“นวัตกรรมเพื่อป่าผืนต่อไปของเรา” The Next Forest

ในโลกยุคดิจิทัล มีอาชีพใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทั้งอินฟลูเอนเซอร์ ยูทูบเบอร์ ติ๊กต๊อกเกอร์ และยังมีอีกอาชีพที่หลายคนอาจจะยังนึกไม่ถึง นั่นก็คือ อาชีพ ผู้ให้คำปรึกษาและให้บริการด้านฟื้นฟูป่า ซึ่งเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างสูง โดยเฉพาะในสภาวะ โลกเดือด ในปัจจุบัน และถ้าคุณคิดว่าอาชีพนี้แลดูห่างไกลจากอาชีพที่ต้องใช้เทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และอาจไม่ใช่อาชีพในฝันของใครหลาย ๆ คน … เราหวังว่าบทสัมภาษณ์นี้ จะทำให้คุณเปลี่ยนความคิด และเห็นว่านวัตกรรมนั้น มีส่วนเข้ามาช่วยในการทำงานด้านป่าไม้และระบบนิเวศ รวมถึงยังสามารถสร้างโอกาสที่เปิดกว้างในสายอาชีพนี้มากขนาดไหน

ที่ผ่านมา เราต่างก็เข้าใจถึงความสำคัญในการดูแลสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรป่าไม้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นกระแสสากล (Global Trend) แต่หลายคนอาจไม่เคยทราบมาก่อนว่านอกจากเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว สิ่งนี้สามารถทำเป็นอาชีพได้ จนได้พบกับคุณจุฑาธิป ใจนวล (ปาย) อดีตนักวิจัยจากหน่วยวิจัยการฟื้นฟูป่า (Forest Restoration Research Unit หรือ FORRU) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ซึ่งมองเห็นโอกาสใน การเริ่มระดมทุนตั้งต้นธุรกิจ โดยได้รับโอกาสจากโครงการ “Banpu Champions For Change” ของ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion … จนได้ถือกำเนิด “The Next Forest” ธุรกิจบริการฟื้นฟูป่าแบบครบวงจร และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการเข้าร่วมเวทีประกวดต่าง ๆ

คุณจุฑาธิป ใจนวล กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด
ผู้ดำเนินโครงการ “นวัตกรรมการจำแนกชนิดพันธุ์ไม้โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ”

การฟื้นฟูระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่เรื่องของผืนป่า ผืนดิน สายน้ำ หรือการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ยังรวมถึงการฟื้นฟูวิถีชีวิต ผู้คน หรือชุมชนที่อาศัยบริเวณนั้นด้วย

“ช่วงแรกไปคุยกับใครก็ต้องอธิบายนานมากว่าเราทำอะไร เหมือนต้องทำ Elevator Pitch* ทุกครั้งเลย” คุณปายไม่โทษเราที่ไม่เข้าใจในโมเดลธุรกิจของเธอ พร้อมกล่าวอธิบายต่อว่า “อาชีพการดูแลและฟื้นฟูป่าไม้ หรือการดูแลระบบนิเวศโดยภาคเอกชนนั้น ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก แต่อาชีพนี้กลับกลายเป็นอาชีพที่มีความสำคัญ และเป็นความหวังในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ที่ลดลงอย่างน่าใจหายในปัจจุบันของประเทศไทย”

*[Elevator Pitch คือ การอธิบายธุรกิจให้น่าสนใจและกระชับภายในระยะเวลาที่สั้น เปรียบเสมือนเวลาที่ต้องอธิบายธุรกิจให้ผู้ฟังที่มีเวลาฟังเพียงแค่เวลาที่อยู่ในลิฟต์]

คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า การดูแลป่าไม้ คือ การปลูกป่า และไม่เผาป่า แต่คุณปายได้อธิบายให้เราฟังถึงสิ่งที่ The Next Forest ให้บริการในธุรกิจของเธอว่า “เราเริ่มให้บริการตั้งแต่การออกแบบพื้นที่ ว่าพื้นที่นี้เหมาะจะปลูกอะไร และปลูกอย่างไร เพื่อให้ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้ที่ดินของเจ้าของพื้นที่ โดยกระบวนการทำงานต้องเริ่มตั้งแต่การเข้าสำรวจสภาพพื้นที่จริง วิเคราะห์ระดับความเสื่อมโทรมของพื้นที่ ดูลักษณะดิน รวบรวมชนิดพืชพื้นถิ่นเดิม และพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด หลังจากนั้นการบริการจะครอบคลุมถึงการลงมือปลูกต้นไม้ ดูแลจนต้นไม้เติบโต และทำให้สิ่งแวดล้อมเริ่มฟื้นตัว ซึ่งหมายถึงความสามารถในการกักเก็บน้ำ การที่มีสัตว์เข้ามาอาศัย หรือคือการดูแลในระยะยาวนั้นเอง ในขณะที่อีกแหล่งรายได้มาจากการสวมหมวกนักวิชาการ ออกเผยแพร่ความรู้ในการฟื้นฟูป่าและการเพิ่มความหลายหลายทางชีวภาพให้กับผู้ที่สนใจ”

เมื่อได้ฟังเรื่องราวแล้ว เรารู้สึกว่าธุรกิจนี้ต้องใช้ทั้งแรงใจ แรงกายและองค์ความรู้มากมายในการสร้างขึ้นมา จึงไม่รอช้าที่จะชวนมาทำความรู้จักกับ NIA … จนในที่สุด คุณปายได้รับทุนสนับสนุนจากฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม ผ่านโครงการ “นวัตกรรมการจำแนกชนิดพันธุ์ไม้โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ”

วันนี้โครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีโอกาสเชิญคุณปายมาช่วยเล่าให้ฟังถึงปัจจัยความสำเร็จอีกครั้ง “โครงการนี้ คือ การออกแบบโปรแกรมประมวลและจำแนกภาพด้วย Machine learning โดยวิธีการ Maximum likelihood ด้วยชุดข้อมูลภาพที่ทำการถ่ายด้วยโดรน และสร้างโปรแกรมที่สามารถจำแนกชนิดพันธุ์ไม้หลักในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้เราทำได้ 4 ชนิด ได้แก่ สัก ประดู่ป่า รัง และเหียง ซึ่งความยากนั้นอยู่ที่การสอนให้โปรแกรมสามารถจำแนกชนิดพันธุ์ได้จากสีสะท้อนตามช่วงเวลา ทรงพุ่ม และเรือนยอด ที่ต้องถ่ายรูปเก็บข้อมูลตลอดทั้ง 3 ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผลลัพธ์นั้นค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจ โดยผลวิเคราะห์นั้น มีความถูกต้องสูงกว่า ร้อยละ 80 … ซึ่งนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนนี้ ถือเป็นการติดอาวุธใหม่ให้กับธุรกิจเลยก็ว่าได้ เพราะปัจจุบันยังไม่มีใครพัฒนาโปรแกรมการวิเคราะห์ภาพถ่ายจากโดรนในลักษณะนี้ … เมื่อเทียบกับการสำรวจแบบเดิมด้วยแรงงานคน การสำรวจพื้นที่ 100 ไร่ ทีมงานจะต้องเดินทาง ไป-กลับ พื้นที่ จำนวน 2 รอบ และใช้เวลาประมาณ 14 วันจึงจะสำรวจแล้วเสร็จ แต่ด้วยนวัตกรรมนี้ทำให้ทีมงานใช้เวลาเพียง 2 วันในการสำรวจพื้นที่จำนวน 100 ไร่ ช่วยลดต้นทุนได้มากกว่า 7 เท่า

ระหว่างที่ฟังคุณปายอธิบายผลงานจากการนำนวัตกรรมไปใช้นั้น เราเกิดความสงสัยว่า ระหว่างการดูแลฟื้นฟูหนึ่งพื้นที่นั้น น่าจะไม่ง่าย อีกทั้งยังต้องเข้า-ออกพื้นที่นั้นบ่อย อุปสรรคนอกจากการทำงานกับต้นไม้ เรื่องของ“คน” ก็น่าจะมีส่วนสำคัญไม่น้อย คุณปายได้ให้คำตอบเรื่องนี้ว่า “เนื่องจากเราไม่ได้แค่รับปลูก แต่เราดูแลสุขภาพต้นไม้โดยรวมด้วย กระบวนการที่ยังต้องมีคนเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การวัดเส้นรอบวง เพื่อดูความสมบูรณ์ของต้นไม้ และเมื่อลงพื้นที่จริง ช่วงแรกจะมีชาวบ้านแปลงข้างเคียงมาถามบ่อย ว่ามาทำอะไร บุกรุกหรือเปล่า ช่วงแรกจึงต้องใช้เวลาพอสมควรไปกับการอธิบายการทำงานของเรา บางคนก็ไม่เชื่อ นึกว่าเราถูกจ้างมาปลูกต้นไม้เฉย ๆ เดี๋ยวก็เหี่ยวแห้งไป แต่พอเจอทีมเราบ่อยขึ้น ลงแปลงทุกเดือน หลัง ๆ เริ่มมาเรียนรู้ด้วย แล้วชาวบ้านก็เริ่มมีความเข้าใจในตัวงานของเรา  เพราะเราถ่ายทอดถึงผลกระทบที่เราสามารถช่วยพื้นที่ได้  เรียกได้ว่าเราพัฒนาไปคู่กัน ทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศพร้อมทั้งวิถีชีวิตชุมชน

สุดท้ายคนในชุมชนหลายคนกลายเป็นอาสามาช่วยเราปลูกต้นไม้ด้วย บางท่านก็น่ารักมาก หลัง ๆ ช่วยดูแลแปลง มีไฟไหม้แปลงใกล้ ๆ ก็โทรมาบอก มีคนอื่นที่ไม่คุ้นหน้า ก็โทรมาบอกเราว่าใช่ทีมเราไหม … ส่วนใหญ่ที่เราไป ชุมชนในพื้นที่น่ารักและช่วยเหลือดีมาก ๆ … พอมีคนต้อนรับเราดี เราเลยมีโมเดลแบ่งปันรายได้ให้ชุมชนด้วย ชวนชุมชนมาเป็น Partner กับเรา ให้เขามาร่วมตั้งแต่การช่วยปลูก ใส่ปุ๋ย ดูแลรดน้ำ ส่วนนี้เรามองว่า Win-Win เป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนด้วย เนื่องจากการที่เรามีคนดูแลในพื้นที่อย่างใกล้ชิด จะเป็นประโยชน์ต่อการฟื้นฟูในระยะยาวอย่างมาก”

แน่นอนว่าเราได้ยินผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้แล้วทำให้ใจฟู แต่ก็หวังว่าบริษัทจะไม่หยุดเท่านี้ คุณปายจึงเสริมว่า “ในอนาคตยังมีแผนพัฒนาข้อมูลอีกมากเพื่อให้ผลลัพธ์มีความแม่นยำมากขึ้น แพลตฟอร์มและวิธีการที่เราได้มายังสามารถนำไปต่อยอดได้อีกหลายเรื่องตามแต่วัตถุประสงค์ของลูกค้า กลุ่มลูกค้ามีทั้งภาครัฐที่ต้องการบริหารพื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หรือเอกชนทั้งรายใหญ่ รายย่อย และกลุ่มที่สนใจเรื่องคาร์บอนเครดิต รวมถึงการจัดกิจกรรมการศึกษาเรียนรู้ทางธรรมชาติให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชน อีกทั้งในภาคการศึกษาเราก็ยังไม่ทิ้ง การเผยแพร่ความรู้และร่วมมือกับศูนย์วิจัยต่าง ๆ ยังเป็นส่วนที่เรายินดีช่วยเหลืออยู่ตลอด ซึ่งเป้าหมายในอนาคตอันใกล้ที่กำลังผลักดัน คือ เรื่องการสร้างพื้นที่ตัวอย่างสวนป่าจิ๋วในเมือง สำหรับบุคคลทั่วไปที่ต้องการสร้างป่าจิ๋วบนพื้นที่ของตนเองและเพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตชุมชนเมือง และเรื่องการฟื้นฟูป่าผืนใหญ่ในเขตชุมชน โดยเริ่มจากพื้นที่จังหวัดน่าน ซึ่งมีพื้นที่หลายส่วนที่ต้องการการฟื้นฟู”

ปัจจุบัน “ศาสตร์การดูแลระบบนิเวศ” นั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้จะแพร่หลายในต่างประเทศโดยเฉพาะในทวีปยุโรป และในขณะที่ประเทศในแถบเอเชีย ก็เริ่มมีการตื่นตัวเช่นกัน นำโดยประเทศจีน ที่ล่าสุดได้อนุมัติหลักสูตรการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี และเริ่มเปิดให้มีการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป ซึ่งล้วนเป็นสาขาใหม่ที่ตอบสนองต่อโลกอนาคต จำนวนทั้งสิ้น 24 สาขา และ 3 สาขาเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและป่าไม้โดยเฉพาะ ได้แก่ การฟื้นฟูระบบนิเวศ (生态修复学),เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์สิ่งมีชีวิต (生物育种技术),และวิศวกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะทางการเกษตรและป่าไม้ (农林智能装备工程)

จะเห็นได้ว่า จากแนวโน้มทิศทางเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม และเป้าหมายการลดคาร์บอนของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จะยิ่งช่วยเปิดโอกาสของสายอาชีพนี้ให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวของ The Next Forest นี้จะเป็นแรงบันดาลใจ ให้มีนวัตกรหน้าใหม่เข้ามาพัฒนานวัตกรรม และร่วมกันดูแลระบบนิเวศของประเทศไทยมากยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

ช่องทางติดตาม บริษัท เดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด
Facebook: The Next Forest 
https://www.facebook.com/Thenextforest
Email: nextforests.info@gmail.com

ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก
คุณจุฑาธิป ใจนวล กรรมการ บริษัท เดอะ เน็กซ์ ฟอเร็ซ จำกัด
ผู้ดำเนินโครงการ “นวัตกรรมการจำแนกชนิดพันธุ์ไม้โดยใช้อากาศยานไร้คนขับ”


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • ข่าวหลักสูตรการสอนของประเทศจีน สาขาใหม่ระดับปริญญาตรี จำนวน 24 สาขา อนุมัติโดยรัฐบาลจีนให้เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป, Facebook Page: อ้ายจง

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)