NIA กับการเร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

แนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และมีธรรมาภิบาลมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรธุรกิจเป็นอีกหนึ่งในองค์กรที่ถูกเรียกร้องให้ปรับตัวเข้าหาแนวทางดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมองค์กรธุรกิจมักมีการแสวงหากำไรจากการดำเนินกิจการเป็นเป้าหมายหลัก แต่ปัจจุบันอาศัยเพียงการสร้างผล “กำไร” อาจไม่เพียงพออีกต่อไป องค์กรธุรกิจต้องเริ่มดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น และริเริ่มอยู่กับสังคมอย่างยั่งยืน จากแนวความคิดดังกล่าวทำให้เกิดการดำเนินธุรกิจในรูปแบบ “ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม” เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เริ่มต้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงและพัฒนาสังคมที่มีตัวธุรกิจเป็นรากฐาน ผสานด้วยจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม ต่อเติมด้วยการผสานแนวคิด IBE หรือ Innovation-Based Enterprise ให้เกิดการปรับตัวไปสู่องค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้วยนวัตกรรม ซึ่งมุ่งเน้นตั้งแต่การสร้าง การพัฒนา และการใช้นวัตกรรม เพื่อตอบสนองทิศทางธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เน้นการนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และขับเคลื่อนองค์กรให้ธุรกิจมีความยั่งยืนทางการเงินจากรายได้หลักที่มาจากสินค้าและบริการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเงินบริจาคแต่เพียงอย่างเดียว และนำดอกผลจากการดำเนินธุรกิจคือ “กำไร” บางส่วนกลับคืนสู่สังคมตามเป้าหมายซึ่งเป็นเป้าหมายเริ่มต้นของตัวธุรกิจ การดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ยังสร้างแรงกระเพื่อมในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ มีการจ้างแรงงานในพื้นที่ ฝึกฝนทักษะของชุมชน การจัดหาบริการให้แก่ชุมชน การปรับปรุงกระบวนการผลิต การดำเนินกิจการรวมถึงผลิตภัณฑ์หรือบริการ ที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคม สุขภาวะ และสิ่งแวดล้อม เปิดโอกาสให้ธุรกิจสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่สร้างกำไรในระยะยาวได้ รวมถึงการใช้ หรือต่อยอดนวัตกรรมสู่โอกาสทางธุรกิจ ตอบสนองต่อทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืน และรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

สำหรับ NIA มีการสนับสนุนธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมผ่านกลไก “Groom – Grant – Growth – Global” เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมไทยให้เติบโต มีการส่งเสริมการขยายผล และลงทุนไปยังตลาดต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเสริมศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมผ่านโปรแกรม Impact  Accelerator for Innovative SE และสร้างโอกาสการเชื่อมโยงเครือข่ายนวัตกรรมเพื่อสังคมให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการสร้างคุณค่าเชิงสังคม และมีความรับผิดชอบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างระบบนิเวศธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อช่วยแก้ปัญหาในสังคม ให้ทุกคนในสังคมเติบโตและเดินไปพร้อมกัน

ตัวอย่างโมเดลธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ผ่านโปรแกรม Impact  Accelerator for Innovative SE ที่มีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาสังคม โดยมีการนำความรู้ นวัตกรรมมาใช้ และมีโมเดลธุรกิจที่สร้างความยั่งยืน เช่น บริษัท วันดีวีคราฟท์ จำกัด ที่มีการดำเนินงานภายใต้แบรนด์ V Craft ที่เป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมที่มีคุณภาพและสวยงาม มุ่งเน้นการสร้างงานฝีมือที่มีคุณค่าเพื่อให้คนพิการเห็นคุณค่าในตัวเอง และสังคมไทยมองเห็นคุณค่าของคนพิการเพิ่มมากขึ้น โดยเริ่มจากการสร้างงานให้กลุ่มผู้พิการทางสายตาเป็นกลุ่มแรก โดยผู้ก่อตั้ง V Craft Thailand เชื่อมั่นว่าคนพิการมีศักยภาพซ่อนอยู่ แต่ยังขาดโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ เพราะคนพิการต้องใช้เวลาฝึกฝนมากกว่าคนทั่วไปหรืออาจต้องการอุปกรณ์เสริมที่ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น โดยบริษัทฯ การสนับสนุนเครื่องตัดเชือกอัตโนมัติสำหรับผู้พิการทางสายตา เพื่อช่วยลดเวลาการทำงานในการตัดเชือกของผู้พิการ และมีความปลอดภัยสำหรับผู้พิการทางสายตาในการใช้เครื่องตัดเชือกด้วยตนเอง เพราะมีระบบ Safety สามารถสั่งงานด้วยรีโมท และมีเสียงอ่านให้ผู้พิการสามารถเข้าใจได้ง่าย สามารถป้อนเชือกโดยอัตโนมัติ ช่วยให้การผลิตงานฝีมือจากเชือกถักมาคราเม่รวดเร็วขึ้น ทำให้ผู้พิการสามารถผลิตชิ้นงานเพิ่มขึ้น และสามารถสร้างรายได้ที่มากขึ้น

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ “แมวกินปลา” โมเดลเพื่อการจัดจำหน่ายอาหารทะเลยั่งยืน โดยบริษัท เอาท์คัม คอมมูนิเคชั่น จำกัด ซึ่งมีการดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการรับซื้อวัตถุดิบจากกลุ่มคนที่ทำประมงพื้นบ้าน และกลุ่มชาวมอแกนในพื้นที่บ้านน้ำเค็ม จังหวัดพังงา โดยวิธีการรับซื้อจะรับเฉพาะคนที่จับปลาแบบใช้ประมงขนาดเรือเล็ก ใช้อวนหรือเครื่องมือที่ไม่ผิดกฎหมาย เน้นรับซื้อปลาขนาดโตเต็มวัย ไม่ใช่สัตว์น้ำวัยอนุบาล หรือโตไม่เต็มที่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อผู้บริโภคและสมดุลทางธรรมชาติของท้องทะเล โดยบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนในการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการสต๊อกวัตถุดิบ และแพลตฟอร์มตรวจสอบย้อนกลับอาหารทะเลยั่งยืน โดยแพลตฟอร์มนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลชาวประมงพื้นบ้าน ข้อมูลวัตถุดิบ ซึ่งเมื่อผู้บริโภคมีการซื้อวัตถุดิบจากแมวกินปลาแล้ว จะสามารถสแกน QR code เพื่อดูข้อมูลของวัตถุดิบ แหล่งที่มาและชาวประมงผู้ที่เป็นคนจับวัตถุดิบนั้นได้ ทำให้สามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง ว่าวัตถุดิบที่ได้มีมาตรฐาน และความปลอดภัย ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการสั่งซื้อวัตถุดิบจากแมวกินปลาอีกด้วย

การนำนวัตกรรมเพื่อสังคมมาปรับใช้ในองค์กรธุรกิจ เป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างผลกำไร และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน สำหรับผู้ประกอบการด้านนวัตกรรมเพื่อสังคมที่สนใจ และมีนวัตกรรมเพื่อช่วยแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมที่พร้อมต่อยอดและขยายผล สามารถเข้าร่วมโปรแกรม Impact  Accelerator for Innovative SE ของ NIA เพื่อเร่งสร้างธุรกิจนวัตกรรมเพื่อสังคมให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วม และมีโอกาสได้รับการสนับสนุนทุนตลอดจนได้รับโอกาสด้านการตลาด และเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อนำไปแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมต่อไป

ที่มา

บทความโดย
อธิชา ชูสุทธิ์ (ปอม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)