ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index – SPI)

ดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม (Social Progress Index – SPI) เป็นมาตรวัดที่สะท้อนความก้าวหน้าทางสังคมที่แยกเด็ดขาดจากความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ผลคะแนนมาจากตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคมซึ่งครอบคลุมความก้าวหน้าทางสังคมครบทั้งสามมิติ ได้แก่ 1) ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (Basic Human Needs) 2) พื้นฐานของการอยู่ดีมีสุข (Foundations of Wellbeing) และ 3) โอกาส (Opportunity) ดำเนินการโดย Social Progress Imperative ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนจากดีลอยท์ มูลนิธิ Skoll และได้รับความร่วมมือจาก ไมเคิล อี. พอร์เตอร์ แห่งโรงเรียนธุรกิจมหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด (Harvard Business School)


โดยภาพรวมในปี 2563 นี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในลำดับที่ 79 ของโลกจากที่สำรวจทั้งหมด 163 ประเทศ เมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านในอาเซียน เราตามหลังสิงคโปร์ (ลำดับที่ 29) และมาเลเซีย (ลำดับที่ 48) แต่นำหน้าอินโดนีเซีย (ลำดับที่ 84) เวียดนาม (ลำดับที่ 88) ฟิลิปปินส์ (ลำดับที่ 98) กัมพูชา (ลำดับที่ 118) เมียนมาร์ (ลำดับที่ 120) และ ลาว (ลำดับที่ 133) ส่วนประเทศที่มีความก้าวหน้าทางสังคมในระดับสูงสุดของโลกห้าประเทศแรกเรียงตามลำดับ ได้แก่ นอร์เวย์ เดนมาร์ก ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ และสวีเดน


เมื่อวิคราะห์องค์ประกอบด้านต่างๆ ที่ประเทศไทยทำคะแนนได้ดี 5 ลำดับแรกตามลำดับ ได้แก่ ด้านที่อยู่อาศัย (Shelter) โภชนาการและการแพทย์ขั้นพื้นฐาน (Nutrition and Basic Medical Care) น้ำและสุขาภิบาล (Water and Sanitation) การเข้าถึงความรู้ขั้นพื้นฐาน (Access to Basic Knowledge) และคุณภาพสิ่งแวดล้อม (Environmental Quality) อย่างไรก็ตาม องค์ประกอบที่ได้คะแนนน้อยและอาจจะต้องพิจารณาปรับปรุงต่อไป ได้แก่ ความครอบคลุมและการมีส่วนร่วม (Inclusiveness) สิทธิส่วนบุคคล (Personal Rights) ความปลอดภัยของบุคคล (Personal Safety) ทางเลือกและเสรีภาพส่วนบุคคล (Personal Freedom and Choice) และ การเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง (Access to Advanced Education) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์เพิ่มเติมเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มี 3 องค์ประกอบที่ประเทศไทยได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและควรต้องให้ความสำคัญต่อการเร่งพัฒนาเป็นพิเศษ ได้แก่ การเข้าถึงการศึกษาขั้นสูง ความปลอดภัยของบุคคล และสิทธิส่วนบุคคล


สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว และวางเป้าหมายที่จะช่วยประเทศไทยยกระดับดัชนีความก้าวหน้าทางสังคม จึงมีการดำเนินโครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน ประจำปี 2564 (City & Community Innovation Challenge 2021) ที่สามารถผลักดันไปสู่การใช้งานจริง เพื่อแก้ไขปัญหาในประเด็นท้าทายที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและชุมชน โดยเฉพาะปัญหาที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่าง ๆ ใน SPI อาทิ ด้านการศึกษา สันติภาพและการแก้ปัญหาความรุนแรง การแก้ปัญหาอาชญากรรม ความเท่าเทียมทางเพศ การเข้าถึงบริการสาธารณะ ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง โดยมุ่งหวังว่านวัตกรรมเพื่อสังคมจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการช่วยทำให้ประเทศไทยสามารถสร้างความก้าวหน้าในมิติเชิงสังคมและคุณภาพชีวิตของประชาชนที่ดีขึ้นต่อไป

ที่มา: Social Progress Imperative