NIA จับมือร่วมกับ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถลงข่าวเปิดหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม (Social Innovation Driving Unit – SID) ประจำตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อดำเนินการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมหรือตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่ โดยช่วยบ่มเพาะ ยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถด้วยการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันให้เกิดผลงานนวัตกรรมที่เป็นต้นแบบหรือโครงการนำร่อง เพื่อพิสูจน์ผลสัมฤทธิ์ความเป็นไปได้และความเหมาะสม ในการนำนวัตกรรมเข้าไปแก้ไขปัญหาสังคมในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านความยากจนและการลดความเหลื่อมล้ำ
โดยภายในงาน ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้บรรยายในหัวข้อ “นโยบายและทิศทางการขับเคลื่อนนวัตกรรมของประเทศไทย” โดยมุ่งเน้นใช้ 7 นวัตกรรมเปลี่ยนประเทศ ได้แก่ 1. นวัตกรรมรูปแบบธุรกิจ 2. นวัตกรรมเชิงพื้นที่ 3. นวัตกรรมเพื่อสังคม 4. นวัตกรรมสาธารณะและภาครัฐ 5. นวัตกรรมข้อมูล 6. นวัตกรรมกระบวนทัศน์ และ 7.นวัตกรรมเชิงศิลป์
ท่านเกียรติศักดิ์ ตรงศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า โครงการหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมฯ เป็นโครงการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และการเข้าถึงบริการและสวัสดิการของรัฐ นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และความไม่เสมอภาค ในการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการแก้ปัญหาสังคมนั้น อาจจะเป็นกระบวนการ เครื่องมือ การดำเนินงาน หรือสิ่งต่างๆ ที่จะทำให้สังคมดีขึ้น และตอบโจทย์ความต้องการของสังคม โดยไม่จำกัดขอบเขตหรือความหมายในการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการคิดสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ
ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.ประยุกต์ ศรีวิไล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้กล่าวถึงปรัชญาและนโยบายในการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชนและท้องถิ่น โดยกำหนดยุทธศาสตร์เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และบริการวิชาการให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม พัฒนาการเรียนรู้และเสริมสร้างความเข้มแข็งก่อให้เกิดผลดีต่อชุมชน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามศักยภาพ
อีกทั้ง ดร.อำพล อาภาธนากร ผู้จัดการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสังคม ได้บรรยายในหัวข้อ “บทบาท ที่มา และกิจกรรม หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม Social Innovation Driving Unit” ที่มุ่งเน้นสนับสนุนผลงานนวัตกรรมพร้อมใช้ที่สามารถแก้ไขโจทย์ปัญหาของชุมชนในพื้นที่เป้าหมายเพื่อสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตได้