กรณีศึกษาชุมชนอุ้มผาง จังหวัดตาก “จังหวัดพื้นที่ชายขอบกับการเข้าถึงนวัตกรรม”
จังหวัดพื้นที่ชายขอบประสบกับปัญหาความเหลื่อมล้ำหรือไม่? คำถามนี้ทุกคนทราบถึงคำตอบได้เป็นอย่างดี ความแตกต่างด้านชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของชุมชน เป็นเหตุให้ “คนชายขอบ” มักถูกตีตราว่าเป็น “คนอื่น” แค่เพราะความแตกต่างของชาติพันธุ์ ส่งผลให้เกิดการแบ่งแยกและไม่เป็นที่ยอมรับหรือเกิดการเลือกปฏิบัติจากสังคมส่วนใหญ่ [1] ปัญหาการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ที่ไม่สามารถครอบคลุมทุกตารางพื้นที่ในประเทศไทยได้ ยังคงเป็นปัญหาสำคัญ ได้แก่ ระบบสาธารณูปโภค เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชนที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา และระบบบริการสาธารณะ ซึ่งมีหลายพื้นที่ในประเทศไทยที่ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ
การให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเขตพื้นที่ชายขอบจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการยกระดับคุณภาพชีวิตและลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ห่างไกล ถึงจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเห็นผลได้ทันทีในวงกว้าง แต่หากจุดเริ่มต้นนั้นได้ริเริ่มขึ้นแล้ว ก็ถือได้ว่าเป็นการจุดประกายไฟเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นพื้นที่ที่สามารถเข้าถึงสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตได้อย่างเท่าเทียม เปรียบเสมือนได้ว่า “ประกายไฟเล็กๆ แห่งการริเริ่มพัฒนานั้น ได้ขยายวงกว้างเป็นแสงสว่างที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ของประเทศไทยได้อย่างสมบูรณ์” แต่ในปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้เลยว่าบางพื้นที่ยังขาดสิ่งจำเป็นอีกหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านการบริการสาธารณสุข อาทิ ด้านความปลอดภัยสำหรับการป้องกันโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในพื้นที่รอยต่อระหว่างประเทศ เช่น ไข้เลือดออก มาลาเรีย และวัณโรค [2] เป็นต้น ด้านสภาพแวดล้อมในสถานพยาบาลที่ยังขาดมาตรฐานขั้นต่ำในการควบคุม คัดกรอง และกักกันโรคติดต่อ [3] และด้านการเข้าถึงไฟฟ้าในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
ดังนั้น ที่ผ่านมาหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายสำหรับการขยายผลนวัตกรรมเพื่อสังคมพร้อมใช้ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) คือ ชุมชนอุ้มผาง อําเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดย สนช. ยึดหลักความต้องการของชุมชนเป็นอันดับแรก และมุ่งเน้นวิธีการทำงานร่วมกับเครือข่ายความร่วมมือในพื้นที่เป้าหมาย เช่น โรงพยาบาลอุ้มผาง กรมป่าไม้ และ มูลนิธิ ซี.ซี.เอฟ. เพื่อเด็กและเยาวชน ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เป็นต้น เพื่อก่อให้เกิดการบูรณาการแนวทางการแก้ไขปัญหาจากมุมมองหลากหลายภาคส่วน ที่ทำให้เกิดผลลัพท์การแก้โจทย์ปัญหาของชุมชนในพื้นที่ได้อย่างครอบคลุมปัญหาทุกมิติ ยกตัวอย่าง เช่น ปัญหาของการควบคุมวัณโรคในเขตพื้นที่ชายขอบ สนช. ได้ร่วมมือกับ บริษัท ไอเมด ลาบอราทอรี่ จำกัด และ คณะสหเวชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาและขยายผลชุดตรวจวัณโรคแบบอ่านผลด้วยตาเปล่า MTB strip (ภาพที่ 1) เพื่อวินิจฉัยเชื้อ Mycobacterium tuberculosis (MTB) ซึ่งเป็นสาเหตุของวัณโรคภายใน 10-15 นาที เพื่อนำไปคัดกรองและประเมินอาการผู้ป่วยทำให้สามารถลดความเสี่ยงและปริมาณจำนวนผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ นอกจากนี้ สถานพยาบาลในเขตพื้นที่ชายขอบยังขาดการบริหารจัดการด้านสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วย สนช. จึงสนับสนุน บริษัท ไททัม จำกัด ในการพัฒนาและออกแบบระบบควบคุมสภาวะอากาศบริเวณห้องตรวจผู้ป่วยภายนอก (ภาพที่ 2) ด้วยเทคโนโลยี Radiant Catalytic Ionization และระบบ Ozone water Clean ที่สามารถควบคุมทิศทางการไหลเข้าออกของอากาศในห้องกึ่งเปิดได้อย่างเหมาะสม ทำให้สามารถลดความเสี่ยงต่อสภาวะการติดเชื้อของโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ อีกหนึ่งปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยในเขตพื้นที่ขายขอบ คือ ไฟฟ้าสำหรับชุมชนในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนไฟฟ้าสำหรับดำรงชีวิต ดังนั้น สมาคมพลังงานทดแทนสู่ชุมชน จึงได้พัฒนากังหันน้ำขนาดเล็กที่สามารถผลิตไฟฟ้าขนาด 5 กิโลวัตต์ ทำงานรอบการหมุนต่ำที่ 200 รอบต่อนาที โดยสามารถปรับเปลี่ยนมุมองศาการไหลได้ขึ้นอยู่กับลักษณะพื้นที่ติดตั้ง (ภาพที่ 3) แล้วนำไปติดตั้งในชุมชนบ้านแม่กระแซ อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก ทำให้ชุมชน 139 ครัวเรือน มีไฟฟ้าไว้ใช้งาน
ภาพที่ 1 ชุดตรวจวัณโรคแบบอ่านผลด้วยตาเปล่า MTB strip
ภาพที่ 2 ระบบปรับสภาวะอากาศลดการติดเชื้อโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจบริเวณห้องตรวจผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลอุ้มผาง
ภาพที่ 3 ระบบผลิตไฟฟ้าจากกังหันขนาดเล็กชนิดความสูงลำน้ำต่ำอัตราการไหลสูง
คำกล่าวที่ว่า “นวัตกรรมเป็นสิ่งไกลตัวของชุมชนในเขตพื้นที่ชายขอบ” คงใช้ไม่ได้ เนื่องจากในปัจจุบันมีจำนวนชุมชนที่ค้นหาวิธีการและแนวทางสำหรับแก้ไขโจทย์ปัญหาตามลักษณะบริบทของแต่ละพื้นที่มากยิ่งขึ้น ดังนั้น “ผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมพร้อมใช้” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับการสนับสนุนความต้องการของชุมชนที่มุ่งเน้นแก้ไขปัญหาและต้องการยกระดับคุณภาพชีวิต เมื่อมีชุมชนเป็นจุดเริ่มต้น ผลที่ได้คือการพัฒนาชุมชนด้วยความต้องการของชุมชน นับเป็นหัวใจสำคัญสำหรับการดำเนินงานของ สนช. ในการเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและสนับสนุนการนำ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ไปปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่เพื่อให้เกิดการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้
ผู้เขียน : วรรณิตา ทองพัด
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)