นวัตกรรมทางแมคคาทรอนิกส์เพื่อช่วยเหลือชุมชน

นวัตกรรมมีความสำคัญต่อการสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งนวัตกรรมเพื่อชุมชนหมายถึงการประดิษฐ์คิดค้นทำขึ้นใหม่ หรือการเปลี่ยนแปลงแนวความคิดที่เปลี่ยนไปจากเดิม โดยนำนวัตกรรมมาสร้างแรงจูงใจในการสร้างรายได้ และมีเป้าหมายเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชน [1] เพื่อลดความเสี่ยงของผลประกอบการและการสร้างรากฐานความมั่นคงให้กับชุมชน แต่โดยส่วนใหญ่ชุมชนมักจะพบปัญหาและอุปสรรคในแต่ละพื้นที่ที่แตกต่างกันออกไป โดยมีปัญหาที่คล้ายคลึงกันก็คือ ปัญหาต้นทุนการผลิตสูง และปัญหาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ต้องการของตลาด

ด้วยเหตุนี้แมคคาทรอนิกส์จึงเป็นตัวเลือกที่จะนำศาสตร์ความรู้ไปพัฒนานวัตกรรมในชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ใช้งานง่าย ซึ่งแมคคาทรอนิกส์หมายถึงการนำศาสตร์ทางด้านเครื่องจักรกล มาผนวกกับศาสตร์ทางด้านไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ เพื่อควบคุมการทำงานของระบบอัตโนมัติ กึ่งอัตโนมัติ หรือระบบควบคุมอัจฉริยะ โดยการศึกษามุ่งเน้นการนำเอาความรู้ทางด้านวิศวกรรมแขนงต่างๆ และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรม [2] อย่างไรก็ตามในการออกแบบสร้างนวัตกรรมแต่ละครั้งต้องคำนึงถึงผู้ใช้งานด้วยว่าใครเป็นคนใช้งาน ในโลกของปัจจุบัน ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุค THAILAND 4.0 จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างระบบ IoT (Internet of Things) และ AI (Artificial Intelligence) มาพัฒนานวัตกรรมให้มีความฉลาด ลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพิ่มศักยภาพด้านการผลิต ช่วยเหลือชุมชนให้ได้รับความสะดวกสบาย เป็นการสร้างระบบแนวคิดแบบใหม่ให้กับชุมชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน โดยการใช้ทรัพยากรในชุมชนให้เกิดประโยชน์สูงสุด [3] อย่างไรก็ตาม การนำระบบอัตโนมัติมาใช้กับชุมชนเพื่อยกระดับการผลิตให้เทียบเท่ากับอุตสาหกรรมคงเป็นไปได้ยาก และยังไม่สามารถตอบโจทย์ในการช่วยเหลือชุมชนได้ทั้งหมด เพราะโดยปกติชุมชนก็ยังพึ่งพิงการจ้างงานแรงงานในพื้นที่กันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าหากระบบอัตโนมัติมาทดแทนจุดนี้ไป การจ้างงานก็จะลดลงทันที เมื่อชุมชนขาดรายได้ ความยั่งยืนก็จะหมดไป นอกจากนี้ชุมชนยังมองว่าการนำระบบอัตโนมัติมาใช้จะลดคุณค่าของผลิตภัณฑ์ลง เมื่อมีการผลิตสินค้าในปริมาณมากๆ สินค้าจะราคาต่ำลงเนื่องจากขาดความเป็นงานฝีมือ แต่ถ้านำศาสตร์ทางแมคคาทรอนิกส์บางส่วนและเทคโนโลยีที่ชุมชนเข้าถึงและเรียนรู้ได้ง่ายมาช่วยเหลือบางส่วนบางขั้นตอนในกระบวนการ โดยที่มาทดแทนกำลังคนบางส่วนเพื่อยังคงการจ้างงานในชุมชนอยู่ จะช่วยชุมชนได้อย่างยั่งยืน และยังคงอัตลักษณ์ วัฒนธรรมเอาไว้

ตัวอย่างโครงการนวัตกรรมเพื่อชุมชนที่นำศาสตร์ของแมคคาทรอนิกส์มาช่วยสร้าง และได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ได้แก่

โครงการเครื่องทอและจดจำลายผ้ากึ่งอัตโนมัติ โดย วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้าศูนย์ศิลปาชีพบ้านนาโปร่ง

เป็นโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมและชุมชนในการช่วยแก้ปัญหาการทอผ้ายกดอก โดยผ้ายกดอกต้องอาศัยฝีมือและความรู้ความชำนาญของผู้ทอเป็นอย่างมาก เนื่องจากการทอมีความยาก ผู้ทอมักกดตะกอผิดพลาด โดยทั่วไปการทอต้องใช้ผู้ทอ 2-3 คน เครื่องทอนี้จะช่วยจดจำลายผ้าทอยกดอกและออกแบบลายผ้า ที่ได้คุณภาพผ้าทอที่เทียบเท่ากับการทอด้วยกี่แบบดั้งเดิม เพื่อรักษาเอกลักษณ์ของผ้าทอมือของชุมชนต่อไป

โครงการเครื่องผลิตไหมอีรี่ (ชุดเปิดรังไหมและสางเส้นใยไหม) แบบกึ่งอัตโนมัติสำหรับชุมชน โดยวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ

ในการดำเนินโครงการมีการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการสางเส้นใยเข้ามาช่วยในการผลิตเส้นใย ทำให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้มีโอกาสรับความรู้เพิ่มเติม นับว่าเป็นการพัฒนาการผลิตเส้นใยของวิสาหกิจชุมชนผ้าไหมมัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนและมั่นคง เพื่อขยายตลาดให้สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์อันเป็นเอกลักษณ์นี้สู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศด้วย

กล่าวโดยสรุปในการนำองค์ความรู้ทางแมคคาทรอนิกส์มาใช้พัฒนาสังคมและชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมขึ้นมา จำเป็นต้องพัฒนาให้อยู่บนพื้นฐานของชุมชน ไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คน เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมชุมชนอย่างแท้จริง นับเป็นบริบทที่สำคัญที่จะนำไปสู่การยกระดับและพัฒนาอาชีพ สร้างความเข้มแข็ง สร้างงานให้กับชุมชน นอกจากนี้การขยายผลในอนาคต ต้องสื่อสารในชุมชนเพื่อสร้างการมีส่วนรวมในการพัฒนาชุมชน สร้างเครือข่ายกับชุมชนอื่นๆ เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเพราะจะทำให้สมาชิกมีโอกาสหารายได้เพิ่มมากขึ้นจากนวัตกรรม และร่วมกันเก็บรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นให้คงอยู่ต่อไป

ผู้แต่ง: นายณรงค์ธร  เนื้อจันทา ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
เอกสารอ้างอิง
[1] Arthur Schopenhauer,” The Process of Social Innovation”, innovations/spring 2006,145-162.
[2] Mechanical and Mechatronics Engineering Department. “What is Mechatronics Engineering?”. Prospective Student Information. University of Waterloo. สืบค้นเมื่อ 15 Dec 2020.
[3] พิชณิชา นิปุณะ,”นวัตกรรมเพื่อชุมชน สู่การพัฒนาอาชีพอย่างยั่งยืน”,คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้