถติด และอุบัติเหตุบนท้องถนน ไม่ใช่ปัญหาที่จะรับมือได้ด้วยกำลังของเจ้าหน้าที่เพียงอย่างเดียว นวัตกรรมจึงเป็นตัวช่วยสำคัญที่จะเข้ามาทุ่นแรง ทุ่นเวลา เสริมประสิทธิภาพและความแม่นยำในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งในต่างประเทศมีกรณีตัวอย่างการนำนวัตกรรมเข้ามาใช้แก้ปัญหาที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลมากมาย รวมถึงประเทศไทยเองก็มีนวัตกรรมที่น่าสนใจเช่นกัน จึงอยากชวนทุกท่านดูตัวอย่างนวัตกรรมที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยจัดการปัญหาดังกล่าวใน 2 ประเด็น ต่อไปนี้

นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาคนแออัด

โศกนาฏกรรมช่วงเทศกาลฮาโลวีน ปี 2565 ในเมืองอิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ เกิดจากการที่ผู้คนออกมาร่วมเฉลิมฉลองอัดแน่นในพื้นที่จนเป็นเหตุให้เกิดการเบียดเสียด ขาดอากาศหายใจและนำไปสู่การสูญเสียจำนวนมาก สร้างความสะเทือนใจไปทั่วโลก ซึ่งต่อมาในเทศกาลฮาโลวีน ปี 2566 ประเทศเกาหลีใต้ก็ถอดบทเรียนอย่างรวดเร็ว โดยนำเอานวัตกรรม Mirroring System ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เชื่อมต่อกล้องวงจรปิดที่มีอยู่ทั่วเมืองเพื่อนับจำนวนคนในพื้นที่แบบ real time และแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ทันทีเมื่อพบว่ามีผู้คนหนาแน่นมากเกินไป

ขอบคุณภาพจาก https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20231013000523

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาคนแออัดเบียดเสียดอาจเกิดจากการที่คนนอกพื้นที่ไม่ทราบความเป็นไปในบริเวณนั้น และพาตัวเองเข้าไปสู่สถานการณ์อันตราย ซึ่งวิธีแก้ปัญหาทางหนึ่ง คือ การสื่อสาร ประเทศเกาหลีใต้ก็มี ระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน หรือ Emergency Alert System (EAS) ที่มีประสิทธิภาพสูงมากจนได้รับการยอมรับจากสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น (CNN) จากการพาประชาชนชาวเกาหลีใต้ฝ่าวิกฤตโรคระบาดโควิด ด้วยการเป็นเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลใช้ติดตามการกระจายตัวของผู้ป่วยโควิด หรือแม้แต่เหตุร้ายที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ เช่น เหตุการณ์กราดยิงในศูนย์การค้าชื่อดังในประเทศไทยที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2566 นักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ก็ได้รับการเตือนภัยจากระบบ EAS และหลบหลีกจากที่เกิดเหตุได้ทันเวลา โดยระบบ EAS คือ การส่งข้อความฉุกเฉินผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่มีการทำงาน 2 วิธี คือ การใช้ระบบส่งข้อมูลผ่านเสาสัญญาณไปยังโทรศัพท์ (Cell Broadcast Service) เมื่อต้องการเข้าถึงประชาชนเป็นวงกว้าง และการส่งข้อความโดยระบุพิกัด (SMS Location-Based Service) เมื่อต้องการความเฉพาะเจาะจงของพื้นที่ในการแจ้งเตือน

ขอบคุณภาพจาก https://themomentum.co/report-emergency-alert-south-korea/ 

ในประเทศไทยเองก็มีนวัตกรรมที่ช่วยเฝ้าระวังเหตุร้ายในแหล่งท่องเที่ยวที่ผู้คนพลุกพล่านอย่างแพลตฟอร์ม S.N.A.P ที่จะช่วยสอดส่องผู้ร้ายหรือสถานการณ์อันตรายในพื้นที่ท่องเที่ยว โดยการเชื่อมโยงกล้องวงจรปิด CCTV จากหน่วยงานราชการต่างๆ มาแสดงผลบนแพลตฟอร์มเดียว แล้ววิเคราะห์ภาพด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เช่น พฤติกรรมในการเคลื่อนไหว อัตลักษณ์การแต่งกาย ประเภทและความหนาแน่นของยานพาหนะ เพื่อเป้าหมายในการป้องกันอุบัติเหตุและปราบปรามอาชญากรรม

นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนท้องถนน

สถานการณ์รถติดในเมืองท่องเที่ยวยังคงเป็นปัญหาที่มีมาอย่างต่อเนื่องและมากขึ้นทุกครั้งเมื่อเข้าสู่ช่วงเทศกาล แต่ประเทศสิงคโปร์เอาชนะปัญหานี้ได้ด้วยการทำระบบรถสาธารณะให้มีความคล่องตัวสูงสุดอย่างการมีบัตร EZ-Link ที่เรารู้จักกันดีเมื่อไปเยือนสิงคโปร์ว่าบัตรใบเดียวนี้เชื่อมต่อการเดินทางทุกสายตั้งแต่รถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ กระเช้าลอยฟ้าหรือรถแท็กซี่ และเมื่อปี 2563 ยังเพิ่มความลื่นไหลไปยังประเทศข้างเคียงอย่างมาเลเซียด้วยการร่วมมือเปิดตัวบัตรสองสัญชาติ Ez-Link x Touch n’ Go สิงคโปร์-มาเลเซีย ที่ผู้ใช้สามารถใช้จ่ายและเติมเงินได้ทั้งเงินสิงคโปร์ดอลลาร์และริงกิต

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีนวัตกรรม ‘ขับไปจ่ายไป’ อย่างระบบ Electronic Road Pricing (ERP) ที่จะทำการเก็บเงินค่าผ่านทางด้วยการตั้งซุ้ม (Gantry System) ด้านบนของถนนตามจุดต่างๆ เพื่อคอยสแกนผ่านอุปกรณ์ In-Vehicle Unit (IU) ที่ติดอยู่บนรถ นอกจากรถจะไม่ต้องหยุดจ่ายค่าทางด่วนแล้ว ERP ยังมีระบบปรับค่าผ่านทางตามช่วงเวลาได้ เช่น ในชั่วโมงเร่งด่วน ค่าผ่านทางจะแพงขึ้น แต่ถ้าเป็นเวลากลางคืนที่รถน้อย เรตก็จะถูกลง เพื่อเป็นการกระจายรถออกไปจากพื้นที่ในเมืองและเป็นการควบคุมการจราจรอีกทางหนึ่ง และในเร็วๆ นี้ องค์การขนส่งทางบกสิงคโปร์ (LTA) จะพัฒนาระบบ ERP ดังกล่าวไปอีกขั้น โดยเปลี่ยนจาก IU เป็นกล่อง On-Board Unit (OBU) ที่สามารถสื่อสารผ่านสัญญาณดาวเทียมได้ เพื่อติดตามการใช้ถนนของรถแต่ละคันและคำนวนค่าใช้ถนนตามจริง รวมถึงนำข้อมูลการใช้รถของคนในประเทศมาวิเคราะห์สภาพการจราจรและปรับค่าผ่านทางให้ละเอียดยิ่งขึ้น

ประเทศไทยก็เริ่มนำแนวคิดขับไปจ่ายไปมาปรับใช้เช่นกัน โดยในปี 2565 กรมทางหลวงได้เปิดเลนใหม่บนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ที่ชื่อว่า M-FLOW ซึ่งเป็นนวัตกรรมการเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ในการอ่านป้ายทะเบียนรถอัตโนมัติ ร่วมกับระบบตรวจจับยานพาหนะและระบบยืนยันยานพาหนะอัตโนมัติ เพื่อระบุตัวตนผู้ใช้บริการ และจะมีการเรียกเก็บเงินค่าผ่านทางในภายหลัง (Post-Paid) ซึ่งเลือกชำระได้หลายรูปแบบทั้งการชำระเป็นรายครั้ง ชำระตามรอบบิล หรือชำระผ่านระบบตัดเงินอัตโนมัติ ผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องหยุดหรือชะลอรถเพื่อชำระค่าผ่านทางอีกต่อไป ทำให้เกิดการระบายรถที่เร็วขึ้นกว่าเดิมถึง 5 เท่า

ไม่ใช่แค่ปัญหารถติดเท่านั้น ข่าวสถิติอุบัติเหตุช่วง 7 วันอันตรายในช่วงปีใหม่และสงกรานต์ก็เป็นภาพสะท้อนปัญหาบนท้องถนนอีกอย่างสำหรับช่วงเทศกาล สาเหตุหลักก็หนีไม่พ้นการเมาแล้วขับ โดยในช่วงสงกรานต์ปี 2566 ที่ผ่านมา อุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยช่วง 7 วันอันตรายที่มีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับคิดเป็นร้อยละ 95.96 ของยอดอุบัติเหตุทั้งหมด ซึ่งการเมาแล้วขับไม่ใช่ปัญหาที่เกิดขึ้นแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาที่ประเทศอื่นทั่วโลกต่างพบเจอ สภาความปลอดภัยทางด้านการคมนาคมยุโรปจึงได้กำหนดให้มีการติดตั้ง Alcohol interlock บนรถของผู้ที่มีประวัติเมาแล้วขับทุกคัน โดย Alcohol interlock นี้ คือ นวัตกรรมที่จะช่วยป้องกันการเมาแล้วขับ โดยถูกออกแบบมาเป็นอุปกรณ์วัดระดับแอลกอฮอล์ที่ติดตั้งอยู่บนรถ ซึ่งผู้ขับขี่จะต้องเป่าลมเข้าไปในอุปกรณ์นี้ก่อนจะสตาร์ทรถทุกครั้ง หากอุปกรณ์ Alcohol interlock ตรวจพบว่าผู้ขับมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายสูงเกินระดับปลอดภัยในการขับรถ อุปกรณ์จะปฏิเสธการออกตัวทันที

อีกปัญหาบนท้องถนนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือ อุบัติเหตุขณะข้ามถนนบนทางม้าลาย ซึ่งในประเทศไทยกำลังจะครบรอบ 2 ปี อุบัติเหตุที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมอย่างกรณีหมอกระต่าย ในวันที่ 21 ม.ค. และวันดังกล่าวได้ถูกประกาศเป็น “วันความปลอดภัยของผู้ใช้ถนน” ด้วย ซึ่งก็ช่วยกระตุ้นจิตสำนึกได้ระดับหนึ่ง แต่เราอาจเพิ่มนวัตกรรมมาช่วยให้การข้ามถนนบนทางม้าลายปลอดภัยขึ้นได้ เช่น นวัตกรรม Smartpass ในโปแลนด์ ที่ทำให้ทางม้าลายฉลาดขึ้นโดยการติดตั้งอุปกรณ์บริเวณทางม้าลายที่จะมีระบบอินฟราเรดคอยตรวจจับว่ามีคนจะข้ามถนน แล้วสั่งการให้ไฟบนพื้นถนนรอบๆ ทางม้าลายสว่างขึ้นอัตโนมัติ มีสัญญาณเสียงช่วยเตือน และมีเสาป้ายเตือนเป็นไฟกระพริบเหนือศีรษะเพื่อแจ้งให้คนขับรับรู้แต่ไกลด้วย นอกจากนี้อุปกรณ์ Smartpass ยังมีการบันทึกข้อมูลด้วยระบบเรดาร์เพื่อวัดความเร็วของรถที่กำลังวิ่งเข้ามา และมีกล้องวงจรปิดสำหรับดูคนข้ามถนนแบบ real time

การที่ผู้คนออกไปเฉลิมฉลองและขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลนั้นเป็นเรื่องที่ดี แต่เราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงปัญหาที่แฝงมากับช่วงเทศกาลได้เช่นกัน ขณะที่ภาครัฐหรือเจ้าหน้าที่กำลังเผชิญความท้าทายของปัญหา ประชาชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาได้โดยการเป็นหูเป็นตา ให้ความร่วมมือ และไม่เป็นผู้ก่อเหตุเสียเอง มากไปกว่านั้นยังสามารถช่วยกันคิดค้นสร้างสรรค์เครื่องมือแก้ปัญหาซึ่งอาจจะเป็นนวัตกรรมที่เริ่มต้นจากเรื่องใกล้ตัว ทาง NIA ยังมีพื้นที่เปิดกว้างพร้อมสนับสนุนนวัตกรรมจัดการปัญหาคนแออัด รถติด และอุบัติเหตุบนท้องถนน เพื่อไม่ให้เวลาแห่งความสุขในช่วงเทศกาลต้องกลายเป็นความทรงจำแสนเศร้าของใครอีกต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง

บทความโดย
หัฏฐฌา กองจิว (เอย)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)