นวัตกรรมเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับก่อนและหลังวัยเกษียณ (Innovation for Pre & Post Retirement Preparation)
การเข้าสู่สังคมสูงวัย (Aging Society) เป็นคำที่เราได้ยินกันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ซึ่งขณะนั้นมีประชากรไทยที่อายุเกิน 60 ปี ราวร้อยละ 10 แต่ผ่านไปไม่ถึง 20 ปี ขณะนี้ ประเทศไทยได้เข้าสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว (Aged Society) นั่นคือ ประชากรมากกว่าร้อยละ 20 เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีการคาดการณ์ว่า ภายในปี 2576 หรืออีกไม่ถึง 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-Aged Society) โดยประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 28 หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด จากสถิติและการคาดการณ์นี้ ทำให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าผู้สูงวัยจะเต็มเมืองในอีกไม่ช้า การที่ประชากรกลุ่มใหญ่เป็นวัยที่ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว และยังมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยสูงกว่าวัยอื่น ๆ นับว่าเป็นเรื่องท้าทายสำหรับประเทศไทยในการจัดสรรการดูแลให้ทั่วถึง หากต้องการเข้าสู่วัยเกษียณโดยไม่ต้องให้ลูกหลานเป็นห่วง หรือต้องรอคอยสวัสดิการจากภาครัฐ ก็จำเป็นต้องเริ่มวางแผนและปรับตัวตั้งแต่ในวันที่หน้าที่การงานยังมั่นคงและยังคงมีรายได้จากการทำงานอยู่ ดังนั้น การเตรียมความพร้อมก่อนวัยเกษียณและการเตรียมความสำหรับหลังวัยเกษียณ ต่างเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญทั้งคู่ เพื่อให้เกิดการเกษียณอย่างไร้รอยต่อในชีวิต
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมดังกล่าว จึงได้ดำเนินงานภายใต้โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2568 (City & Community Innovation Challenge 2025) เพื่อเปิดรับนวัตกรรมเพื่อสังคมในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับก่อนและหลังวัยเกษียณ” (Innovation for Pre & Post Retirement Preparation) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็น วัยก่อนเกษียณ ในช่วงอายุ 40-60 ปี และวัยหลังเกษียณ ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งออกเป็น 5 หัวข้อย่อยที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้
1. นวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพทางกายเชิงป้องกัน (Preventive Medicine for Physical Health)
NIA มองหานวัตกรรมเพื่อการรับมือโรคภัยที่มาตามวัย เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน โรคกระดูกและข้อ โรคจอตาเสื่อม ฯลฯ โดยมุ่งเน้นไปที่การป้องกัน ครอบคลุมตั้งแต่การตรวจเช็คสุขภาพ การประเมินความเสี่ยง การเสริมหรือควบคุมอาหาร การตรวจรักษา รวมถึงการนำเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกลมาปรับใช้ เพื่อลดระยะเวลาในการพบแพทย์และลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้การดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม
ตัวอย่างนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพทางกายเชิงป้องกันที่ได้รับการสนับสนุนจาก NIA เช่น
- นวัตกรรม DR.ASA: ระบบการจัดการข้อมูลทางการแพทย์สำหรับการเเพทย์ระดับปฐมภูมิ
- นวัตกรรม Healthy and Me: แพลตฟอร์มลดน้ำหนักออนไลน์เฉพาะบุคคลด้วยเอไอ
- นวัตกรรม Visulize: ซอฟต์แวร์ตรวจคัดกรองความผิดปกติของจอประสาทตา
2. นวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพทางจิตใจและการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ (Mental Health Care and Emotional Wellness)
- นวัตกรรม Botnoi: สมาร์ทแชทบอทสำหรับปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต
- นวัตกรรม Gennev: คลินิกวัยทองออนไลน์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่ให้คำปรึกษาปัญหาต่างๆ ของวัยทองผ่านวิดีโอคอล
3. นวัตกรรมเพื่อกิจกรรมทางสังคมและโอกาสในการทำงาน (Social Activity and Work Opportunity)
- นวัตกรรม ยังแฮปปี้: ระบบเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าและพึ่งพาตัวเองได้
- นวัตกรรม Hire.Seniors: เว็บไซต์จ้างงานในประเทศมาเลเซีย เพื่อจ้างงานกลุ่มคนระดับ senior หรือคนที่เกษียณอายุแล้ว โดยเน้นงานให้คำปรึกษาตามความถนัดของคนสูงวัย สำหรับธุรกิจที่ต้องการคำแนะนำ
- นวัตกรรม Senior Plane: เว็บไซต์รวบรวมคอร์สเรียนฟรี ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีการจัดชั้นเรียนสำหรับผู้สูงวัยทั้งแบบ on-site และ online
4. นวัตกรรมเพื่อการดูแลคนในครอบครัว (Family Caregiver)
- นวัตกรรม จอยไรด์: ลูกรับจ้าง หลานจำเป็น
- นวัตกรรม Go Mamma: แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งสำหรับผู้สูงอายุ
- นวัตกรรม VR Care Giver Training: ระบบฝึกทักษะการดูแลผู้สูงอายุติดเตียงแบบเสมือนจริง
5. นวัตกรรมเพื่อการวางแผนและการจัดการชีวิตหลังเกษียณ (Life Planning for Retirement)
- นวัตกรรม Noburo Grow: ระบบด้านการเงิน การงาน และการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน
- นวัตกรรม Share Souls: แพลตฟอร์มอนุสรณ์ออนไลน์
- นวัตกรรม MyWishes: แพลตฟอร์มฟรีเพื่อให้บริการในการเขียนพินัยกรรม พันธสัญญาสุดท้าย การจัดการข้อมูลดิจิทัล และการวางแผนงานศพ
- นวัตกรรม Phonely: แอปพลิเคชันเพื่อป้องกันกลโกงทางโทรศัพท์
ในแต่ละหัวข้อย่อย ต่างก็มีตัวอย่างนวัตกรรมที่น่าสนใจ ซึ่งสามารถหยิบยกไปเป็นไอเดียในการพัฒนานวัตกรรมต่อยอดเพื่อตอบโจทย์การเตรียมความพร้อมสำหรับก่อนและหลังวัยเกษียณในบริบทปัจจุบันของสังคมไทยได้ สำหรับผู้ที่สนใจร่วมเสนอโครงการในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อการเตรียมความพร้อมสำหรับก่อนและหลังวัยเกษียณ” (Innovation for Pre & Post Retirement Preparation) วงเงินสนับสนุนสูงสุด 1.5 ล้านบาทต่อโครงการ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สมัครยื่นข้อเสนอโครงการได้ที่ https://mis.nia.or.th/ ภายในวันที่ 11 ตุลาคม 2567