คุณเคยตั้งคำถามกับตัวเองบ้างมั้ยว่า… “ความสุขในชีวิตของคุณคืออะไร?” เชื่อว่าคำตอบที่ได้มาก็คงมีหลากหลาย แตกต่างกันตามไลฟ์สไตล์การดำเนินชีวิตของแต่ละคน แต่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถให้คำตอบหรือแม้แต่หาความสุขให้กับตัวเองได้ บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโคโรน่าไวรัส (COVID-19) ในปัจจุบันที่ทำให้การใช้ชีวิตในแต่ละวันยากขึ้นไปทุกที รวมถึงผลกระทบทั้งปัญหาปากท้องของประชาชนไปจนถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นสำคัญที่ทำให้ประชากรในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเอง ต้องเผชิญกับปัญหาภาวะโรคเครียด ซึมเศร้า และร้ายแรงถึงขั้นฆ่าตัวตายมากขึ้น
จากรายงานสถิติของกรมสุขภาพจิตแสดงให้เห็นว่า ในช่วงการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประชากรไทยสูงขึ้น ขณะที่เฉพาะในเดือนมกราคม 2564 พบจำนวนผู้ที่โทรเข้ามาปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิตมากถึง 1.8 แสนคน ซึ่งส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่เป็นผลมาจากสถานการณ์ COVID-19 ทั้งสิ้น หากคุณกำลังสงสัยว่าจะมีนวัตกรรมด้านใดบ้างที่พอจะเข้ามาช่วยทำให้การใช้ชีวิตต่อจากนี้ของคุณมีความสุขมากขึ้น มาร่วมค้นหาคำตอบกับพวกเราผ่านบทความนี้ไปพร้อม ๆ กัน
สัตว์เลี้ยงเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์มากขึ้น จากการที่สังคมย่างเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนมีอายุยืนยาวมากขึ้น และมีลูกน้อยลง จึงไม่แปลกที่สัตว์เลี้ยงจะได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกในหลายครอบครัว และ “มิตรภาพของสัตว์เลี้ยง (Pet Friendship)” นี้เอง ส่งผลให้เกิดการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของจำนวนสัตว์เลี้ยงในประเทศไทย โดยเฉลี่ย 2.5 ล้านตัว หรือเพิ่มขึ้น 23% ภายในเวลา 5 ปี ซึ่งจากการศึกษาเรื่อง Psychosocial and Psychophysiological Effects of Human-Animal Interactions: The Possible Role of Oxytocin ที่ตีพิมพ์ในเว็บไซต์ Frontiers ได้รวบรวมงานวิจัยที่เกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ กับสัตว์เลี้ยงที่ส่งผลดีต่อมนุษย์ แสดงให้เห็นว่าสัตว์เลี้ยงส่งผลดีต่อมนุษย์ทั้งในด้านปฏิสัมพันธ์ในสังคม ช่วยฟื้นฟูด้านร่างกายและจิตใจ และยังสามารถลดความวิตกกังวลได้เป็นอย่างดี
ถึงแม้ว่าในอดีตที่ผ่านมาหรือแม้แต่บางสังคมในปัจจุบันยังคงมองรูปแบบการใช้ชีวิตตัวคนเดียวในแง่มุมลบอยู่ แต่ดูเหมือนว่าในอนาคตอีกไม่นาน เราอาจจะต้องให้คำนิยามของการใช้ชีวิตคนเดียวใหม่ เมื่อมนุษย์กำลังปรับตัวให้ทันตามยุคโลกาภิวัตน์ที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว “ความสุขของการอยู่อย่างสันโดษ (The Joy of Seclusion)” จึงไม่ได้หมายถึงการเลือกไม่ได้หรือไม่มีทางเลือกเสมอไป แต่หมายถึงว่าพวกเขาเริ่มมีเป้าหมายและมีทางเลือกอื่นของความสุขที่ชัดเจนมากกว่าเดิมก็เท่านั้นเอง จากรายงานของ Census Bureau ปี 2017 ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันพบว่า ชาวอเมริกันถึง 55% ไม่เชื่อว่าการแต่งงานและมีลูกคือกุญแจสำคัญสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และหันมาให้น้ำหนักกับความก้าวหน้าในอาชีพการงานหรือการเรียน และสนใจการท่องเที่ยวแทน นานาประเทศเองก็มีความตื่นตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ประเทศเยอรมนีที่มีนวัตกรรม “Telephone chain” มาช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงลำพัง โดยในทุกเช้าจะมีอาสาสมัครโทรไปเช็คความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุที่อาศัยเพียงลำพัง จากนั้นคนที่รับสายคนแรกมีหน้าที่โทรหาผู้สูงอายุคนอื่นเป็นทอด ๆ ต่อไป เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น และยังเป็นวิธีการช่วยคลายความเหงาในผู้สูงอายุได้อีกด้วย
“การทำงานที่เรารัก นำมาซึ่งความสุข” เป็นประโยคที่สามารถสื่อถึงความสุขจากการทำงานได้เป็นอย่างดี มีหลายคนที่ความสุขของพวกเขาเหล่านั้นมักมาในรูปแบบของการทำงาน โดยเฉพาะ “โอกาสในการทำงานที่มีคุณภาพ (Quality Employment Opportunity)” และตรงกับความถนัดของตน ดังเช่นโครงการเดฟคิวเรท: แพลตฟอร์มวิเคราะห์บุคลิกภาพกับงานที่เหมาะสมด้วย AI ที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาช่วยวิเคราะห์ทักษะด้านอารมณ์และสังคม (Soft Skills) และ ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ของผู้ที่กำลังหางาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มโอกาสให้ได้งานที่เหมาะสมกับความสามารถและความถนัดของตนแล้ว ยังตอบโจทย์ความต้องการแรงงานในการพัฒนาสังคมที่เหมาะสมและยั่งยืนอย่างมีประสิทธิภาพ
ความสุขเล็ก ๆ ที่มีได้ง่ายแต่หาได้ค่อนข้างยากในสังคมเมือง คือการอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ดี มีสถานที่ที่อากาศปลอดโปร่งให้เราสามารถเข้าไปพักผ่อนหย่อนใจเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ และสูดอากาศบริสุทธิ์ แต่เนื่องด้วยข้อจำกัดของปัญหาฝุ่นควันจากมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์เองที่ละเลย “การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Living Environment)” จึงดูเหมือนว่าความสุขในข้อนี้จะเกิดขึ้นยากขึ้นไปทุกที ๆ แต่คงจะดีไม่น้อยหากเราทุกคนร่วมด้วยช่วยกันหันมาสนใจปัญหานี้มากยิ่งขึ้น ดังเช่น โครงการนครแห่งการแปลงเศษอาหารให้กลายเป็นสวนผักกลางเมือง ที่ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดาดฟ้ามาทำเป็นสวนผักกลางเมือง โดยการนำเศษอาหารจากศูนย์อาหารในห้างสรรพสินค้ามาทำเป็นปุ๋ย ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างพื้นที่สีเขียวใจจากที่ดินรกร้างในเมืองได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังช่วยสร้างรายได้และขจัดปัญหาของเศษอาหารเหลือทิ้งได้อย่างตรงจุดที่สุดอีกด้วย
“อโรคยา ปรมาลาภา….ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” แน่นอนว่าการมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยมาเบียดเบียน เป็นปัจจัยที่จะทำให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตและหาความสุขของตนเองได้ หนึ่งในวิธีที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอได้นั้นก็คือวิธี “การกระตุ้นพลังชีวิตด้วยกีฬาและการออกกำลังกาย (Sport & Exercise for Energy Boost Up)” นั่นเอง ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การออกกำลังกายแบบดิจิทัลได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม และได้พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้ผู้รักสุขภาพทั้งหลายไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายที่ฟิตเนส ไม่ต้องออกไปเผชิญกับทั้งฝุ่น ควัน รวมถึงไวรัสจากภายนอก ดังตัวอย่างของ TEMPO STUDIO เทรนเนอร์ AI ที่เป็นฟิตเนสอัจฉริยะพร้อมเทรนเนอร์ส่วนตัว ที่มาพร้อมกับระบบ AI ในการช่วยออกแบบการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสรีระร่างกายของผู้ใช้งาน ก็สามารถนำมาตอบโจทย์กับวิถีชีวิตในปัจจุบันของเราได้เป็นอย่างดี
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เชื่อว่าความสุขอยู่รอบตัวของเราทุกคน ไม่มีใครที่ไม่สมควรจะได้รับความสุข และความสุขเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเลือกออกแบบเองได้ NIA ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรนำด้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ยินดีเป็นส่วนหนึ่งที่จะเป็นพลังช่วยขับเคลื่อนให้มีการนำองค์ความรู้และนวัตกรรมเข้ามาเพื่อส่งต่อพลังบวกให้ชีวิตดำเนินต่อไปในทุก ๆ วันได้อย่างมีความสุข ดังนั้น จึงได้มีการเปิดรับสมัครโครงการ City & Community Innovation Challenge 2022 ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อชีวิตที่มีความสุข (Innovation for Happy Living)” เพื่อให้ผู้ที่สนใจอยากมีส่วนร่วมในการสร้างความสนุกให้กับชีวิต และมีแนวคิดในการออกแบบวิถีชีวิตใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในด้านของมิตรภาพของสัตว์เลี้ยง ความสุขของการอยู่อย่างสันโดษ โอกาสในการทำงานที่มีคุณภาพ การใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการกระตุ้นพลังชีวิตด้วยกีฬาและการออกกำลังกาย ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ท้าทายนี้ให้แก่สังคมต่อไปในระยะยาว
อ้างอิง:
- กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
- Andrea B., Kerstin U.M., Henri J. and Kurt K. (2012). Frontiers | Psychosocial and Psychophysiological Effects of Human-Animal Interactions: The Possible Role of Oxytocin | Psychology (frontiersin.org)
- Freiwilligenagentur Wedemark. (2020). https://innovationinpolitics.eu/coping-with-the-crisisarticle/telephone-chain-for-people-living-alone/
Image Credit:
โดย พิชญาภัค เพชรสีสุข
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)