NIA ร่วมกับ ม.อุบลราชธานี จัดกิจกรรมอบรมผู้สมัครขอรับการสนับสนุนผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ปี 66 และลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่อีสานตอนล่าง

ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับ หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดกิจกรรมอบรมและเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อเตรียมความพร้อมในการขอรับการสนับสนุนผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 1 – 2 มีนาคม 2566 โดยได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.เชาวลิต ถิ่นวงศ์พิทักษ์ กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมอบรม และ คุณวิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA เป็นผู้กล่าวเปิดการอบรมพร้อมกับให้ความรู้ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” แก่ผู้เข้าอบรมในครั้งนี้

ภายในงานมีการบรรยายและให้ความรู้ อาทิ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม (Introduction of Social Entrepreneurship) และโมเดลทางธุรกิจสำหรับธุรกิจเพื่อสังคม (SE Business Model Canvas) โดย คุณตรีชิต เมธารัตนโชติ กรรมการผู้จัดการและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท มีผักดี จำกัด รวมไปถึงดำเนินธุรกิจเพื่อสังคมอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ โดย คุณฐิติรัตน์ ศักดาปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริบูรณ์ฟาร์ม จำกัด ซึ่งกิจกรรมนี้จัดขึ้น ณ ห้องทับทิมสยาม 5 โรงแรมสุนีย์แกรนด์ จังหวัดอุบลราชธานี และมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมมากกว่า 50 ราย

นอกจากนั้น ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อคม ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าผลงานนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ 1) ผลงาน “นวัตกรรมการปลูกผักไมโครกรีนระบบปิดภายใต้สภาวะแสงเทียม PFAL แบบใช้ดิน” โดยกลุ่มรัฐวิสาหกิจชุมชนท่าเมือง อ.ดอนมดแดง จ.อุบลราชธานี ที่จะช่วยให้ผักไมโครกรีนมีคุณภาพและมีรอบการให้ผลผลิตที่รวดเร็วกว่าปกติ 2) ผลงาน “การพัฒนาสุราชุมชน เพื่อส่งเสริมเกษตรธรรมชาติ ศิลปะ และวัฒนธรรมอีสานร่วมสมัย” โดยโรงกลั่นสุราชุมชนซอดแจ้ง อ.สว่างวีรวงศ์ จ.อุบลราชธานี เพื่อให้สุราชุมชนได้มาตรฐานการผลิตและสร้างอัตลักษณ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่มกับสินค้าชุมชน 3) ผลงาน “นวัตกรรมกล่องยืดอายุเนื้อทุเรียนภูเขาไฟ” โดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรไม้ผลตำบลภูเงิน อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ เป็นนวัตกรรมการยืดอายุของทุเรียนแกะเนื้อให้สามารถเก็บรักษาได้นานขึ้นเพื่อให้มั่นใจได้ว่าผู้บริโภคจะคงได้รับประทานทุเรียนภูเขาไฟที่มีคุณภาพดี และ 4) ผลงาน “วิสาหกิจชุมชนนวัตกรรมต้นแบบการเพาะและแปรรูปเห็ดโคนน้อย” โดยวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืนตำบลนิคมพัฒนา อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ ที่นำนวัตกรรมมาช่วยตั้งแต่กระบวนการเพาะเชื้อเห็ดและการแปรรูปเห็ดในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย สามารถบริโภคได้ทุกเพศทุกวัย