หลังจากจบการเลือกตั้งใหญ่ของทางฝั่งสหรัฐอเมริการะหว่าง อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กับรองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส เมื่อไม่นานมานี้เอง ทำให้เราทราบผลว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งนี้ไป และดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 โดยถือว่าชัยชนะการเลือกตั้งในครั้งนี้ทำให้ทรัมป์ได้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่ 2 จากที่เคยชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกและเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนที่ 45 เมื่อปี ค.ศ. 2017
ทุกการเลือกตั้งต่างส่งผลต่อการกำหนดทิศทางอนาคตในพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะการเลือกตั้งใหญ่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารการปกครองบ้านเมือง ทำให้พรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันจะมีแนวโน้มที่จะออกนโยบายกำหนดทิศทางของประเทศที่มีความแตกต่างกันตามไปด้วย อย่างเช่น โครงสร้างทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาที่มีสองพรรคการเมืองจากสองขั้วอุดมการณ์ความคิด โดยพรรครีพับลิกัน มีนโยบายมีแนวโน้มไปในทางอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม (Conservative) มากกว่า ในขณะเดียวกันทางฝั่งของพรรคเดโมแครต ที่มีแนวทางออกไปในเชิงเสรีนิยม (Liberal)
เช่นเดียวกับกระแสอุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันของสองพรรคใหญ่ อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกผู้นำคนต่อไปของประเทศนั้นก็คือค่านิยมอุดมการณ์ทางการเมืองของประชาชน อย่างที่หลายคนอาจเคยได้ยินการเรียกกลุ่มคนแต่ละกลุ่มว่า ฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ที่แยกออกตามความเชื่อโดยที่ฝ่ายซ้ายหมายถึงฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเสรีนิยมในทางกลับกันฝ่ายขวาหมายถึงฝ่ายที่สนับสนุนแนวคิดเชิงอนุรักษ์นิยม นอกจากนั้นยังมีปัจจัยในด้านสังคมและเศรษฐกิจปัจจุบันของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ทั้งฝั่งทรัมป์และแฮร์ริสต่างออกนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วยลักษณะการดำเนินนโยบายที่แตกต่างกันตามอุดมการณ์ทางการเมือง การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการที่สะท้อนถึงเสียงของประชาชนและความต้องการทิศทางในการก้าวต่อไปของประเทศ
ในส่วนของประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ที่อุดมการณ์แนวคิดทางการเมืองเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเลือกตั้งผู้นำ อย่างการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในแต่ละครั้ง แตกต่างกันที่โครงสร้างทางการเมืองของประเทศไทยที่มีพรรคการเมืองมากกว่าสองพรรคในแต่ละการเลือกตั้ง ถึงอย่างนั้นภาพรวมของแต่ละพรรคก็สะท้อนภาพลักษณ์ทางการเมืองที่ทำให้เราสามารถพิจารณาได้ว่าแต่ละพรรคมีแนวโน้มอุดมการณ์ทางการเมืองไปในทิศทางใด
ความสำคัญของการกำหนดนโยบายสาธารณะขึ้นอยู่กับแนวคิด ค่านิยมและความเชื่อของแต่ละพรรค ทำให้กลุ่มเป้าหมายของแต่ละพรรคเป็นกลุ่มคนที่มีแนวคิด ความเชื่อ และค่านิยมทางการเมืองต่างกันไปด้วย แต่นั้นไม่ได้หมายความว่าแนวคิดทางการเมืองจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้หรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่ต่างกันสุดขั้วจะไม่มีจุดร่วมทางความคิดกันเลย ด้วยความต้องการในการพัฒนาประเทศและเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้นจากนโยบายของรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง การเมืองจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวและอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกคนไม่ว่าจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใด
สำหรับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) ที่มีบทบาทเป็นผู้กำหนดทิศทางนวัตกรรม (Focal Conductor) จากกลยุทธ์การสร้างระบบข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมที่เชื่อมโยงกันเป็นอีกองค์กรในการเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดเป้าหมายในการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบาย ที่เป็นนวัตกรรมการสร้างเครื่องมือและการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายสาธารณะใหม่ที่ใช้ได้จริง พร้อมกับมุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายนวัตกรรมที่ตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลง ประกอบกับในปัจจุบันที่ประเทศไทยอยู่ในยุคหลัง COVID-19 ที่พยายามฟื้นฟูทั้งสภาพเศรษฐกิจและสังคม การออกนโยบายสาธาณะที่จะเอื้อประโยชน์ต่อประชาชนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งพัฒนาและนำนวัตกรรมเข้ามามีส่วนช่วยผลักดัน เพื่อเป็นกระบอกเสียงในการจัดตั้งนโยบายที่ตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาและสะท้อนความต้องการในการเปลี่ยนแปลงสังคมของประชาชน
หนึ่งในนวัตกกรรมเชิงนโยบายจากงาน Policy Innovation Recognition เวทีเชิดชูเกียรติผู้ขับเคลื่อนนวัตกรรมเชิงนโยบาย โดย NIA เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา นวัตกรรมเชิงนโยบาย “Policy Watch” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการติดตาม ตรวจสอบผลการดำเนินงานของนโยบายสาธารณะในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านรัฐธรรมนูญ กฎหมาย สังคม คุณภาพชีวิต การบริหารงานภาครัฐ การเกษตร การศึกษา ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในยุคสมัยที่โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเลือกตั้งที่เพิ่งเกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาก็ส่งผลต่อด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทย การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีของไทยที่ส่งผลต่อสังคมจากนโยบายที่ประกาศในช่วงของการหาเสียง การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ครอบคลุมถึงปัญหามลภาวะอย่างฝุ่น PM 2.5 ที่ยังไม่คลี่คลาย ปัญหาภัยพิบัติอย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาอุทกภัยในหลายจังหวัด การผลักดันให้เกิดการกำหนดนโยบายสาธารณะจึงมีความจำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งแพลตฟอร์ม Policy Watch เป็นเสมือนตัวกลางในการเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ในการติดตาม ตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงาน โดยการติดตามจะแบ่งออกเป็น 5 สถานะ ได้แก่ 1) เริ่มนโยบาย การนำประเด็นปัญหาที่จำเป็นต้องนำมาพัฒนา 2) วางแผน คิดค้นแนวทางเพื่อให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหา 3) ตัดสินใจ อยู่ในกระบวนการตัดสินใจและการพิจารณา 4) ดำเนินงาน ผลจากการพิจารณาออกเป็นนโยบาย และ 5) ประเมินผล จากนโยบาย กฎหมาย ที่ถูกประกาศใช้ แพลตฟอร์มมีการแสดงรายละเอียดของนโยบายและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและติดตามได้อย่างสะดวกและทันต่อเหตุการณ์
อีกหนึ่งตัวอย่างนวัตกรรมเชิงนโยบายโดย Thailand Policy Lab คือนโยบายเยาวชนเพื่อเยาวชนโดยเยาวชน “Policy for Youths by Youths” โดยการเปิดรับความคิดเห็น สำรวจข้อมูลสิ่งที่เยาวชนต้องเผชิญ พร้อมทั้งหาข้อมูลเชิงลึกผ่านการ Social Listening บนอินเทอร์เน็ต รวบรวมข้อมูลที่ได้ผ่านเข้าสู่กระบวนการระดมความคิด (Hackathon) เพื่อให้ได้มาซึ่งนโยบายจากเสียงของประชาชนคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง
จะเห็นได้ว่านโยบายเป็นส่วนสำคัญในการเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง การนำนวัตกรรมมาใช้จึงเป็นส่วนช่วยให้สามารถติดตาม ตรวจสอบ และเพิ่มการมีส่วนรวมจากภาคประชาชน NIA จึงให้ความสำคัญต่อการสร้างระบบนวัตกรรมที่เชื่อมโยงทุกเครือข่ายทุกภาคส่วน ด้วยหลักสูตร PPCIL (Public and Private Chief Innovation Leadership) การอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศ มุ่งเน้นในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนและผลักดันนโยบายให้เกิดขึ้นจริง โดยการแปลงแผนนวัตกรรมเชิงนโยบายสาธารณะสู่การปฏิบัติ ผ่านกลไกการสนับสนุนเชิงพื้นที่ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนแผนงานนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อให้เกิด Sandbox ที่เหมาะสมในการสร้างความร่วมมือ หรือหาทางออกร่วมกันในการพัฒนาประเทศให้ได้ประโยชน์สูงสุดต่อไป
อ้างอิง
- https://academy.nia.or.th/site/ppcil-2/
- https://thailandpolicylab.com/youth_poll_result_thai/
- https://policywatch.thaipbs.or.th/home
- https://www.bbc.com/thai/articles/cwygj2dewl0o
- https://www.springnews.co.th/news/infographic/851412
- https://www.pier.or.th/blog/2022/0801/
- https://www.bbc.co.uk/bitesize/guides/zmc6fg8/revision/8
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/346012