กรณีศึกษาชุมชนสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด
“ห่วงโซ่การผลิต…จากการปลูกข้าวสู่การเลี้ยงโคเนื้อคุณภาพ”
โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมดำเนินงานเข้าสู่ปีที่ 7 โดยหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายที่ประสบความสำเร็จ คือ ชุมชนสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด มีขอบเขตพื้นที่การดำเนินงานภายในอำเภอปทุมรัตน์และหนึ่งตำบลในอำเภอโพนทราย โดยเป็นพื้นที่หนึ่งในภาคอีสานที่มีศักยภาพด้านการปลูกข้าวพันธุ์พื้นบ้านรวมถึงมีวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมที่เกี่ยวโยงกับการผลิตและบริโภคข้าวพันธุ์พื้นบ้านมาอย่างยาวนาน โดยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลที่อยู่ในเขตทุ่งกุลาร้องไห้แหล่งผลิตข้าวหอมมะลิที่มีคุณภาพของไทย โดยในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านทำให้ในปัจจุบันพบสายพันธุ์ข้าวพื้นบ้านในพื้นที่จำนวนถึงกว่า 20 สายพันธุ์ อย่างไรก็ดีกลุ่มชุมชนที่ทำนาข้าวอินทรีย์ภายในอำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด ต้องการหาทางเลือกใหม่ๆ ในการพัฒนาสินค้าเกษตรในพื้นที่ให้มีมูลค่าสูงรวมไปถึงการต่อยอดสร้างรายได้เพิ่มขึ้นจากเมล็ดข้าวที่หักขายได้ราคาต่ำ นอกจากนี้ในพื้นที่อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ยังมีหลายกลุ่มชุมชนที่ต้องการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวที่มีอยู่ในพื้นที่ค่อนข้างมากเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกข้าวแปลงใหญ่ และในกลุ่มเกษตรกรปลูกผักต้องการยกระดับกระบวนการปลูกผักอินทรีย์ที่มีมูลค่าสูงและสามารถสร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคในด้านความปลอดภัยในการซื้อสินค้า อย่างไรก็ดีในส่วนของเครือข่ายเกษตรกรกลุ่มเลี้ยงโคเนื้อที่มีความต้องการพัฒนาสายพันธุ์โคพื้นเมืองเพื่อผลิตลูกโคเนื้อคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด และสามารถควบคุมกำลังการผลิตลูกโคเนื้อที่มีคุณภาพและสามารถส่งเข้าตลาดได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการขั้นตอนการเลี้ยงโคขุนตามมาตรฐานเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือที่สามารถตรวจสอบกระบวนการผลิตย้อนกลับได้ และสามารถยกระดับไปสู่การเลี้ยงแบบสมาร์ทฟาร์ม นำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องและสามารถสร้างเครือข่ายนักผสมเทียมเพื่อตรวจสอบความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ การผสมเทียม การตรวจท้อง และการช่วยคลอด เพื่อให้ได้สายพันธุ์โคที่ผลิตในพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยแนวทางการพัฒนาทั้งหมดนั้นริเริ่มมาจากความต้องการของชุมชนที่ต้องการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรในพื้นที่ชุมชนสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด ในการร่วมมือพัฒนาพื้นที่ชุมชนของตนเองจากวัตถุดิบและศักยภาพในพื้นที่ก่อให้เกิดการพัฒนาบนพื้นฐานการสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง
วิสาหกิจชุมชนนาแปลงใหญ่บ้านหนองคู-โคกเพ็ก และเครือข่ายชุมชนจำนวน 1,050 คน ในพื้นที่อำเภอปทุมรัตน์ ยังมุ่งเน้นการพัฒนาและการบริหารจัดการโคเนื้อพันธุ์พื้นเมืองด้วยการผลิตอาหารโคเนื้อจากการสร้างมูลค่าเศษฟางเหลือใช้ในพื้นที่เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เพื่อใช้ทั้งภายในและนอกชุมชน โดยกลุ่มเกษตรกรมีวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่นนำมาผลิตเองได้ โดยผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการสามารถลดต้นทุนและพัฒนารายได้จากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งได้ผลผลิตจากการเลี้ยงสัตว์ที่มีคุณภาพมากขึ้นพร้อมกับมีความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของเศษฟางข้าวโดยมีคุณค่าทางโภชนาการโปรตีนสูงถึงร้อยละ 16 และต้นทุนอาหารโคเนื้อลดลง 2-3 บาทต่อกิโลกรัม โดยเครือข่ายกลุ่มชุมชนขายได้กำไร 2,300 – 6,000 บาท/ตัว (ขึ้นอยู่กับน้ำหนัก) และเกษตรกรในเครือข่ายสามารถนำวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วยการพึ่งพาตนเอง และสามารถลดการซื้ออาหารสัตว์จากภายนอกชุมชนด้วยการขยายผลเทคโนโลยีการผลิตอาหารสัตว์ที่มีคุณค่าทางโภชนาการสำหรับการเลี้ยงสัตว์ในชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป
ด้านการบริหารจัดการฟาร์มโคเนื้อ โดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรยั่งยืนตำบลหนองแคน และเครือข่ายชุมชนโคเนื้อในอำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน 1,405 คน ชุมชนได้มีการใช้งานแอปพลิเคชันเพื่อบริหารจัดการฟาร์มและเก็บข้อมูล ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ที่สามารถนำข้อมูลต่าง ๆ มาวิเคราะห์ในการจัดการฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การบันทึกพันธุ์ประวัติโคเนื้อ การผสมพันธุ์ การบันทึกสุขภาพสัตว์ให้สอดคล้องกับเกณฑ์มาตรฐานฟาร์มโคเนื้อของกรมปศุสัตว์ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถบันทึกการเจริญเติบโต และสามารถขอรับคำปรึกษาจากสัตวแพทย์ได้ผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อตรวจสอบสภาวะที่เหมาะสมในกระบวนการผลิต โดยการนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ประโยชน์เพื่อยกระดับการเลี้ยงแบบสมาร์ทฟาร์ม นำไปสู่การพัฒนาฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถยกระดับสายพันธุ์โคพื้นเมืองที่ผลิตในพื้นที่อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด และมีบัญชีแม่โค จำนวน 497 ตัว โดยรสชาติเนื้อมีเอกลักษณ์หอมและนุ่ม พร้อมทั้งสามารถสร้างกระบวนการควบคุมและตรวจสอบการผลิตได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้ได้ลูกโคเนื้อคุณภาพดีเป็นที่ต้องการของตลาด และชุมชนมองเห็นโอกาสในการพัฒนากระบวนการตัดแต่งและแปรรูปสู่การผลิตโคเนื้อมูลค่าสูงต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ขยายผลในเขตพื้นที่อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด อีกหลายโครงการ เช่น ด้านระบบควบคุมเกษตรอัตโนมัติและแม่นยำ มีการนำโครงการ V-PROMPT: ระบบควบคุมอุณภูมิและความชื้นในโรงเรือนด้วยระบบ IoT Smart farm มาแก้ไขปัญหาการเพาะปลูกเมล่อนที่ยังต้องพึ่งพาปัจจัยสภาพแวดล้อมหรือฤดูกาล ทำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถสร้างมูลค่าผลผลิตที่มีความต้องการของตลาดได้ และการนำโครงการ FarmConnect: ระบบบริหารจัดการน้ำเกษตรแม่นยำสำหรับชุมชน มาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำสำหรับการปลูกผักที่เหมาะสมตามความต้องการของพืชแต่ละชนิด ทำให้ชุมชนลดต้นทุนในกระบวนการผลิตได้ นอกจากนี้ ยังมีการนำโครงการระบบบริหารจัดการน้ำแบบไฮโดรกริดผสมผสานสารปรับปรุงดินสำหรับการปลูกดอกพลับพลึง มาแก้ไขปัญหาในหน้าแล้งที่ไม่สามารถปลูกพลับพลึงในพื้นที่ได้ แต่ยังมีความต้องการของตลาด โดยระบบดังกล่าวสามารถทำให้ชุมชนในพื้นที่สามารถปลูกพลับพลึงในหน้าแล้งได้และสามารถเพิ่มกำลังการผลิต ส่งผลให้ชุมชนมีรายได้มากขึ้น ด้านนวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ มีการพัฒนานวัตกรรมหลักสูตรการบริหารจัดการเกษตรอินทรีย์ครบวงจรสำหรับกลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวแปลงใหญ่โดยสามารถใช้สารชีวภัณฑ์ในการช่วยป้องกันโรคในต้นข้าว และส่งเสริมการเพิ่มรายได้จากการปลูกแตงโมอินทรีย์หลังการทำนา นอกจากนี้ สำหรับกลุ่มปลูกผัก มีการถ่ายทอดนวัตกรรมสารชีวภัณฑ์และควบคุมแมลงศัตรูพืชด้วยศัตรูพืชทางธรรมชาติ เพื่อให้ชุมชนเกิดการรวมกลุ่มดำเนินกิจการปลูกผักตามมาตรฐานที่ตลาดรับรอง รวมทั้งชุมชนมีการบริหารจัดการบัญชีหลังบ้านได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น และมีการขยายผลกระบวนการผลิตสารปรับปรุงดินและน้ำสกัดชีวภาพจากมูลโคสำหรับเกษตรกรเลี้ยงวัวที่มีวัตถุดิบในพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นสารปรับปรุงดินซึ่งเป็นทางเลือกในการทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีและช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น และโครงการสุดท้ายที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มข้าวฮางหักท่อนให้กับเครือข่ายเกษตรกรปลูกข้าวในพื้นที่อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด หนึ่งในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่ทำให้ผลผลิตคงความเป็นเอกลักษณ์รสชาติหอมนุ่มกลมกล่อม สร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางถึงคุณภาพได้เป็นอย่างดี โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลศรีสว่าง มีความต้องการยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มของข้าวฮางหักท่อนที่ขายได้ในราคาต่ำจึงได้มีโอกาสทำงานร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในการขยายผลกระบวนการผลิตน้ำนมข้าวฮางงอกจากข้าวอินทรีย์ที่คงสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินแร่ธาตุที่สำคัญ และสามารถลดระยะเวลาในการทำงานตลอดกระบวนการลง เมื่อเปรียบเทียบกับกรรมวิธีการผลิตแบบดั้งเดิม โดยสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มของวัตถุดิบจากข้าวฮางอินทรีย์ที่แตกหักไปใช้ประโยชน์ และก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากขึ้น ทำให้ชุมชนสามารถมีทางเลือกในการสร้างรายได้จากน้ำนมข้าวฮางหักท่อน เกิดผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มน้ำนมทางเลือกสำหรับผู้แพ้นมวัวที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น โดยมีผู้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 1,467 คน
ทั้งนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา ทำให้กลุ่มชุมชนในพื้นที่ชุมชนสาเกตนคร จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับประโยชน์จำนวน 7,985 คน คิดเป็นร้อยละ 14.54 ของจำนวนประชากรในพื้นที่เป้าหมาย (54,916 คน) และได้เป็นพื้นที่ต้นแบบที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง เนื่องจากศักยภาพของกลุ่มผู้นำชุมชนที่มีความมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาของพื้นที่ด้วยผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ ทำให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายของกลุ่มชุมชนทุก ๆ กลุ่มในการแลกเปลี่ยนข้อมูลไม่ว่าจะเป็น วัตถุดิบ ตลาด และองค์ความรู้ ทำให้พื้นที่เป้าหมายแห่งนี้เกิดการสร้างระบบนิเวศของนวัตกรรมเพื่อสังคมอย่างแท้จริง และหัวใจสำคัญที่เป็นการประสานงานให้ทุกอย่างราบรื่นด้วยดีไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี มิติด้านมุมมองการปรับเปลี่ยน รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาที่เป็นรูปแบบชัดเจน คือ พี่เลี้ยงนวัตกรชุมชน ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาชุมชนในแต่ละโครงการ ทำให้เกิดผลลัพท์ที่เป็นปัจจัยความสำเร็จในการสร้างโมเดลหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม สุดท้ายนี้ NIA หวังเป็นอย่างยิ่งว่า โมเดลดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนด้านเครือข่ายองค์ความรู้ เครือข่ายที่ปรึกษานวัตกรชุมชน บุคลากรที่ช่วยดูแลในพื้นที่เป้าหมาย ตลอดจนทุนสนับสนุนบางส่วน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากมุมมองของชุมชนจะเห็นว่า NIA นั้นเป็นหน่วยงานที่ชุมชนสามารถเข้าถึงได้ และนวัตกรรมไม่ใช่เรื่องที่เข้าใจยากเกินไปสำหรับชุมชนที่มีความต้องการที่ชัดเจนและพร้อมลงมือแก้ไขปัญหาพื้นที่ของตนด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้ เมื่อดำเนินการประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดีแล้ว สามารถเป็นต้นแบบหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สามารถขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและวิถีชีวิตด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปพร้อมกันอย่างยั่งยืน
บทความโดย
วรรณิตา ทองพัด (ขิม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)