นวัตกรรมนั้นมีความหมายที่แตกต่างกันไปตามนิยามมุมมองของแต่ละบุคคล แต่หลักๆ แล้วความหมายของ “นวัตกรรม” มักจะพูดถึง สิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาจากองค์ความรู้หรือความคิดสร้างสรรค์และสามารถเกิดขึ้นได้จริงพร้อมกับสร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและสังคม[1] ซึ่งนวัตกรรมเองนั้นจะเป็นเหมือนฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ให้พัฒนายิ่งขึ้นและยังช่วยสนับสนุนให้เกิดธุรกิจใหม่เพื่อสร้างมูลค่าให้กับห่วงโซ่คุณค่าของประเทศ
นอกจากมุมมองทางด้านเศรษฐกิจแล้วการจะพัฒนาประเทศให้ยั่งยืนนั้นยังต้องพัฒนารากฐานที่สำคัญทางสังคมให้แข็งแรงอีกด้วย เพราะทั้งสองปัจจัยนั้นต้องถูกพัฒนาควบคู่กันให้เกิดความสมดุล[2] การพัฒนาสังคมเองก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการและวิธีการใหม่เพื่อให้ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมให้ดียิ่งขึ้น กลไกที่ทำให้เกิดกระบวนการการแก้ปัญหาดังกล่าวก็คงจะหนีไม่พ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ทางสังคม
เมื่อนำคำว่า “นวัตกรรม” มาผนวกรวมกับคำว่า “สังคม” ก็จะเกิดเป็น “นวัตกรรมเพื่อสังคม” ซึ่งจะมีความหมายและบริบทแตกต่างไปจากนวัตกรรมปกติ นวัตกรรมทางสังคม คือ สิ่งใหม่ที่สร้างขึ้นมาจากความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการ ผลิตภัณฑ์ หรือรูปแบบการพัฒนาที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อแก้ไขและตอบสนองต่อปัญหาทางสังคม นอกจากนี้ยังต้องสามารถที่จะแพร่กระจายไปยังสังคมอื่นๆ ได้โดยที่นวัตกรรมเพื่อสังคมนั้นจะต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญอยู่ 3 อย่างได้แก่ 1) มีความใหม่และตรงตามความต้องการของสังคม 2) เกิดขึ้นได้จริงและสามารถแพร่กระจายไปสู่สังคมได้และ 3) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคม[3]
เมื่อก่อนการแก้ไขและเข้าถึงปัญหาทางสังคมนั้นจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเข้าไปแก้ไขเยียวยาและสร้างความเป็นธรรมขึ้นมาในสังคม แม้องค์กรของรัฐนั้นถือเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่และมีอำนาจในการสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มากแต่ก็ขาดความคล่องตัวและความเข้าใจ ทำให้การแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นล่าช้าและไม่ตรงจุด ส่งผลให้สภาพสังคมไม่เกิดการพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ปัจจุบันภาคเอกชนหลายแห่งได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และลงมาช่วยในการสร้างสรรค์นวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์ ในการแก้ปัญหา จึงทำให้เกิดองค์กรเอกชนต่างๆ มากมาย เช่น มูลนิธิ สหกรณ์ และองค์กรการกุศลต่างๆ ซึ่งองค์กรดังกล่าวสามารถที่จะเข้าถึงปัญหาทางสังคมได้ดีกว่าภาครัฐแต่ก็ยังขาดความยั่งยืนเนื่องจากกิจการขององค์กรที่ต้องผูกติดรายได้กับการบริจาคทำให้ความต่อเนื่องของกิจกรรมเป็นไปได้ยาก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของ ธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise: SE) ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาทางสังคมเป็นหลักเช่นเดียวกับองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่จะมีการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดรายได้หล่อเลี้ยงองค์กรให้อยู่ได้และเกิดความต่อเนื่อง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะเป็นการจัดการระหว่าง รายได้ที่เกิดขึ้น (profit) ชุมชน (people) และสิ่งแวดล้อม (planet) ให้มีความสมดุลกัน
แม้ปัจจุบันจะมีองค์กรเอกชนหลายๆ แห่งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาสังคมให้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่การสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมนั้นจะเกิดขึ้นได้ยากหากขาดซึ่งการสนับสนุนจากเจ้าภาพหลัก ซึ่งนั้นก็คือภาครัฐ เพราะการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนนั้นต้องมีการผลักดันให้เกิดการสร้างปัจจัยที่เอื้อต่อการเกิดนวัตกรรมทางสังคมอย่างต่อเนื่องซึ่งบริบทที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมนั้นอาจจะแบ่งย่อยได้ถึง 3 หัวข้อซึ่งได้แก่
- การเกื้อหนุนให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งการจะทำให้เอกชนหันมาสนใจในการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมนั้น ภาครัฐเองต้องเอื้อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลไกการสนับสนุนการสร้างนวัตกรรม หรือกลไกการลดหย่อนภาษีให้กับภาคเอกชนที่ต้องการจะเข้าร่วมธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม ตลอดจนการจัดหาช่องทางและการบ่มเพาะให้เกิดธุรกิจดังกล่าวขึ้นมา
- การสนับสนุนให้นวัตกรรมเกิดการแพร่กระจายได้ดียิ่งขึ้น แม้จะเกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมามากเพียงใดแต่หากไม่สามารถนำนวัตกรรมดังกล่าวเข้าไปสู่ชุมชนและสังคมได้ก็ไม่ถือเป็นความสำเร็จในการแก้ปัญหาทางสังคม ซึ่งปกติแล้วนวัตกรรมที่เกิดขึ้นจะเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมยอมรับในวงกว้างซึ่งในกรณีนี้หากภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุน ไม่ว่าจะเป็นการรับรองเพื่อให้เกิดการยอมรับ หรือการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ จะส่งผลให้นวัตกรรมเกิดการแพร่กระจายและขยายผลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- การติดตามผลและเสริมสร้างศักยภาพของสังคมให้สามารถพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญเป็นอย่างมากเพราะการแก้ไขปัญหาทางสังคมไม่ใช่เป็นเพียงการนำสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเท่านั้น แต่สิ่งที่ยากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของชุมชนนั้นๆ ให้มีความสามารถที่จะก้าวออกมาเป็นผู้รังสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ซึ่งนี้ถึงจะเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริงในระยะยาว
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมโดยใช้นวัตกรรมเข้ามาช่วยนั้นสามารถที่จะเกิดขึ้นได้จริงและทำให้เกิดประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง แต่อย่างไรก็ตามกระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติเองก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานของรัฐที่จะช่วยในการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องด้วยกลไกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมหรือจะเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรมให้เกิดขึ้นเพื่อให้ ทุกภาคส่วนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาสังคมด้วยนวัตกรรมตลอดจนการปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดของชุมชนให้เปิดใจพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลงใหม่ เพื่อผลักดันตนเองให้พ้นจากปัญหาและกลายเป็นนวัตกรที่ทำเพื่อสังคมด้วยตัวเอง
ผู้แต่ง: นายธีรวัฒน์ เหล่าสมบัติ
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สังกัดงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เอกสารอ้างอิง
[1] Baregheh, Anahita, Jennifer Rowley, and Sally Sambrook. “Towards a multidisciplinary definition of innovation.” Management decision 47.8 (2009): 1323-1339.
[2] วิทยากร เชียงกูล. นวัตกรรมสังคม คืออะไร เพื่ออะไร. คอลัมน์ “ปฏิรูปประเทศไทยแบบไหนอย่างไร” กรุงเทพธุรกิจ. (2012)
[3] ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา และ วาสนา อิ่มเอม. “นวัตกรรม สังคม: การ ให้ ความ หมาย และ ลักษณะ กิจกรรม ใน ประเทศไทย.” สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (2001).