ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจากเดิมเป็นที่รู้จักกันดีว่าปัญหาโลกร้อน แต่ขณะนี้เราได้เดินทางมาถึงจุดวิกฤตของโลกที่เรียกว่า ภาวะโลกเดือด เนื่องจากมนุษย์ตั้งแต่เริ่มมีการปฏิวัติอุตสาหกรรมก็ได้ใช้ทรัพยากรอย่างไร้ขีดจำกัด หรือกล่าวได้ว่ามีการทำกิจกรรมที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โอโซนในชั้นบรรยากาศถูกทำลาย ส่งผลให้รังสีอัลตราไวโอเลต สามารถผ่านมายังโลกได้โดยตรง รวมถึงทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นอยู่ที่ 1.1 – 1.2 องศาเซลเซียส แต่คงอีกไม่นานที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกจะสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ถ้าเรายังไม่เริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้
จากการจัดอันดับโดย Global Climate Risk Index (CRI) ปี 2564 ประเทศไทยจัดอยู่อันดับที่ 9 ของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (ปี 2543 – 2562) ซึ่งจากความเสี่ยงดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยต้องเร่งกำหนดแนวทางในการบูรณาการประเด็นด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุม 6 สาขา ได้แก่ 1) การจัดการน้ำ 2) การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 3) การท่องเที่ยว 4) ระบบสาธารณสุข 5) การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และ 6) การตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ อีกทั้ง ในปี 2564 ประเทศไทยถูกจัดอันดับว่าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นลำดับที่ 20 ของโลก (Climate Watch Data, 2020) ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางด้านการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย 5 ภาคสาขา ได้แก่ 1) ภาคพลังงาน 2) ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ 3) ภาคการเกษตร 4) ภาคการจัดการของเสีย และ 5) ภาคป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมาประชาคมชาวโลกและประเทศไทยได้รับสัญญานเตือนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้เกิดภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือของประเทศไทย ซึ่งในปี 2567 ที่ผ่านมาเป็นปีที่เผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บทเรียนจากการรับมือภัยพิบัติที่เกิดขึ้น ทำให้การพูดคุยของคนในสังคมไม่ควรเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือคาดหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่ควรปรับแนวคิดให้เห็นว่าทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากสิ่งที่กล่าวมาในข้างต้น NIA ได้เล็งเห็นความสำคัญ ในสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อรับมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีตัวอย่างโครงการนวัตกรรมด้านการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังนี้
ด้านการจัดการน้ำ
นวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดิน (ระบบปิด) สำหรับชุมชนหนองมะโมง ซึ่งเป็นนวัตกรรมด้านกระบวนการจัดการน้ำทั้งระบบให้เกิดความยั่งยืน โดยใช้เทคโนโลยีด้านธรณีวิทยาสำหรับทิศทางการไหลของน้ำ และการประยุกต์ใช้ระบบธนาคารน้ำใต้ดิน ที่สามารถกักเก็บน้ำที่เหลือทิ้งหรือไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในฤดูฝน เมื่อมีการกักเก็บน้ำลงใต้ดินทำให้มีแหล่งเก็บน้ำตามธรรมชาติและนำขึ้นมาใช้ในหน้าแล้งได้ อีกทั้ง ยังเป็นการจัดสรรทรัพยากรในชุมชมอย่างยั่งยืน
นวัตกรรมการสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนและจัดทำผังน้ำชุมชนด้วย AppSheet ที่ดำเนินการกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร้อยเอ็ด (ทุ่งกุลาร้องไห้) หมู่ 2 ตำบลเหล่าหลวง อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด โดยเป็นนวัตกรรมที่ช่วยในการสำรวจพื้นที่เพื่อวางแผนและจัดทำผังน้ำชุมชนด้วย AppSheet เป็นจุดเริ่มต้นให้ชุมชนเข้าใจ รับรู้ข้อมูลตำแหน่ง ศักยภาพของแหล่งน้ำ สิ่งก่อสร้างและโครงสร้างทางชลศาสตร์ที่มีอยู่ในชุมชน เพื่อประโยชน์ในการใช้งาน ดูแลซ่อมแซม บำรุงรักษา และเป็นข้อมูลประกอบการบริหารจัดการน้ำในภาพรวม เช่น จัดทำผังน้ำระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล เป็นการเสริมศักยภาพชุมชน เพื่อบริหารจัดการน้ำสำหรับทำการเกษตร
ซึ่งแต่ละชุมชนสามารถนำปัจจัยการผลิตด้านน้ำ ซึ่งขาดแคลนไปต่อยอดการผลิตและการลงทุนด้านการเกษตรได้

น้ำพร้าวโมเดล: นวัตกรรมการจัดการน้ำและเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรรมบนพื้นที่สูง ระบบส่งน้ำทนไฟบ้านน้ำพร้าว ได้ถูกคิดค้นขึ้น เพื่อเป้าหมายในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพาะปลูก โดยการดึงน้ำจากที่ต่ำ จากอ่างเก็บน้ำลำห้วยน้ำพร้าวใหญ่ หรือฝายอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง ดึงน้ำขึ้นไปเก็บไว้บนที่สูงบนยอดดอย ในปัจจุบันกำลังได้รับการสนับสนุนโครงการ ก่อสร้าง Resin Tank โดยงบประมาณจากภาคีร่วม คือ กรมทรัพยากรน้ำ โดยจะอาศัย Resin Tank เป็นแหล่งกักเก็บน้ำบนยอดดอย จากระบบส่งน้ำทนไฟ หลังจากนั้นก็จะจ่ายน้ำจากบนยอดดอยนี้ ลงสู่พื้นที่โดยรอบที่มีการเพาะปลูก โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงในการจ่ายน้ำ ซึ่งควบคุมด้วยระบบ Smart control ระบบจะดำเนินการจ่ายน้ำให้แก่ต้นไม้ เมื่อค่าความชื้นในดินลดลงไปต่ำกว่าค่าที่ต้นไม้จะทนทานได้ เป็นการใช้น้ำอย่างประหยัดและคุ้มค่าที่สุด ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกลางหมู่บ้านน้ำพร้าวร่วมกับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจังหวัดแพร่
ด้านการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
Local Alike: การท่องเที่ยวชุมชนแบบ Regenerative กว๊านพะเยา โดยมีเครื่องมือที่ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ตำบลเวียง อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา ให้เกิดเป็นการท่องเที่ยวเชิงฟื้นฟูภาพรวมของชุมชนทั้งในด้านระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น และสาธารณูปโภค พร้อมกับเพิ่มขีดความสามารถของชุมชนในการรองรับตลาดนักท่องเที่ยวสายยั่งยืนทั้งแบบกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ที่กำลังเติบโต จนท้ายที่สุดนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน การสืบสานวีถีถิ่น และการยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างยั่งยืน
ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกจากการจัดการของเสีย
ควอนิเรกซ์: นวัตกรรมการบริหารจัดการกลิ่นของเสียในชุมชนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์นี้มีจุดเด่นในด้านการกำจัดกลิ่นโดยใช้ solid-state hydrogen peroxide ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงในการกำจัดกลิ่นบนทุกพื้นผิว ทั้งในบ้านเรือน พื้นที่สาธารณะและภาคอุตสาหกรรม สูตรของผลิตภัณฑ์ถูกออกแบบโดยใช้ AI เพื่อให้รองรับและสามารถออกฤทธิ์ได้กับกลิ่นทุกกลุ่มฟังก์ชันทางเคมี เช่น แอลดีไฮด์ กรดไขมัน ซัลไฟด์ และอะมีน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดกลิ่นรุนแรงที่พบได้ทั่วไปในชุมชนและระบบการจัดการของเสีย ความสามารถนี้ช่วยแก้ปัญหากลิ่นในสถานที่ เช่น โรงงานกำจัดขยะ สถานที่รีไซเคิล และ พื้นที่ชุมชนที่มักมีของเสียสะสม (ฟาร์มสัตว์) นอกจากนี้การที่ผลิตภัณฑ์มาในรูปแบบสารผงละลายน้ำทำให้ประหยัดทรัพยากรในการขนส่งและลดการปลดปล่อยคาร์บอน (carbon footprint) เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์น้ำยาที่มีน้ำหนักมากกว่า
ด้านการลดก๊าซเรือนกระจกโดยใช้พลังงานทดแทน
ระบบสูบน้ำพลังงานทดแทนแบบผสมผสานของกังหันลมและโชล่าเซลล์ลอยน้ำ นวัตกรรม ด้านการออกแบบและควบคุมระบบผลิตไฟฟ้าร่วมจากกังหันลมและโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำ (floating PV) แบบผสมผสาน ด้วยระบบ Bidirectional ใน Energy Management System (EMS) เป็นเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าแบบสองทิศทาง (bidirectional inverter) ซึ่งทำงานได้ทั้งสถานะเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้า (Inverter) และเครื่องประจุกระแสไฟฟ้า (rectifier charger) จะแปลงไฟฟ้ากระแสตรง (DC) จากระบบเชื่อมต่อสายส่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ (AC) สำหรับป้อนพลังงานสู่ Grid Connected Inverter อีกทั้ง สามารถควบคุมการทำงานระบบที่มีแหล่งพลังงานจาก 2 แหล่ง แบบต่อเนื่อง โดยจะควบคุมให้พลังงานจากกังหันลมเป็นตัวหลักและเสริมพลังงานจากโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าและเสริมพลังงานจากโซล่าร์เซลล์ลอยน้ำในการจ่ายพลังงานไฟฟ้า
จะเห็นได้ว่านวัตกรรมมีบทบาทสำคัญในการเตรียมความพร้อมและช่วยให้เราสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตหรือภาวะโลกเดือดซึ่งนวัตกรรมไม่ได้เกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่เท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดขึ้นได้จากการปรับปรุงกระบวนการทำงานและการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความยั่งยืนควบคู่กันไป NIA ยินดีร่วมเป็นหนึ่งฟันเฟืองเล็ก ๆ ในการช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมให้สามารถรับมือกับภาวะโลกเดือดที่ค่อย ๆ ส่งผลกระทบใกล้ตัวพวกเรามากขึ้นทุกวัน ถึงจะแก้ปัญหาให้หมดสิ้นไปไม่ได้ แต่การชะลอหรือบรรเทาปัญหาให้ลดลง เป็นสิ่งที่เราต้องลงมือทำและร่วมมือกันตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข้อมูลจาก
- https://shorturl.asia/N4nkW
- https://climate.dcce.go.th/th/topic/policy-and-strategy/
- https://mis.nia.or.th/nia/Proposal
- https://www.sdgmove.com/2024/10/07/flood-thailand-mitigation/
- https://www.thaipost.net/news-update/317996/
- https://www.sdgmove.com/2022/08/26/report-nc4-climate-change-thailand/
บทความโดย
ชนกพร คำพระ (น้ำ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายสนับสนุนการเงินนวัตกรรมรายพื้นที่
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)