นวัตกรรมเพื่อสังคมกับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

คงจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ปี 2020 เป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงของสรรพสิ่งมากมาย เริ่มต้นปีด้วยการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อไวรัสโคโรนา (Covid-19) ที่ได้คร่าชีวิตของมนุษย์ไปมากกว่า 1.7 ล้านคนทั่วโลก (อัพเดต: 28 ธันวาคม 2563) [1] ยังไม่รวมถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติสุดโหด ที่ได้ทิ้งบาดแผลมากมายไว้ให้แก่สิ่งมีชีวิตทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต้พืช หรือสัตว์ อาทิ เหตุการณ์ไฟไฟม้ป่าและน้ำท่วมหนักในออสเตรเลีย พายุฝนถล่มปากีสถานที่หนักที่สุดในรอบ 36 ปี น้ำท่วมอย่างหนักใน 3 ประเทศแถบเอเชียใต้ เป็นต้น รวมไปถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) อันเกิดจากภาวะโลกร้อน ที่ยังคงสร้างผลกระทบในวงกว้างอย่างต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ตัวอย่างของเหตุการณ์ข้างต้นนั้นเป็นเพียงไม่กี่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา ซึ่งเหตุการณ์ทั้งหมดล้วนแต่พบเจอได้ไม่บ่อยนักในประวัติศาสตร์ แต่! กำลังกลับกลายเป็นเหตุการณ์ที่กำลังเกิดบ่อยครั้งขึ้นและมากขึ้นในทั่วทุกหนแห่ง จนเริ่มจะกลายเป็นความเคยชินที่ทุกคนคุ้นเคย โดยที่มนุษย์เองไม่เคยตระหนักเลยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นภัยเงียบที่มีผลมาจากการกระทำของตัวมนุษย์เองทั้งสิ้น และมันกำลังคลืบคลานเข้ามาหาเราอย่างที่เราไม่ทันได้ตั้งตัว ดังที่อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้กล่าวไว้ว่า

มนุษย์กำลังทำสงครามกับธรรมชาติซึ่งนี่ถือเป็นการฆ่าตัวตาย เพราะธรรมชาติมักจะโต้กลับเสมอ และมันก็กำลังทำเช่นนั้นด้วยพลังและความโกรธที่เพิ่มมากขึ้น” [2]

ปัญหาสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปนั้นได้ส่งผลกระทบในอีกหลาย ๆ ด้านโดยที่เราเองก็คาดไม่ถึง อุณหภูมิเกือบ 1 องศาที่เพิ่มขึ้นจากเดิมนั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลให้โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยของพื้นผิวที่สูงขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลาย หรือระดับน้ำทะเลสูงขึ้นเท่านั้น แต่มันยังส่งผลให้เกิดการแปรปรวนของฤดูกาล และภัยธรรมชาติที่นับวันก็ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นอีกด้วย [3] จากรายงานของสภาเศรษฐกิจโลก 2563 (World Economic Forum; WEF) เปิดเผยว่า ในปี 2561 เศรษฐกิจของโลกได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติเป็นมูลค่ารวมกว่า 1.65 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ [4] นอกจากนี้ประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบในเชิงเกษตรกรรมเช่นเดียวกัน ผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากฝนไม่ตกตามฤดูกาล ภัยแล้ง ส่งผลถึงการลดลงของสัดส่วน GDP ที่ลดลงกว่า 2% อย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา (ปีพ.ศ. 2541-2561) [5] จะเห็นได้ว่าปัญหาดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ในมิติอันเป็น 3 ขาหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วย ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม สำหรับมาตรการการแก้ไขปัญหาแบบเก่าๆ ก็คงอาจจะไม่เพียงพอสำหรับแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ เนื่องจากโลกมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา จะดีกว่าไหม…หากมีการนำวิทยาศาสตร์ งานวิจัย และนวัตกรรม เข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก จึงมุ่งเน้นการสนับสนุนให้เกิดการสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาและแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสนับสนุนใน 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

  1. ด้านอุตสาหกรรมสะอาด (Clean Industry) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาพลังงานทดแทนจากชีวมวล การจัดการของเสียอย่างถูกวิธี (Waste management) และการพัฒนานวัตกรรมด้านอุปกรณ์หรือกระบวนการที่ก่อให้เกิดการประหยัดพลังงาน (Energy saving) อาทิ โครงการไม้เทียมจากขยะเถ้าลอยและเถ้าหนัก ที่เปลี่ยนขี้เถ้าจากการเผาไหม้ของถ่านหินในอุตสาหกรรม เป็นวัสดุรูปแบบใหม่ที่สามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชน โครงการก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกรสำหรับชุมชน ที่แก้ปัญหาด้านกลิ่นเหม็นที่เกิดขึ้นในชุมชนให้ได้มาซึ่งก๊าซชีวภาพ ที่สามารถใช้ทดแทนก๊าซหุงต้มภายในชุมชนได้ เป็นต้น
  2. ด้านผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Products) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มุ่งเน้นการประหยัดพลังงาน และรักษาสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยการออกแบบเชิงเศรษฐนิเวศ (eco-design) ผนวกกับการประเมินวัฏจักรชีวิต (life cycle assessment) ของผลิตภัณฑ์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน อาทิ โครงการการบริหารจัดการขยะถุงน้ำยาล้างไตเพื่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่สร้างคุณค่าให้กับขยะเหลือทิ้งและเป็นช่องทางการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนที่ร่วมโครงการ โดยแปรรูปถุงน้ำยาล้างไตเทียมที่ใช้แล้วให้กลายเป็นกระเป๋า และรองเท้า เป็นต้น

ทาง สนช. เชื่อว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าเกิดผลกระทบกับภาคส่วนหรืออุตสาหกรรมใดก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องใกล้ตัวของเราทุกคน การร่วมด้วยช่วยกันขับเคลื่อนให้เกิดนวัตกรรมขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ก็ไม่ควรจะเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายใดเพียงฝ่ายหนึ่งที่ต้องลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหานี้เพียงลำพัง หากแต่ควรเป็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาล เอกชน รวมไปถึงตัวของประชาชนเอง “กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด ปัญหาต่างๆ ก็ไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปภายในวันสองวันฉันนั้น” หากทุกภาคส่วนหันมาใส่ใจดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ลดการปลดปล่อยเชื้อเพลิงและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยหันมาใช้บริการรถสาธารณะมากขึ้น พกกระบอกน้ำติดตัวและใช้ถุงผ้าเพื่อลดการใช้ขยะพลาสติก หรือหันมาสนับสนุนการซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย เป็นต้น สิ่งเล็กๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้ อาจจะแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แค่หันมาตระหนักรู้สักนิด จะทำอะไรหยุดคิดสักหน่อย เพียงเท่านี้…โลกที่น่าอยู่ก็จะดำรงอยู่คู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

ผู้เขียน : พิชญาภัค เพชรสีสุข
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)

อ้างอิง
[1] Worldometer. 2020. COVID-19 CORONAVIRUS PANDEMIC (Online). https://www.worldometers.info/coronavirus/#page-top, 28 ธันวาคม 2563.
[2] JOSH EDELSON. 2563. ปี 2020 ติดโผ 1 ใน 3 ปีที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ (Online). https://www.posttoday.com/world/639505, 20 ธันวาคม 2563.
[3] ผู้ร้ายที่มาพร้อม CLIMATE CHANGE (Online). https://www.reanrooclimatechange.com/ pages/Learning-culprits-come-with-climate-change.aspx, 20 ธันวาคม 2563.
[4] พัฒน ชาญศิลป์. 2563. Economic of Climate Change : ภาวะโลกร้อนกระทบเศรษฐกิจโลกอย่างไร? (Online). https://www.scbeic.com/th/detail/product/6780, 28 ธันวาคม 2563.
[5] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ