“ปัญหาสุขภาพจิตกับคนวัยทำงาน” ในปัจจุบันถือว่าเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง จากการที่คนวัยทำงานต้องแบกรับสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งความคาดหวังผลสำเร็จจากการทำงาน การเลื่อนตำแหน่ง การเติบโตในหน้าที่การงาน การทำงานล่วงเวลาที่ค่อนข้างยาวนาน การทำงานที่เกินกว่าความสามารถและการที่ต้องทำงานได้หลากหลายตามความต้องการขององค์กร การทำงานที่ไม่ตรงตามความถนัดของแต่ละบุคคล การแบกรับความคาดหวังจากครอบครัวและสังคม การติดสื่อโซเซียลมีเดียต่าง ๆ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตทั้งสิ้น…อยากลองชวนผู้อ่านมาคิดดูว่า “จะทำอย่างไรให้คนวัยทำงานที่เริ่มประสบปัญหาและกำลังเผชิญกับปัญหาสุขภาพจิตก้าวผ่านพ้นปัญหาได้”
หากมองไปยังแนวทางแก้ปัญหาขององค์กรที่เป็นนายจ้างของคนวัยทำงาน จะเห็นหลากหลายองค์กรมีการจัดตั้ง “Team Building” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์อันดีของทุกคนในองค์กร การปรับทัศนคติในการทำงานให้ตรงกัน การอยู่ร่วมกันอย่างเข้าอกเข้าใจ การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความสุข ซึ่งหน้าที่หลักของ Team Building จะเป็นการจัดกิจกรรมที่เชื่อมสัมพันธ์ของคนในองค์กร ทั้งการจัดอบรม สัมมนาหรือกิจกรรม Outing เพื่อให้ทุกคนได้ใช้เวลาร่วมกันและเรียนรู้พฤติกรรมของแต่ละบุคคล โดยในปัจจุบันแต่ละองค์กรได้มีการนำวิทยากรผู้สร้างแรงบันดาลใจและความสัมพันธ์มาร่วมดำเนินกิจกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิผลของกิจกรรมให้เข้าถึงบุคลากรในองค์กรได้มากยิ่งขึ้น
ในมุมมองของคนวัยทำงาน การที่องค์กรมีสวัสดิการหรือมีการจัดกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ภายในองค์กร ช่วยให้สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานได้ดีและเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่ของตัวเองภายในองค์กรได้ดีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้คนกลุ่มนี้เกิดความรักและความผูกพันกับองค์กร เนื่องจากเป็นการแสดงถึงความใส่ใจต่อพนักงานขององค์กรนั้น ๆ
จากความต้องการขององค์กรต่าง ๆ ที่อยากพัฒนาศักยภาพและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของบุคลากรภายในองค์กร ทำให้ คุณวินัดดา จ่าพา หรือ คุณวิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโค แลป จำกัด ที่มีประสบการณ์และดำเนินงานเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต โดยนักจิตวิทยา ผ่านแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า “Relationflip” จึงมองเห็นโอกาสทางธุรกิจโดยการเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรต่าง ๆ ในการร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมภายในองค์กรของ Team Building ด้วยการเข้าไปร่วมรังสรรค์กิจกรรมที่เข้ากับวัฒนธรรมของแต่ละองค์กร การนำทีมจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเข้าไปร่วมในกิจกรรมเพื่อให้เข้าถึงและเข้าใจบุคลากรแต่ละคน การจัดกิจกรรมรับฟังปัญหาและแนะนำแนวทางการจัดการกับปัญหาที่ถูกต้องให้บุคลากรในองค์กรนั้น ๆ ซึ่งบริษัทได้ร่วมทำงานกับองค์กรต่าง ๆ มากมาย ทั้งองค์กรขนาดใหญ่และขนาดกลาง
คุณวิ ได้เล่าว่า “จริงๆ แล้ว ปัญหาสุขภาพจิตของแต่ละคนช่างแตกต่างกันเหลือเกิน การจัดกิจกรรมในรูปแบบ Team Building ภายในองค์กรอาจจะยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละบุคคล เพราะแต่ละคนต่างมีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ทั้งปัญหาสุขภาพร่างกายที่ส่งผลไปยังสุขภาพทางใจ ปัญหาความรักความสัมพันธ์ ปัญหาของการจัดการกับอารมณ์และความรู้สึก การรับมือกับความสูญเสีย การอยากได้ที่ระบายหรือคนที่จะสามารถรับฟังปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ การมีคนที่จะสามารถแชร์สิ่งที่อยากเล่าหรือกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันเพื่อให้ตัวเองรู้สึกว่าไม่ได้เผชิญอยู่กับปัญหานั้นคนเดียว จึงเกิดไอเดียที่จะนำกลุ่มคนที่ประสบปัญหาเดียวกันมารวมตัวกัน ร่วมออกทริปเดินทางไปด้วยกัน ไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่จะพาไปพักผ่อนได้อย่างสบายใจสามารถเปิดใจแชร์เรื่องราวที่ประสบพบเจอให้เพื่อนร่วมทริปได้ฟัง ร่วมเรียนรู้จากประสบการณ์ของเพื่อนร่วมทริปท่านอื่น ๆ โดยเรียกกิจกรรมนี้ว่า Group Dynamic นอกจากเพื่อนร่วมทริปแล้วความพิเศษของการท่องเที่ยวรูปแบบนี้ คือการมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์จะพาคุณเปิดใจและชวนคุณทำกิจกรรมที่จะทำให้คุณผ่อนคลายและบำบัดสภาพจิตใจให้ดีขึ้น พร้อมกับการให้คำแนะนำดี ๆ ในการใช้ชีวิต ให้ผู้ร่วมทริปสามารถเข้าใจปัญหา ยอมรับ และรับมือกับปัญหาได้อย่างเข้าใจ นอกจากความพิเศษของการมีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาร่วมทริปแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวที่ไปยังเป็น กลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและเหมาะสมกับทริปแต่ละประเภท ผ่านการเข้าไปสำรวจของทีมบริษัทฯ และการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน จึงนับได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้กับวิสาหกิจชุมชนได้เป็นอย่างดี”
เมื่อคิดได้เช่นนั้นแล้ว คุณวิจึงได้ติดต่อเข้ามาที่ NIA เพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมและยื่นขอรับการสนับสนุนภายใต้โครงการ “นวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน” ในชื่อโครงการ “นวัตกรรมท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ใหม่เพื่อการดูแลจิตใจของคนวัยทำงาน”
สำหรับการพัฒนาแพลตฟอร์ม คุณวิตั้งใจให้แพลตฟอร์มมีชื่อว่า “Tourapy” ซึ่งเป็นการนำเอาคำว่า Tour + Therapy มารวมกัน เพื่อสื่อถึงการท่องเที่ยวที่มากกว่าแค่การเที่ยวพักผ่อน แต่เป็นการบำบัดจิตใจ พร้อมกับการได้รับคำแนะนำและแนวทางการดำเนินชีวิตดี ๆ ไปปรับใช้ ภายใต้คอนเซปต์ Experience + Emotion + Exercise ทริปสั้น ๆ ที่แฝงไปด้วยคุณค่าเเห่งการตระหนักรู้ อยู่กับความเป็นจริงในโจทย์ของความสัมพันธ์ ทั้งในโลกส่วนตัวและการทำงาน อีกหนึ่งความตั้งใจคือการเชื่อมโยงเข้ากับแพลตฟอร์ม “Relationflip” ที่ให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของคนวัยทำงานและได้ร่วมงานกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้บริการแพลตฟอร์มสามารถกดเข้าไปจองทริปกับแพลตฟอร์ม Tourapy ได้อย่างง่ายดาย
แพลตฟอร์ม Tourapy เป็นแพลตฟอร์มที่นำเสนอทริปการท่องเที่ยวตามโจทย์ปัญหาด้านความสัมพันธ์และปัญหาที่พบเจอได้บ่อยของคนวัยทำงาน เช่น ทัวร์ Burnout Brownout ทัวร์อกหัก ตัดใจ ทัวร์ Move on ก้าวต่อไป ทัวร์โสดแล้วไง เข้าใจตัวเอง ทัวร์มือที่สาม คบซ้อนซ่อนเงื่อน ทัวร์ไม่แน่ใจ ยังใช่ฉันรึเปล่า ทัวร์ Finding yourself เป็นต้น
นอกจากกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนวัยทำงานแล้ว พอได้ดำเนินโครงการไปอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดกลุ่มลูกค้าใหม่ คือ กลุ่มลูกค้าผู้สูงอายุวัยเกษียณ ที่ต้องการท่องเที่ยวพักผ่อนจิตใจ รวมกลุ่มกับเพื่อน ๆ วัยเดียวกัน แชร์เรื่องราวและทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งถือเป็นหนึ่งความสำเร็จของโครงการ ที่แสดงให้เห็นว่า นอกจากคนวัยทำงานแล้ว คนวัยเกษียณก็ต้องการท่องเที่ยวพักผ่อนจิตใจเช่นกัน เนื่องจากคนกลุ่มนี้เคยทำงานมาก่อน เมื่อถึงวัยเกษียณต้องอยู่แต่ที่บ้านหรือทำกิจกรรมเพียงลำพัง มีการพบปะเพื่อนฝูงน้อย ทำให้เกิดความเหงา การได้ออกมาท่องเที่ยวร่วมกับเพื่อนวัยใกล้เคียงกัน ได้แชร์เรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาและได้เล่าถึงสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ จึงถือได้ว่าเป็นการบำบัดจิตใจที่ดีไม่น้อย
จากเรื่องราวที่ได้กล่าวมาทั้งหมด จะเห็นว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตใจ เป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย เมื่อเรารู้สึกไม่โอเคกับสิ่งที่เป็นอยู่ ควรหาวิธีที่จะจัดการกับสิ่งเหล่านั้นอย่างถูกต้องและเหมาะสม หนึ่งในแนวทางที่ดีที่สุดคือการขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพื่อให้เราก้าวผ่านทุกปัญหาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย โดยไม่ต้องรู้สึกแปลก ๆ หรือรู้สึกอายแต่อย่างใด
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เรื่องราวของ Tourapy จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการที่มีแนวความคิดเกี่ยวกับนวัตกรรมดีๆ เพื่อสังคม โดยเฉพาะสังคมเมืองที่มีความกดดันและการแข่งขันสูง และอีกหนึ่งความหวัง คือ หวังว่า…ทุกคนจะสามารถก้าวผ่านปัญหาและเรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตได้อย่างเข้าใจและสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกวิธี
ช่องทางติดตาม: Tourapy
• Facebook Page: Tourapy
• Email: [email protected]
• Tel: 094-546-2646
ขอขอบคุณบทสัมภาษณ์และรูปภาพจาก
• คุณวินัดดา จ่าพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไซโค แลป จำกัด ผู้ดำเนินโครงการ “นวัตกรรมท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ใหม่เพื่อการดูแลจิตใจของคนวัยทำงาน”
บทความโดย
ภาลัดดา เนื่องแก้ว (เอิร์น)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
ผู้สัมภาษณ์และผู้เรียบเรียง