เบื่อกันมั้ย ใช้แต่ถุงผ้าเดิมๆ ?
‘การเปลี่ยนไปใช้ถุงผ้า’ น่าจะเป็นสเต็ปเริ่มต้นง่ายๆ ของไลฟ์สไตล์แบบ Eco-friendly แต่ถ้าใครอยากลองเพิ่มดีกรีความอีโค่อีกขั้น ด้วยการหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ทำมาจากขยะเหลือทิ้งกันดูบ้าง ต้องไม่พลาดกับสิ่งนี้ นวัตกรรมกระเป๋าจาก ‘ถุงน้ำยาล้างไต’ ขยะเหลือทิ้ง ที่เพียงแค่ในประเทศไทยเองก็มีจำนวนมากถึง 30 ล้านถุงเลยทีเดียว
หลายคนก็น่าจะคิดเหมือนกันว่าเจ้าขยะการแพทย์ที่ดูเปื้อนทั้งสารเคมี สารคัดหลั่งแบบนี้ จะเอาไปทำประโยชน์อะไรต่อได้ นอกจากต้องรีบเผาทำลายทิ้ง แต่ไม่ใช่กับ รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต สถาปนิกที่นำ ‘ถุงน้ำยาล้างไต’ ไปผ่านกระบวนการอัปไซเคิล เพื่อเปลี่ยนสภาพของเหลือทิ้งให้กลับมาเป็นแฟชั่นไอเทม ที่ไม่ได้มีดีแค่ดีไซน์สะดุดตาน่าใช้ แต่ยังรักษ์โลกอีกด้วย
แรงบันดาลใจของ ‘กระเป๋าจากถุงน้ำยาล้างไต’ นี้ มาจากบริษัทผลิตถุงน้ำยาล้างไต ที่มีโอกาสได้ลงพื้นที่ชุมชนที่มีผู้ป่วยโรคไตอยู่ จนไปเจอเข้ากับถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วถูกทิ้งเป็นขยะเกลื่อนเต็มสองข้างทาง จึงได้ลองมาปรึกษากับ อ.สิงห์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ให้ช่วยหาวิธีจัดการอะไรบางอย่าง ที่ดีกว่าการเก็บไปเผาทิ้งให้เป็นมลพิษแบบที่ทำอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเริ่มลงไปศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติของถุงน้ำยาล้างไตให้ลึกขึ้นที่ Scrap Lab ศูนย์วิจัยวัสดุศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็พบว่าตัววัสดุนั้นมีความเหนียว แข็งแรงมากไม่ต่างจากหนังวัว แถมยังทนทานต่อความร้อน กันน้ำได้ แต่ยังมีลวดลายข้อมูลการแพทย์ที่อาจทำให้คนกลัว จึงปิ๊งไอเดียว่าอยากทดลองนำมาปรับลุคให้ดูแปลกตา กลายเป็นกระเป๋าแฟชั่น ลายแพทเทิร์นแนว Typography สมัยใหม่ ดูเผินๆ แล้วอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำมาจากขยะเหลือทิ้งที่เคยถูกใช้งานมาแล้ว
การจะแปลงโฉมถุงน้ำยาล้างไต ให้กลายมาเป็นกระเป๋าแบบที่เห็น ต้องใช้กระบวนการนวัตกรรมด้านการแปรรูปที่ค่อนข้างซับซ้อน เพราะเป็นวัสดุที่ไม่เคยถูกนำมาใช้งานแบบนี้มาก่อน โดยเริ่มต้นจากนำถุงน้ำยาล้างไตไปซักล้างทำความสะอาด ตัดและนำไปรีดให้ออกมาเป็นแผ่นๆ ก่อนจะต้องนำแผ่นวัสดุที่ว่ามาซ้อนกัน 2 ชั้นด้วยความร้อน ซึ่งในช่วงแรกเจอปัญหาว่า รีดถุงเรียบบ้างไม่เรียบบ้าง ใช้ความร้อนไม่พอดี จนทำให้แผ่นวัสดุละลายหรือเชื่อมกันไม่สนิทบ้าง ทีม Scrap Lab เองถึงกับต้องลงมาศึกษา คิดหากรรมวิธีการผลิตนี้ใหม่ทุกขั้นตอน ใช้เวลารวม 6 เดือน กว่าจะทำต้นแบบออกมาได้สำเร็จ ก่อนจะมอบกระเป๋าดังกล่าวให้กับเพื่อนสนิทเพื่อเป็นของขวัญวันเกิด
แต่จู่ๆ ก็มีเรื่องที่ทำให้อ.สิงห์ต้องเซอไพรซ์ เพราะเพื่อนเจ้าของกระเป๋าฟีดแบ็กกลับมาว่า มีอีกหลายคนที่สนใจและอยากใช้เจ้ากระเป๋าสุดรักษ์โลกนี้เช่นกัน อ.สิงห์ที่เห็นว่าผลิตภัณฑ์นี้มีดีมานด์ตลาดจริง จึงมีแนวคิดอยากจะต่อยอดทำผลิตภัณฑ์นี้ออกสู่ตลาดต่ออย่างจริงจัง ด้วยความมุ่งหวังว่า ‘กระเป๋าถุงน้ำยาล้างไต’ จะช่วยปรับทัศนคติของคนในสังคมที่มีต่อขยะเหลือทิ้ง และช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมให้ค่อยๆ กลับมาดีขึ้นได้
อ.สิงห์ จึงเริ่มต้นติดต่อหลายโรงพยาบาลที่มีคอนเนคชัน เพื่อขอรับซื้อถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้ว และฟอร์มทีมจาก Scrap Lab ให้มาช่วยกันดีไซน์กระเป๋าถุงน้ำยาล้างไต ออกมามากกว่า 50 แพทเทิร์น ตอบโจทย์การใช้งานทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่กระเป๋าใส่เหรียญ กระเป๋านามบัตร กระเป๋าเงิน กระเป๋าเอกสาร รวมถึง Limited Collection ต่างๆ ที่ร่วม Collab กับดีไซเนอร์แบรนด์ไทย และเริ่มวางขายที่ Scrap Shop ร้านขายไอเทมอัปไซเคิล ประจำม.เกษตร
เข้าสู่ปีที่ 10 จากวันแรกที่เริ่มต้นไอเดียกระเป๋าอีโค่นี้ แต่กลับไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่ดีไซน์สินค้าใหม่ๆ ออกมาให้เราได้ซื้อไปใช้กัน เพราะอ.สิงห์มีความตั้งใจอยากส่งต่อองค์ความรู้ในการทำกระเป๋าให้กับคนในชุมชนรายได้น้อย เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและขยายโปรเจคต์ให้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ในวงกว้างขึ้นไปอีก จากเดิมที่ทีมงาน Scrap Shop ต้องตัด ต้องรีดแผ่นวัสดุ และผลิตกระเป๋ากันเองทุกขั้นตอน
แม้จะปักธงเป้าหมายต่อไปไว้ชัด แต่ก็ยังติดขัดปัญหาว่าชุมชนขาดเครื่องไม้เครื่องมือที่ต้องใช้ เพราะมีราคาค่อนข้างสูง เห็นดังนั้น อ.สิงห์ จึงเริ่มเสิร์ชหาข้อมูลว่ามีใครที่จะสามารถสนับสนุนต้นทุนตรงนี้ได้ ก่อนจะได้รู้จักกับโครงการ ‘ทุนนวัตกรรมเพื่อสังคม’ ของ NIA ที่กำลังมองหาไอเดียนวัตกรรมดีๆ ที่ช่วยจัดการเรื่องปัญหาขยะพลาสติก จึงลองมาพิชชิ่งเสนอโปรเจคต์กับ NIA
เมื่อผ่านการคัดเลือก ทีมงานนำเงินทุนที่ได้รับไปซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นเข้าไปติดตั้งให้กับชุมชน พร้อมเวิร์กช็อปสอนวิธีการล้างทำความสะอาด การตัดและรีดแผ่นถุงน้ำยาล้างไต ให้กับคนว่างงานและผู้สูงอายุในชุมชนการเคหะดินแดง 1 ก่อนจะจัดส่งถุงน้ำยาล้างไตที่รับซื้อมาจากโรงพยาบาล ไปให้ชุมชนช่วยกันเตรียมวัสดุให้พร้อมนำไปผลิตกระเป๋าต่อได้
หลังจากนั้น Scrap Shop จะรับซื้อวัสดุสำเร็จรูปกลับมาในราคากิโลกรัมละ 18 – 25 บาท เพื่อเป็นรายได้เสริมให้คนในชุมชน และในอนาคตอันใกล้นี้ ทีมอ.สิงห์ ยังเตรียมผลักดันให้ชาวบ้านสามารถตัดเย็บสินค้าได้เอง และหวังว่า ‘กระเป๋าถุงน้ำยาล้างไต’ นี้ จะกลายเป็นหนึ่งอาชีพเลี้ยงปากท้องให้กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป
ใครที่เห็นแล้วอยากได้กระเป๋าดีไซน์เก๋ พ่วงคอนเซ็ปต์รักษ์โลกดีๆ แบบนี้ สามารถสั่งออนไลน์ได้ที่ @scrapshopkaset หรือถ้าอยากเห็นหน้าตาผลงานจริงๆ สามารถแวะเข้าไปดูได้ที่ O.D.S Siam Discovery และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)