การฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19

สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ยกระดับให้เป็น “ภาวะการระบาดใหญ่ทั่วโลก (Pandemic)” นั้น เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2562 เป็นต้นมา ส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกหยุดชะงัก และส่งผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งนำมาซึ่งสิ่งที่เรียกว่า New Normal ที่ส่งผลให้วิถีชีวิตคนทั่วโลกแตกต่างไปจากเดิม กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี พ.ศ. 2563 นี้ จะหดตัวร้อยละ 3 สำหรับเศรษฐกิจประเทศไทยนั้นเริ่มชะลอตัวมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากภาวะสงครามการค้า และสถานการณ์ภัยแล้งที่ส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง (ข้อมูลจาก ธนาคารไทยพาณิชย์: ประเทศไทยหลังโควิด-19 ตอนที่ 1 ผลกระทบเศรษฐกิจและตลาดแรงงานไทย, 2563) ในส่วนของผลกระทบจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศค่อนข้างมากจึงส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก เศรษฐกิจไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยเต็มรูปแบบ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการฟื้นฟูกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างเร่งด่วน โดยควรมุ่งส่งเสริมนวัตกรรมในด้านต่างๆ ดังนี้

การจ้างงาน: จากผลพวงด้านเศรษฐกิจ ที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้มีแรงงานตกงานมากขึ้น โดยแรงงานที่ได้รับผลกระทบแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ แรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม และผู้ประกอบอาชีพอิสระ (ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย: กิจการเสี่ยงและมาตรการดูแลภายใต้ผลกระทบของ โควิด-19, 2563) การส่งเสริมให้เกิดการบริโภคและลงทุนภายในประเทศเป็นมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานในสถานประกอบการและภาคการผลิต ตัวอย่างแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมการจ้างงาน เช่น แพลตฟอร์มที่ช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับของพนักงานที่ถูกเลิกจ้างให้แก่บริษัทอื่นๆ ที่กำลังสรรหาพนักงานเข้าทำงานโดยแสดงข้อมูลแบบเรียลไทม์ และแพลตฟอร์ม ที่ช่วยจับคู่คนหางานกับนายจ้างโดยให้บริการรูปแบบ QR Code เป็นต้น

การสร้าง/ส่งเสริมอาชีพ: จากการที่ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ทำให้เกิดการเติบโตของธุรกิจประเภท E-Commerce และธุรกิจบริการจัดส่ง (Delivery) อย่างรวดเร็ว เช่น Grab, Line Man, Food Panda, Get, Skootar และ Lalamove เป็นต้น ซึ่งช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ขนส่งเป็นอาชีพเสริมมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มที่ช่วยส่งเสริมอาชีพที่สามารถสร้างรายได้ที่บ้านได้จากงานฝีมือหัตถกรรม หรืองานที่ต้องใช้ความรู้ความสามารถส่วนบุคคลผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น

สวัสดิการสังคม: การฟื้นฟูผลกระทบจากโควิด-19 โดยการสร้างและพัฒนาระบบสวัสดิการสังคมให้แก่ประชาชน เช่น การรักษาพยาบาลฟรี การให้บริการแก่ประชาชนโดยเฉพาะผู้ยากจน ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มเป้าหมายพิเศษ เพื่อช่วยเสริมสร้างและมุ่งเน้นให้คนในชุมชนดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขและไม่มีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย นับเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องพัฒนานวัตกรรมเข้าไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนานวัตกรรมภาครัฐ ที่สามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส และทั่วถึง ตลอดจนไม่ละเมิดสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน

การเงินและสินเชื่อ: จากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ผู้คนจะเริ่มปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่มากขึ้น เช่น การทำธุรกรรมด้านการเงินผ่านระบบดิจิทัล การใช้พร้อมเพย์ และการใช้ QR code ตามร้านค้าต่างๆ การใช้ไมโครไฟแนนซ์เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับชาวบ้านที่ไม่มีรายได้ประจำที่แน่นอน ได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้มากขึ้น ดังนั้นการพัฒนาระบบเพื่อรองรับธุรกรรมทางการเงินดิจิทัลจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกระตุ้นการลงทุนในระบบให้เพิ่มมากขึ้น

การเข้าถึงบริการสาธารณะ: การบริการสาธารณะ ได้แก่ การให้บริการไฟฟ้า การให้บริการน้ำประปา การขนส่ง ทั้งทางน้ำ ทางบกและทางอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน หรือเพื่อการรักษาระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) เวลาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การจัดให้มีการนั่งที่เว้นที่ การกำหนดจำนวนของผู้ใช้บริการ เป็นต้น ตัวอย่างแพลตฟอร์มด้านการบริการสาธาณะเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 เช่น แอปพลิเคชันที่สามารถอำนวยความสะดวกในการซื้อตั๋วโดยสาร และวางแผนการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เป็นต้น

การดูแลกลุ่มเปราะบาง: กลุ่มเปราะบาง ได้แก่ กลุ่มเด็กแรกเกิด ถึงอายุ 6 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้พิการ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงต่อการได้รับเชื้อเมื่อไปโรงพยาบาล ดังนั้นการมีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่หรือการแพทย์ทางไกล (telemedicine) และการบริการจัดส่งยาถึงที่พักอาศัย จะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มผู้เปราะบางได้ ตัวอย่างแพลตฟอร์มการบริการสาธารณสุขออนไลน์ เช่น “Online Doc” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่ใช้ระบบการแพทย์ทางไกล ช่วยให้ผู้สูงอายุได้ปรึกษาแพทย์ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้นโยบายการศึกษาในช่วงโควิด ซึ่งเน้นการศึกษาแบบออนไลน์เป็นหลัก ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านการศึกษาออนไลน์มากมายที่มีความกระชับ เข้าใจง่าย มีรูปแบบ การเรียนรู้ที่น่าสนใจ สามารถทำให้กลุ่มเปราะบางเข้าถึงได้ในราคาประหยัด

จะเห็นได้ว่า จากวิกฤตการณ์นี้ ผู้คนทั้งในเมืองและชุมชนได้รับผลกระทบทุกหย่อมหญ้า นอกจากนี้ยังส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเกิดการเปลี่ยนแปลงไป การนำนวัตกรรมเพื่อสังคมในด้านต่างๆ มาช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงนับว่าเป็นความจำเป็นเร่งด่วน ที่ควรดำเนินการในระยะต่อจากนี้ไป