Go Blue Carbon ไปกับนวัตกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล

ปฏิเสธไม่ได้ว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งเป็นอีกหนึ่งการท่องเที่ยวที่ได้รับ ความนิยมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยบรรยากาศธรรมชาติที่มีความสวยงามและมีรูปแบบกิจกรรมที่หลากหลาย มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า โลกกำลังประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมทั้งคุณภาพของอากาศ การถดถอยของความหลากหลายทางชีวภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า บลูคาร์บอน ซึ่งหมายถึงการที่คาร์บอนถูกดูดซับไว้โดยมหาสมุทรและระบบนิเวศชายฝั่ง อาทิ ป่าชายเลน ที่ราบน้ำท่วมถึง แหล่งหญ้าทะเล และลุ่มน้ำเค็ม ระบบนิเวศเหล่านี้จะทำหน้าที่กักเก็บคาร์บอนในรูปแบบชีวมวลและการทับถมของตะกอนลงสู่ชั้นดิน ทั้งนี้ มีการศึกษาพบว่าป่าไม้ตามแนวชายฝั่ง

มีประสิทธิภาพในการดูดซับปริมาณก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าป่าทั่วไปถึง 4 เท่า[1] โดยสาเหตุ ที่พื้นที่ป่าชายเลน แหล่งหญ้าทะเล รวมถึงระบบนิเวศทางทะเลและริมชายฝั่งอื่น ๆ สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีกว่า เนื่องจากพื้นที่เหล่านี้สามารถดึงคาร์บอนลงไปกักเก็บไว้ในใต้ดินได้ถึงร้อยละ 50 – 99 อีกหนึ่งความสำคัญของระบบนิเวศชายฝั่งนอกจากการกักเก็บคาร์บอนแล้วยังมีหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลและที่หลบภัยของสัตว์น้ำ นอกจากนี้ยังมีหน้าที่บำบัดพร้อมกรองน้ำเสียก่อนไหลลงสู่ทะเล ช่วยลดความรุนแรงของคลื่น และเพิ่มผืนดินให้กับชายฝั่ง

ปัจจุบันอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทางทะเล มีหลายสาเหตุที่เป็นภัยคุกคามต่อระบบนิเวศชายฝั่งและระบบนิเวศทางทะเล ทำให้ระบบนิเวศทางทะเลเสื่อมโทรมลง อย่างไรก็ตาม จากรายงานของสหภาพยุโรป ยังพบว่าระบบนิเวศทางทะเล และชายฝั่งทั่วโลกได้ลดจำนวนอย่างรวดเร็วในช่วง 50 ปีหลัง[2] ส่งผลให้ความสามารถในการกักเก็บคาร์บอนในแต่ละปีลดลงตามไปด้วยถึงร้อยละ 2 – 7 หลายภาคส่วนจึงเกิดแนวคิดการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นกลไกในการขับเคลื่อนวิถีชีวิตแนวใหม่ ที่เรียกว่า การท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Tourism) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรงและทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ผสมผสานแนวคิดของการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการท่องเที่ยวแบบมีความรับผิดชอบเข้าไว้ด้วยกัน มีใจความสำคัญที่ว่า เที่ยวอย่างไรจึงจะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยที่สุด

การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สร้างความสะดวกสบายและเพิ่มประสบการณ์ที่น่าประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวนั้น ไม่เพียงแต่เน้นแสดงความสวยงามทางธรรมชาติ แต่ยังมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและการจัดการ       เพื่อสร้างความยั่งยืนและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยขอยกตัวอย่างนวัตกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้

 นวัตกรรมการเดินทางท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับทะเล

การพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เกิดจากแนวคิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Go Green ที่เล็งเห็นว่าการท่องเที่ยวจะต้องสอดคล้องกับวิถีการอนุรักษ์ และกิจกรรมการท่องเที่ยวจะต้องตรึงตาตรึงใจและสามารถปลูกจิตสำนึกในใจของผู้คนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการอนุรักษ์พลังงานไปด้วยกัน ปัจจุบันมีการพัฒนาเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์หลากหลายรูปแบบในประเทศไทย ที่สามารถนำพลังงานเข้ามากักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ โดยมีเป้าหมายในการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน

เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

ขณะเดียวกันได้มีการพัฒนาเรือไฟฟ้าลำแรกของไทย ในจังหวัดภูเก็ต-พังงา ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการท่องเที่ยวและความสวยงามของท้องทะเล ซึ่งเป็นเรือโดยสารทางทะเลขนาดใหญ่ โดยมีความยาว 20 เมตร ความกว้าง 6.38 เมตร ความสูง 4.92 เมตร น้ำหนักเรือรวม 35 ตัน ผลิตโดยวัสดุอะลูมิเนียมมีคุณสมบัติพิเศษ คือ น้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน ไม่เป็นสนิม ปลอดภัย และประหยัดพลังงาน ภายในห้องโดยสารมีทั้งหมด 78 ที่นั่ง รองรับผู้โดยสารได้สูงสุดเที่ยวละ 90 คน เวลาในการชาร์จไฟใช้เวลาประมาณ 4 ชั่วโมง สามารถแล่นได้ประมาณ 4 ชั่วโมง 30 นาที มีความเร็วปกติ 15 นอต และความเร็วสูงสุด 17 นอต[3]

เรือไฟฟ้า

นอกจากนี้ ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสวีเดน เมืองสตอกโฮล์ม ได้มีการพัฒนาเรือไฮโดรฟอยล์ไฟฟ้าลำแรกของโลก เป็นการนำเทคโนโลยีไฮโดรฟอยล์ ซึ่งเป็นปีกใต้น้ำที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ เพื่อบินเหนือผิวน้ำด้วยความเร็วสูง โดยไม่ได้รับผลกระทบจากคลื่นและลม โดยเรือมีความยาว 11.99 เมตร น้ำหนักเรือ 10 ตัน ภายในห้องโดยสารมีทั้งหมด 30 ที่นั่ง สามารถแล่นได้ประมาณ 30 ไมล์ต่อชั่วโมง ความเร็วในการให้บริการ 25 นอต[4]

เรือไฟฟ้า Candela P-12

นวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ทางทะเล

อีกหนึ่งทางเลือกที่หลายคนนิยมท่องเที่ยวคือ การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือ Ecotourism เป็นการท่องเที่ยวที่รับผิดชอบต่อธรรมชาติ นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และยังคงรักษาระบบนิเวศและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเอาไว้ เช่น กิจกรรมดำน้ำเพื่อชมและเรียนรู้ความเป็นอยู่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ของระบบนิเวศทางทะเล ซึ่งระบบนิเวศแหล่งหญ้าทะเลนั้น เป็นแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่ง อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นแหล่งหากินของสัตว์ทะเลนานาชนิด สัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลา กุ้ง ปู หอย ฯลฯ นอกจากนี้ยังสามารถพบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเลบางชนิดและพะยูน เนื่องจากกินหญ้าทะเลเป็นอาหาร และที่สำคัญเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนชั้นดี ปัจจุบันแหล่งหญ้าทะเลกำลังเสื่อมโทรมอย่างหนัก เป็นผลกระทบจาก ภาวะโลกร้อน  ซึ่งทั่วโลกตระหนักและให้ความสำคัญถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยได้มีการคิดค้นนวัตกรรมการฟื้นฟูและอนุรักษ์หญ้าทะเล โดยทำการศึกษาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้ากุยช่ายเข็ม (Halodule pinifolia) โดยนำเนื้อเยื่อส่วนเหง้าของหญ้ากุยช่ายเข็มมาฟอกในแอลกอฮอล์เข้มข้น ๕๐% เพื่อฆ่าเชื้อแล้วล้างด้วยน้ำทะเล ก่อนตัดแบ่งเป็นชิ้น นำลงเลี้ยงในอาหารกึ่งแข็งในน้ำทะเลผสมกับกลูโคส ผงวุ้น และอาหารเลี้ยงเชื้อสำเร็จรูป เพาะในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อและบันทึกอัตรารอด[5] และมีการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูก จะมีการสำรวจโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ทั้งการแปลข้อมูลดาวเทียมและการใช้โดรนรูปแบบต่างๆ สำรวจทางอากาศ พร้อมกับการสำรวจภาคสนามและการดำน้ำประเมินศักยภาพของพื้นที่[6]

ขณะเดียวกันประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐแคลิฟอร์เนีย นวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ปัญหานี้คือ หุ่นยนต์ “กราสโฮปเปอร์” ซึ่งพัฒนาโดยรีฟเจน สร้างขึ้นจากการผสมผสานระหว่างชิ้นส่วนที่มีจำหน่ายทั่วไปและชิ้นส่วนที่ผลิตด้วยเครื่องพิมพ์ 3 มิติ ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ หุ่นยนต์ใต้น้ำควบคุมระยะไกล มีการติดกล้องใต้น้ำ สามารถควบคุมด้วยจอยสติ๊กเกมส์ ทำให้กระบวนการปลูกหญ้าทะเลของหุ่นยนต์ทำได้อย่างแม่นยำ โดยการโหลดยอดหญ้าทะเลเข้าไปในตัวหุ่นยนต์ ติดกับหนามโลหะขนาดเล็ก และวางลงบนพื้นทะเล[7]

หุ่นยนต์ปลูกหญ้าทะเล กราสโฮปเปอร์

จะเห็นได้ว่า โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางทะเลอย่างมาก นวัตกรรมดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยลดผลกระทบเท่านั้น ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จำเป็นต้องเกิดจากความร่วมมือกันในหลาย ๆ ภาคส่วน จึงจะพิชิตเป้าหมายให้สำเร็จได้ ซึ่งบลูคาร์บอนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Net Zero

ขอบคุณที่มาของแหล่งข้อมูลจาก

บทความโดย
ปกรณ์ หลำสวัสดิ์ (เกม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)