เรื่องเล่า…ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม EP05

กรณีศึกษาชุมชนแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ “ปัญหาสิทธิการเข้าถึงที่ดินทำกินในภาคการเกษตร”

ท่านทราบหรือไม่ว่า เกษตรกรที่เป็นอาชีพหลักของประเทศไทยนั้นมีโอกาสเข้าถึงสิทธิในที่ดินทำกินน้อยมากเพื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ดำรงเลี้ยงชีพด้วยอาชีพนี้เป็นหลัก หากคิดเป็นสัดส่วนตัวเลขจำนวนเกษตรกรที่ต้องเช่าที่ดินทำการเกษตรมีสูงถึง 77.60 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของที่ดินภาคเกษตรกรรม (ที่มา: สํานักงานเศรษฐกิจการเกษตร) เนื่องจากปัญหาหนี้สินครัวเรือนเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นสาเหตุหลักสำคัญให้เกษตรกรตัดสินใจเปลี่ยนแปลงผู้ถือครองที่ดินโดยการขายหรือจำนองที่ดินกับแหล่งเงินทุนต่างๆ หรือปัญหาการกวานซื้อที่ดินของนายทุนที่ให้เงื่อนไขราคาสูงเพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนมือเจ้าของเพื่อขยายพื้นที่อุตสาหกรรม อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่จัดหาที่ดินสำหรับเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกินจะมีระดับความยากมากยิ่งขึ้น ซึ่งแปรผันโดยตรงกับกับกลไกของตลาดที่ดินที่มีราคาสูง เป็นการผลักภาระการผ่อนค่าเช่าหรือซื้อที่ดินในราคาแพงให้กับกลุ่มเกษตรกร

การให้ความสำคัญเรื่องปากท้องของประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเนื่องจากเป็นต้นตอของปัญหาสังคมเชิงโครงสร้าง คนที่ร่ำรวยก็มีโอกาสเลือกสรรทางเลือกได้มากกว่าคนจนที่ไม่มีทางลืมตาอ้าปากได้แม้กระทั่งการทำให้ท้องอิ่มยังเป็นเรื่องที่ยากลำบากของคนชนชั้นล่าง อย่างไรก็ตาม การหวังถึงโลกที่ทุกคนมีโอกาสได้รับปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิตอย่างเท่าเทียมกัน คงเป็นความฝันที่ไม่ไกลเกินไปนัก หากได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องจากหลายภาคส่วน มาร่วมกันทำงานที่มีจุดมุ่งหมายถึงผลลัพธ์ที่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มโอกาสการเข้าถึงที่ดินทำกินได้ง่ายมากยิ่งขึ้น

คำกล่าวที่ว่า ไม่มีใครจะรู้จักต้นตอปัญหาของเราไปได้ดีกว่าตัวเราเองนั้น คงใช้ได้กับประชาชนในพื้นที่ที่มีความต้องการแก้ไขปัญหาในประเด็นต่างๆ การที่จะพัฒนาและยกระดับความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ได้นั้น ต้องทราบถึงต้นตอของปัญหาอย่างละเอียดและรอบคอบ จึงจะสามารถกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ หากเปรียบเทียบกับวิธีการทดลองวิทยาศาสตร์ อย่างที่เราทราบกันดีว่า การกำหนดปัญหาและตั้งสมมติฐานเป็นก้าวแรกที่สำคัญ เพราะเป็นการริเริ่มวางแผนแนวทางการดำเนินงานแก้ไขปัญหาในลำดับถัดไป หากเรากำหนดโจทย์ปัญหาผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็ไม่มีทางสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ นอกจากนี้ อย่าลืมว่าในชีวิตจริงพื้นที่เป้าหมายไม่ใช่พื้นที่การทดลองเหมือนในห้องวิทยาศาสตร์ที่จะสามารถดำเนินการแบบลองผิดลองถูกได้ เพราะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบทางตรงนั้น คือ ประชาชนในพื้นที่ที่มีเรื่องปากท้องเป็นปัจจัยสำคัญ

ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สนช.) จึงยึดมั่นในการทำงานตามความต้องการของประชาชนในพื้นที่เป้าหมายเป็นหลัก โดยยึดหลักการที่ว่า “ไม่มีใครสามารถกำหนดปัญหาได้ดีไปกว่าคนในพื้นที่” โดยหนึ่งพื้นที่เป้าหมายของโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม คือ ชุมชนแคนดง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ประสบปัญหาเรื้องรังกันมาอย่างยาวนาน คือ เกษตรกรไม่สามารถเข้าถึงที่ดินทำกินได้ เกิดการเช่าพื้นที่การเกษตรในราคาที่สูง และผลผลิตทางการเกษตรที่ได้ไม่สมดุลกับต้นทุนและรายจ่าย ทำให้ไม่สามารถสร้างตัวจากอาชีพเกษตรกรได้ ทั้งๆ ที่ชุมชนเองมีจุดเด่นของผลิตผลทางการเกษตร เช่น ข้าวโพดอินทรีย์ภูเขาไฟ ที่มีรสชาติลักษณะเฉพาะโดยมีจุดเด่นที่เม็ดเรียงตัวสวย เต่งตึง หอมหวาน และกรอบ เป็นต้น โดย สนช. ได้มีการทำงานร่วมกับ นิคมสหกรณ์สตึก จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีเป้าหมายส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดความเข้มแข็งและเพิ่มทางเลือกให้กับอาชีพเกษตรกร โดยมีการจัดสรรแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์สำหรับการทำเกษตรกรรมให้กับประชาชนในพื้นที่ตำบลแคนดงจำนวน 70 ไร่ ให้สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพได้ โดยวิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกผักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านโนนสมบูรณ์ ตำบลแคนดง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่มีสมาชิกรวม 35 ราย ได้รับความร่วมมือด้านวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ในการช่วยออกแบบระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาภัยแล้งสำหรับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยมีการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านแหล่งน้ำสำหรับภาคการเกษตร โดยออกแบบระบบธนาคารน้ำใต้ดินพร้อมทั้งระบบกระจายน้ำไปสู่แปลงปลูกพืชหลากหลายชนิดและโรงเพาะเห็ด (ภาพที่ 1) และยังได้รับความร่วมมือจากบริษัท ไดน่าแมค เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในการออกแบบระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถควบคุมด้วยระบบ IoT สำหรับการใช้งานภาคเกษตรกรรม (ภาพที่ 2) สำหรับกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดภูเขาไฟ จำนวน 15 ราย อีกทั้งยังมีการนำระบบควบคุมฟาร์มเกษตรอัจฉริยะสำหรับชุมชนของ บริษัท มูฟ อัพ จำกัด มาใช้งานให้กับกลุ่มเกษตรปลอดภัยจำนวน 32 ราย ในการบริหารจัดการระบบควบคุมการให้น้ำในโรงเรือนปลูกผักที่มีราคาสูง เช่น ผักคอส ผัดสลัด เป็นต้น จำนวน 3 โรงเรือน (ภาพที่ 3) จะเห็นได้ว่าการมีโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกินทำให้เกษตรกรในพื้นที่สามารถสร้างอาชีพใหม่และมีรายได้เพิ่มขึ้น 6,500 บาทต่อครัวเรือน

สุดท้ายแล้วการมีคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นสิ่งที่คนทุกชนชั้นต้องการ กล่าวคือ มีการทำงานที่สร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวและสังคมรอบข้าง ตลอดจนมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานของการดำรงชีวิตที่มีความสุข สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดโอกาสการเข้าถึงอาชีพที่สามารถสร้างตัวได้ ดังนั้น การบรรเทาปัญหาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงพื้นที่ทำกินของเกษตรกรนั้น จะสามารถจุดประกายความหวัง และเป็นทางเลือกใหม่ให้กลุ่มคนส่วนใหญ่ในประเทศให้สามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขที่จับต้องได้ โดย สนช. มุ่งหวังในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งในนามขององค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ตรงตามความต้องการของชุมชน โดยการริเริ่มคัดสรรพื้นที่นำร่องสำหรับการนำผลงานนวัตกรรมเพื่อสังคมพร้อมใช้ นำไปบรรเทาปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างตรงประเด็น และคาดว่าโมเดลดังกล่าวจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างให้กลุ่มชุมชนอื่นกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาพื้นที่ของตนด้วยความร่วมมือกับองค์กรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่มั่นคงต่อไป

ภาพที่ 1 โครงการระบบบริหารจัดการน้ำรับภัยแล้งสำหรับพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่

ภาพที่ 2 โครงการ “Neo-Solar” ระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร

ภาพที่ 3 โครงการระบบควบคุมฟาร์มเกษตรอัจฉริยะสำหรับชุมชน

โดย วรรณิตา ทองพัด (ขิม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)