เรื่องเล่า…ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม EP09

เรื่องเล่า…ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม กรณีศึกษาชุมชนนาหว้า จังหวัดนครพนม “นวัตกรรมจากวัฒนธรรมถิ่นอีสาน ดินแดนจักสานและหัตถกรรม”

เกษตรกรรมถือเป็นอาชีพหลักของคนในประเทศไทย ซึ่งในภาคอีสานมีพื้นที่กว่า 63.9 ล้านไร่เป็นพื้นที่สำหรับใช้ทำการเกษตร ประกอบด้วยพื้นที่ทำนา 41.7 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เกษตรกรนับว่าเป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ ต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความแปรปรวนของสภาพดินฟ้าอากาศ ระบบการผลิต กลไกราคา และอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้น เกษตรกรบางส่วนจึงต้องหาอาชีพเสริมจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาของชุมชนในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ จำพวกผลิตภัณฑ์จากงานจักสาน เช่น ก่องข้าว กระติ๊บข้าว เสื่อกก เป็นต้น หรืองานหัตถกรรม เช่น ผ้าทอมัดหมี่ย้อมคราม ผ้าไหม เป็นต้น

ตัวอย่างพื้นที่ที่น่าสนใจในการนำมาเป็นกรณีศึกษา คือ ชุมชนนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย เนื่องจากมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความแตกต่าง เช่น กลุ่มไทญ้อ กลุ่มไทแสก กลุ่มไทอีสาน กลุ่มกะเลิง และกลุ่มภูไท จึงมีกลุ่มอาชีพของแต่ละตำบลที่แตกต่างกันออกไป เช่น กลุ่มทอผ้าไหม กลุ่มมัดหมี่ย้อมคราม กลุ่มทอกก กลุ่มจักสานคล้า กลุ่มจักสานไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดการรวมตัวกันของผู้สูงอายุ บางกิจกรรมจำต้องใช้แรงและภาระกำลัง ขาดการสืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาสู่ลูกหลาน ดังนั้น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) จึงเห็นโอกาสในการพัฒนาชุมชน ภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เกิดการสืบทอดและส่งต่อวัฒนธรรมภูมิปัญญาท้องถิ่น ตัวอย่างเช่น การพัฒนาแอปพลิเคชัน “MudMee” ร่วมกับวิทยาลัยนาหว้า มหาวิทยาลัยนครพนม เพื่ออนุรักษ์ลวดลายผ้าของชุมชนนาหว้า โดยเก็บรักษาข้อมูลของลวดลายการออกแบบหรือถอดแบบไว้ในฐานข้อมูล และมีการแยกหมวดหมู่ เพื่อให้สามารถรักษาลวดลายดั้งเดิมไม่ให้สูญหายไป และสามารถเรียกข้อมูลลวดลายเดิมจากฐานข้อมูล เพื่อนํามาปรับปรุงหรือพัฒนาให้เป็นลวดลายใหม่ได้

นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้จากอัตลักษณ์ชุมชน ร่วมกับ บริษัท กรีน ฟอร์ โกรว์ กำจัด จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ การสกัดสีธรรมชาติ การทอผ้าด้วยกี่ขนาดเล็ก และการปักผ้าด้วยมือ โดยอาศัยหลักคิดการสร้างโรงเรียนในชุมชนที่มีคนในชุมชนเป็นครู ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีของชุมชน ได้เรียนรู้ เกิดความเคารพต่อชุมชน ส่วนคนในชุมชนก็เกิดความภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมี และมีรายได้เพิ่มจากกิจกรรมการถ่ายทอดประสบการณ์

สำหรับนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยทุ่นแรงของกลุ่มผู้สูงอายุ มหาวิทยาลัยนครพนม ได้ช่วยพัฒนาระบบทอเสื่อกกกึ่งอัตโนมัติ โดยออกแบบเครื่องทอกกให้ตัวเครื่องมีแขนสอดมารับเส้นกกโดยอัตโนมัติ โดยใช้แรงงานคนเพียง 1 คน ทำหน้าที่ในการรอป้อนเส้นกกให้กับเครื่อง และเมื่อได้ความยาวของเสื่อกกตามความต้องการ เครื่องทอสามารถม้วนเก็บเสื่อไว้ได้ภายในตัวเครื่อง ทำให้สามารถทอได้จนหมดเส้นกก นอกจากนี้ ยังมีการออกแบบเครื่องจักต้นคล้าที่สามารถควบคุมการทำงานการผ่าต้นคล้า และขนาดของเส้นคล้า ให้สามารถทำงานได้ง่าย ช่วยลดกำลังคนและลดระยะเวลาในการผลิต ในส่วนของการผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ มีการนำนวัตกรรมการปลูกคล้าแปลงใหญ่แบบสมาร์ทฟาร์มเพื่อชุมชน ร่วมกับ บริษัท พี อินทรีย์ ประเทศไทย จำกัด บนพื้นที่ชุมชน 4 ไร่ เพื่อผลิตคล้าให้มีปริมาณเพียงพอในการนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์จักสานของชุมชนที่สามารถสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์ได้อีกด้วย

อีกหนึ่งนวัตกรรมที่นำมาใช้ในชุมชน คือ การยกระดับวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นอีสานผ่านรูปแบบ Chef’s Table โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์ม Local Aroi” ที่เปรียบเสมือนเป็นชุมชนนวัตกรรมอาหารท้องถิ่น ใส่ความคิดสร้างสรรค์จนสามารถรังสรรค์ออกมาเป็นเมนูใหม่ ๆ หรือการจัดสํารับแบบใหม่ พร้อมกับสร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารผ่านรูปแบบ Chef’s Table ชุมชน ซึ่งมีเมนูที่หลากหลาย เช่น แจ่วมะเขือกับข้าวโป่งย่าง ปลานิลยัดไส้สมุนไพรครีมมี่ซอส โรลไก่ย่างซอสครีมแจ่วพริกสด ไข่มดแดงหวาน มันรั่งเรเยอร์ กล้วยบวชชีฟิวชั่น เป็นต้น

และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างผลิตภัณฑ์ชุมชน และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน “นาหว้าพาเลาะ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนที่เชื่อมโยงกับการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านประสบการณ์ตรง และสามารถเลือกโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของชุมชนนาหว้า ได้อย่างน่าสนใจและทั่วถึงมากขึ้น

จากการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม ณ ชุมชนนาหว้า จังหวัดนครพนม ซึ่งถือเป็นพื้นที่นำร่องที่มีการใช้นวัตกรรมเข้าไปแก้ไขปัญหาของชุมชน เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากควบคู่ไปกับการอนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน ส่งผลให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ ทำให้คนรุ่นหลังมีความตระหนักถึงประโยชน์ของวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน โดยในโครงการนี้มีผู้ได้รับประโยชน์จำนวน 12,410 คน คิดเป็นร้อยละ 24 ของประชากรทั้งหมดในพื้นที่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าชุมชนนี้จะเป็นพื้นที่นำร่องที่นวัตกรรมสามารถช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนแบบยั่งยืน และชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ต่อไปในระยะยาว

ผู้เขียน : นางสาววรรนิภา พงษ์ไทยสงค์
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)