นวัตกรรมเพื่อสังคมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์

เมื่อผู้คนทั่วโลกกำลังบอบช้ำกับเศรษฐกิจที่มีการแข่งขันกันมากจนเกินไป

ทุกวันนี้ ผู้คนจำนวนมากเริ่มตระหนักว่าระบบทุนนิยมได้เปลี่ยนชีวิตและโลกของเราให้กลายเป็นสินค้า อีกทั้งยังเป็นระบบที่ไม่ส่งเสริมความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม และบ่อยครั้งอาจก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรมต่อสังคม ทำให้ไม่สามารถรับประกันความสุขและการดำรงชีวิตที่สง่างามของทุกคนในทุกที่บนโลกใบนี้

คาร์ลอส อัสคูนเซ่ (Carlos Askunze)
คาร์ลอส อัสคูนเซ่ Carlos Askunze หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายเศรษฐกิจสมานฉันท์ของประเทศสเปน
(Red de Redes, Spain: REAS) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้อย่างเจ็บปวด

ภายหลังมานี้ การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ก่อให้เกิดผลกระทบที่น่าเป็นห่วง ทั้งปัญหาความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมที่นับวันจะทวีคูณและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เกิดการแข่งขันของผู้คนอย่างเข้มข้นจนผลักคนบางกลุ่มออกไป ความเครียดจากความพยายามในการทำงานและใช้ชีวิตสูงขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสุขภาวะของผู้คนมากมาย รวมถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันก็ยิ่งมีความท้าทายจนไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดที่ตรงไหน จนผู้คนบางส่วนเริ่มให้ความเห็นว่าการย้ายไปอยู่ดาวเคราะห์ดวงใหม่อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจมากกว่า

โดยเราจะได้เห็นการตื่นตัวอย่างมากต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับมนุษยชาติขององค์การสหประชาชาติ ถึงขนาดได้มีการประกาศการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development Goals: SDGs) ออกมา เพื่อให้นานาชาติร่วมด้วยช่วยกันหาทางออกของปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายภายในปี 2573 ได้หรือไม่นั้น ก็ต้องอาศัยการผนึกกำลังของทุกภาคส่วนร่วมด้วยช่วยกัน และรอติดตามผลกันต่อไป

ภาพประกาศการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development Goals: SDGs) ทั้งหมด 17 ข้อ ขององค์การสหประชาชาติ

เมื่อการแก้ปัญหาสังคมที่ยั่งยืน จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วม และการเป็นเจ้าของร่วมกัน

เมื่อการแก้ปัญหาสังคมนั้นทำคนเดียวไม่ได้ ดังนั้น การมีองคาพยพหรือภาคีเครือข่ายที่จะเข้ามาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหานั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผู้ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหาหรือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาโดยตรง ก็จะทำให้ปัญหาที่แท้จริงได้รับการมองเห็น สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด ยุติธรรม และสร้างการมีส่วนร่วมจากเจ้าของปัญหาหรือผู้ได้รับผลกระทบ อันจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน และดูแลเครือข่ายสังคมของตัวเองที่กำลังแก้ปัญหาอยู่ได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น

หรือ SSE จะเป็นความหวังใหม่ ที่ผู้คนจะอยู่รอดและเติบโตไปด้วยกัน

หลายคนอาจจะยังไม่รู้จักแนวคิด SSE (Social-Solidarity Economy) หรือ เศรษฐกิจสังคมสมานฉันท์ ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่มุ่งเน้นการกำหนดทิศทางที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ให้เกิดขึ้น ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง และสิ่งแวดล้อม โดยเพิ่มการมีส่วนร่วมและกระจายอำนาจในการประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสิทธิทางสังคมของประชาชนทุกระดับ ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในด้านการเข้าถึงสิทธิ การมีส่วนร่วม และการเข้าถึงผลประโยชน์และสวัสดิการอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจและสังคมมากยิ่งขึ้น

จากความพยายามที่ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้ประกาศให้การส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับ SSE เป็น Global Action ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมานั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่ากระแสแนวคิดเรื่อง SSE เริ่มมีการหยิบยกมาขับเคลื่อนในหลาย ๆ ประเทศ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของวิสาหกิจเพื่อสังคม ให้หันมาสนใจประเด็นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมากยิ่งขึ้น และปัจจุบันเริ่มมีการสนับสนุนระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการเติบโตของ SSE ทั่วโลก

Mathias Cormann เลขาธิการ OECD ได้กล่าวเปิดงาน “เศรษฐกิจสังคมและความเป็นปึกแผ่น:
จากชายขอบถึงกระแสหลัก” วันที่ 13-16 กันยายน 2564

ตัวอย่างนวัตกรรมที่ส่งเสริมความเป็น SSE ในต่างประเทศ

Coopaname เป็นสหกรณ์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นต้นแบบของ SSE ในประเทศฝรั่งเศส โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการทำงานร่วมกันและการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสมาชิก โดย Coopaname นั้นเป็นสหกรณ์ที่ให้บริการด้านการจัดการทรัพยากรบุคคลและการสนับสนุนด้านธุรกิจของสมาชิก ที่มีตั้งแต่ การส่งเสริมการจ้างงานภายในสมาชิก การแบ่งปันแรงงานทักษะเฉพาะทางร่วมกัน เช่น ช่างฝีมือ วิศวกร เป็นต้น การจัดการเงินทุนร่วมกันระหว่างสมาชิก การสนับสนุนการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ตลอดจนถึงการสร้างความเชื่อมั่นและความร่วมมือระหว่างสมาชิกในสหกรณ์ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจสำคัญในการดำเนินกิจการ เช่น การเลือกโครงสร้างการบริหารจัดการหรือการตัดสินใจเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการต่าง ๆ เป็นต้น

อีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการประยุกต์แนวคิด SSE ในประเทศบราซิล ได้แก่ Favela Painting Project เป็นโครงการที่ใช้ศิลปะด้านสีมาเป็นเครื่องมือในการสร้างสังคมและเชื่อมโยงผู้คนในชุมชนเข้าด้วยกัน ตลอดจนส่งเสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนที่มีความยากจนและพัวพันกับปัญหายาเสพติด ในย่านชุมชนแออัดต่าง ๆ ในนครริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล โดยเป้าหมายของโครงการก็คือ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ต่าง ๆ ในชุมชนให้เป็นพื้นที่ที่มีชีวิตชีวามากขึ้น และต่อยอดเป็นธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ทำให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งนอกจากลดปัญหาด้านสุขภาวะ และความเป็นอยู่แล้ว ยังส่งผลต่ออัตราการเกิดอาชญากรรมในชุมชนที่ลดลงอีกด้วย

สถานการณ์ SSE ในประเทศไทยอยู่ ณ จุดไหน

สำหรับประเทศไทยนั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดนั่นก็คือการประกอบกิจการภายใต้รูปแบบวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ สมาคม หรือภาคีเครือข่าย ที่กระจายตัวอยู่ในแต่ละภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทย ซึ่งหากองค์กรเหล่านี้มีการนำนวัตกรรมไปใช้ในการแก้ปัญหาเพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ด้วยแล้ว อาจกล่าวได้ว่าได้มีการนำแนวคิด SSE มาประยุกต์ใช้อยู่แล้ว ตัวอย่างเช่น โครงการทาสีเปลี่ยนโลก โดยมูลนิธิดวงประทีป เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ภายใต้ “โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน 2566 ด้านนวัตกรรมที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตทุกช่วงวัย” โดยตัวโครงการได้พยายามสร้างการมีส่วนร่วมของผู้คนในชุมชนคลองเตย ผ่านการออกแบบและปรับปรุงภูมิทัศน์ด้วยรูปแบบศิลปะสาธารณะ โดยมีที่ปรึกษาด้านการใช้งานศิลปะเพื่อการแสดงออก และองค์ความรู้ด้านจิตวิทยาดูแลกระบวนการสร้างงานศิลปะอย่างใกล้ชิด ซึ่งนอกจากจะได้ภูมิทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์แล้ว ยังก่อให้เกิดกระบวนทัศน์เชิงบวกต่อตนเองและผู้อื่น รวมถึงการเป็นเจ้าของร่วมกันของชุมชนคลองเตยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การถอดบทเรียนเกี่ยวกับองค์กรที่ทำธุรกิจโดยใช้แนวคิด SSE ในประเทศไทยยังมีให้เห็นไม่มากนัก และยังเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างเข้าใจยากสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมในบ้านเรา ดังนั้น องค์ความรู้จากองค์กรที่มีรูปแบบการดำเนินงานและเข้าใจประเด็นของหลักการ SSE จึงเป็นตัวแปรสำคัญที่ ควรนำมาเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการทำ SSE ในประเทศไทย นอกจากนี้ การส่งเสริมระบบนิเวศสำหรับ SSE ควรมีการผลักดันในระดับนโยบายของภาคีเครือข่ายองค์กรที่สนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคม เพราะมิเช่นนั้นแล้ว หากไม่วางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อน SSE ว่าทำไปเพื่ออะไร หรือประโยชน์คืออะไร แนวคิด SSE ก็จะกลายเป็นคำเท่ห์ ๆ อีกคำหนึ่ง ที่ถูกนำมาใช้กล่าวอ้างให้ภาพลักษณ์ขององค์กรดูดีขึ้น โดยปราศจากความเข้าใจถึงแก่นแท้ของหลักการ

อ้างอิงข้อมูลจาก

ขอบคุณรูปภาพจาก

วงศกร จูเจี่ย (เฟรนด์)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)