“กระดาษสา” คือกระดาษทำมือชนิดหนึ่งที่ทำมาจากเยื่อปอสา หนึ่งในสินค้าที่ผสานภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีผิวสัมผัสเป็นเอกลักษณ์ สามารถทำลวดลายและสีสันได้มากมาย มีประวัติความเป็นมายาวนาน มีความหมายทั้งเชิงสัญลักษณ์ และมีคุณค่าทางจิตใจของชาวอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ แต่พวกเขาไม่เคยหยุดพัฒนา จนวันนี้พวกเขาสามารถพัฒนากระดาษทางเลือกใหม่ ที่สามารถช่วยสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น นั่นคือ “กระดาษจากเส้นใยกล้วย” และ “กระดาษจากเปลือกข้าวโพด”
กระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ คือทางเลือกในปัจจุบัน แต่คือทางรอดในอนาคต
คุณโกสินทร์ มหาวิไลย์ (คุณเต๋า) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ใจเหนือ บิซ คอนซัลท์ จำกัด นักธุรกิจที่เกิดและเติบโตในสันกำแพง พาเรามาดูแหล่งผลิตกระดาษสาที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือที่อำเภอสันกำแพง ถึงบรรยากาศจะเงียบไปสักหน่อย ไม่คึกคักเท่าไร แต่ก็ยังมีร่องรอยความรุ่งเรืองในอดีต โดยเมื่ออดีต นักท่องเที่ยวมักจะมาแวะที่อำเภอนี้ และต้องแวะซื้อ “ร่มบ่อสร้าง” กลับไปเป็นของที่ระลึกถึงการมาเยือนจังหวัดเชียงใหม่ … ซึ่งหนึ่งในวัตถุดิบยอดนิยมในการทำร่มนั้น คือ “กระดาษสา” … ในระหว่างการเดินทางไปดูแหล่งผลิต พี่เต๋าเล่าให้เราฟังว่า “พี่ทันยุคที่กระดาษสารุ่งเรืองด้วยนะ เมื่อก่อนแถวนี้ร่มกระดาษสาหลายสีแขวนเรียงกันเลย สดใสมาก นักท่องเที่ยวแน่นมาก แล้วก็มีของกระจุกกระจิกจากกระดาษสามากมายนับไม่ถ้วน ชาวบ้านแถวนี้นอกจากจะออกไปทำการเกษตรแล้ว ก็มีการทำกระดาษสากันที่บ้านเป็นอาชีพเสริม แต่ละบ้านจะมีเทคนิคเคล็ดลับการทำสีที่ไม่เหมือนกัน ต้องเป็นลูกหลานถึงจะบอกสูตรกัน” พี่เต๋าเล่าให้ฟังอย่างภาคภูมิใจในฐานะคนท้องถิ่นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับกระดาษสา
เมื่อขับเลยเข้าไปยังถนนสันกำแพงเส้นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน พี่เต๋าพาเราแวะเอาของและแวะทักทายเจ้าของร้านขายส่งกระดาษสาอย่างเป็นกันเอง สร้างความรู้สึกเหมือนการลงพื้นที่ติดตามโครงการพร้อมได้รับการนำเที่ยวโดยไกด์ท้องถิ่น ซึ่งทำให้เราสามารถเชื่อมโยงความรู้สึกของคนในพื้นที่ ที่ยังเห็นความสำคัญของกระดาษสา และพยายามอนุรักษ์ไว้อย่างสุดฝีมือ เพราะคุณป้าร้านขายกระดาษสา รายใหญ่เล่าให้เราฟังว่า กระดาษสาเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตชุมชนและงานพิธีทางพุทธศาสนามากมาย เช่น การทำตุง การทำโคมของชาวเหนือ หรือแม้กระทั่งการทำดอกไม้จันทน์ ซึ่งวัตถุดิบส่วนใหญ่ยังจำเป็นต้องใช้กระดาษสาเป็นจำนวนมาก แต่วัตถุดิบดั้งเดิมยิ่งนานวันยิ่งหายาก และนี่จึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจในการพัฒนากระดาษจากวัตถุดิบทดแทนของพี่เต๋า “พี่ไม่อยากให้สิ่งนี้หายไป เรารู้ว่าการทำกระดาษมันยังไปได้ ต่างประเทศยังคงให้ความสนใจกระดาษประเภทนี้อยู่ เราเลยอยากจะสร้างรายได้เสริมให้ชุมชนบ้านเกิด ด้วยการรับซื้อวัตถุดิบจากชาวบ้าน ทั้งกล้วย ทั้งเปลือกข้าวโพด เพื่อนำมาพัฒนากระดาษจากเส้นใยธรรมชาติ ทดแทนวัตถุดิบปอสา และส่งต่องานการพับขึ้นรูปกล่องกระดาษให้ชุมชนด้วย”
วัตถุดิบจากธรรมชาติเหมือนกัน แต่ไม่เหมือนกัน … พี่เต๋าเล่าต่อว่า “สภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน ทำให้กระดาษสาที่ทำมาจากเปลือกของต้นปอสา หายากขึ้นทุกวัน บางทีก็ต้องถึงขั้นตัดโค่นต้นไม้ “ ต่างจากเส้นใยกล้วยหรือเปลือกข้าวโพด ซึ่งมีฟังก์ชันทุกอย่างเหมือนกระดาษสา สามารถทำลวดลายหรือสีสันได้หลากหลายเหมือนกัน และที่สำคัญ “กล้วย” นั้นหาได้ง่าย ใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน คุณสมบัติเส้นใยของกล้วยมีทั้งความยาวและความเหนียว หรือแม้แต่ “เปลือกข้าวโพด” ซึ่งเป็นวัตถุดิบเหลือทิ้ง แทบไม่มีราคา และสร้างความลำบากให้เกษตรกรในการทำลาย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเผา จนนำไปสู่สาเหตุของการเกิด PM 2.5” … “เราอยู่ในธุรกิจนี้ทุกวัน เรารู้ว่าวัตถุดิบปอสานี้ ไม่ค่อยยั่งยืนแล้ว หายาก มีราคาแพง ซึ่งไม่เหมือนเมื่อก่อน เราเลยคิดจะลองนำเปลือกข้าวโพดหรือกล้วยมาทำสิ่งที่เราถนัด โดยเริ่มจากกล้วยก่อน เพราะหาง่ายแถวนี้ จึงเริ่มทดลองทำก่อน และต่อมาก็ได้เริ่มนำเปลือกข้าวโพดมาทำด้วย แต่แค่เปลี่ยนวัตถุก็อาจจะธรรมดาไป จึงคิดว่า… ทำไมเราไม่ลดจุดด้อยของกระดาษ ด้วยการเพิ่มคุณสมบัติกันการลามไฟเข้าไป” … และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการขอรับการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ในโครงการ “บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากเส้นใยกล้วย”
เมื่อเราถามพี่เต๋าว่า แนวโน้มปริมาณการใช้กระดาษ น่าจะต้องลดลงเนื่องจากหลาย ๆ กิจกรรมถูกแทนที่ด้วยอุปกรณ์ดิจิทัลมากมายในชีวิตประจำวัน จากกระดาษธรรมดาที่เหมือนคนใช้น้อยลงทุกวันแล้ว และเมื่อเป็นกระดาษจากใยกล้วยแบบนี้ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตสูงกว่ากระดาษทั่วไปประมาณ 10% จะขายได้จริงหรือ … พี่เต๋าได้แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า “พี่เชื่อว่า กระดาษไม่มีวันหายไป โดยเฉพาะกระดาษที่ทำจากวัสดุธรรมชาติที่มีวิถีการผลิตแบบ Circular Economy ซึ่งตอนนี้ยังเป็น Blue Ocean โดยระหว่างทำโครงการเรามีการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ มีร้านค้าปลีกรายใหญ่หลายรายเริ่มให้ความสนใจ ถึงแม้คำสั่งซื้อในไทยอาจจะเข้ามายังไม่มาก เพราะต้องให้เวลากับการปรับพฤติกรรมของผู้ใช้งาน แต่ชาวต่างชาติให้ความนิยมสูงมากและมีคำสั่งซื้อสินค้าเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะกระดาษพวกนี้ทำมือทั้งหมด แต่ละแผ่นแตกต่างกัน มีความเป็น Limited มาก สามารถสั่งทำลวดลายเฉพาะ หรือติดแบรนด์เองได้ จึงสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของเขาได้”
และอีกเหตุผลคือการที่เราไม่หยุดพัฒนาสินค้าของเรา โดยเพิ่มนวัตกรรมเรื่องฟังก์ชัน “การไม่ลามไฟ” โดยการเคลือบสารป้องกันการลามไฟทับกระดาษจากเส้นใยกล้วยอีกครั้ง ซึ่งเป็นสูตรสิขสิทธิ์เฉพาะของเรา ด้วยคุณสมบัติความเป็น “ใยกล้วย” ทำให้ผิววัสดุมีเอกลักษณ์เฉพาะ ในขณะที่ คุณสมบัติการไม่ลามไฟ ช่วยให้เราสร้างความแตกต่างจากผลิตภัณฑ์อื่นในตลาด กลายเป็นทางเลือกใหม่ของบรรจุภัณฑ์ที่ยังไม่มีในตลาด (คุณสมบัติ “การไม่ลามไฟ” คือ จุดไฟติด แต่ไฟไม่ลามไปยังสิ่งของบรรจุ จึงทำให้ลดความเสียหายของบรรจุภัณฑ์ภายใน) ซึ่งนอกจากจะขายในหมวดสินค้าทั่วไป เช่น นำไปทำกล่องใส่อาหารสำเร็จรูป หรือซองจดหมายแล้ว เรายังสามารถสร้างตลาดไปเติบโตในกลุ่มของตกแต่งบ้าน เช่น โคมไฟ และกลุ่มเครื่องสำอางที่ต้องการบรรจุภัณฑ์ที่มีความปลอดภัย ไม่ลามไฟ เพราะเครื่องสำอางบางชนิดมีส่วนประกอบของสารเคมีที่ติดไฟง่าย ซึ่งลูกค้ากลุ่มนี้พร้อมซื้อเนื่องจาก Margin ค่อนข้างสูง ส่วนเรื่องต้นทุนเราก็ไม่กังวล เพราะวันนี้เราเปิดตลาดก่อนเราได้เปรียบ ลูกค้ารู้จักเราแล้ว อย่างน้อยเราลดต้นทุนการตลาดก่อนเจ้าอื่น ส่วนในอนาคตจะมีการนำนวัตกรรมอื่นเข้ามาใช้เพิ่ม ก็ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้อีก
สำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ในอนาคต พี่เต๋าเล่าให้ฟังว่า “เมื่อเราเริ่มทำกล่องได้ เราก็คิดต่อไปยังฟังก์ชันการไม่ซึมน้ำ ทำให้สามารถนำวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร เช่น เปลือกข้าวโพด หรือกากใยกล้วยมาทำเป็นของแต่งบ้านจำพวก จานรองแก้ว แผ่นกรองกันฝุ่น และอีกมากมาย ซึ่งคาดว่าจะออกสู่ตลาดระดับ Mass เร็ว ๆ นี้ได้”
จากการสัมภาษณ์วันนี้ สามารถสรุปได้ 3 คำ ซึ่งเป็น Key Success ของพี่เต๋าได้ว่า “เริ่มต้นจากสิ่งที่เราทำได้ดี” “นำมาพัฒนาต่อยอดด้วยแนวคิดนวัตกรรม” และ “ลงมือทำเพื่อตอบสนองทิศทางตลาดในอนาคต” … เราเชื่ออย่างที่พี่เต๋าบอก เรื่องกระดาษจากเส้นใยธรรมชาติที่วันนี้ยังเป็นทางเลือก แต่วันหน้าจะกลายเป็นทางรอด … มาร่วมเป็นกำลังใจให้ผลิตภัณฑ์ที่ใส่ใจกระบวนการผลิตและรักษ์โลก เพื่อเพิ่มทางรอดในสภาวะโลกเดือดของพวกเรากันนะคะ
ช่องทางติดตามผลงาน สั่งซื้อกระดาษ และเข้าร่วมกิจกรรมศูนย์เรียนรู้กระดาษทำมือ
- ศูนย์เรียนรู้กระดาษทำมือ PAPA PAPER Workshop
Facebook: https://www.facebook.com/papacrafttour - PAPA PAPER ผลิตและส่งออกเยื่อกระดาษสา ข้าวโพด – Thai fiber paper factory
Facebook: https://www.facebook.com/papapaperfactory - โทรศัพท์: 099 265 6459
- อีเมล: sales@papapaper.info
ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก
คุณโกสินทร์ มหาวิไลย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ใจเหนือ บิซ คอนซัลท์ จำกัด
โครงการ “บรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษไม่ลามไฟจากเส้นใยกล้วย”
บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)