เปิดรับสมัครโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา ปีงบประมาณ 2567

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดรับสมัครโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา ปีงบประมาณ 2567 ใน 9 ด้านได้แก่

  1. ด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นการจัดการของเสียทั้งจากชุมชน โรงงานอุตสาหกรรม และภาคการเกษตร โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังมีการนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และระบบนิเวศทั้งทางบก ทางอากาศ และทางทะเล
  2. ด้านความเชื่อมโยงระหว่าง อาหาร น้ำ และพลังงาน เป็นการให้ความสำคัญในการส่งเสริมความเชื่อมโยงการผลิตพลังงานจากวัตถุดิบพลังงานทดแทนที่มีอยู่ภายในประเทศให้ได้เต็มตามศักยภาพ การพัฒนาศักยภาพการผลิตพลังงานทดแทนด้วยเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสม และการพัฒนาพลังงานทดแทนที่ไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและน้ำ หรือการผลิตอาหารที่มีการอนุรักษ์น้ำและพลังงาน ตลอดจนการจัดการน้ำที่ส่งเสริมการผลิตอาหารหรือพลังงาน
  3. ด้านการศึกษา เป็นการนำนวัตกรรมเข้าไปปรับปรุงการศึกษา ให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
  4. ด้านการเงิน การจ้างงาน และสวัสดิการสังคม เป็นการสร้างรูปแบบนวัตกรรมการจัดการที่ส่งเสริมให้เกิดการเข้าถึงบริการทางการเงิน และสวัสดิการสังคมอย่างทั่วถึง หรือการส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานในกลุ่มบุคคลต่าง ๆ เช่น การจ้างงานในชุมชน การจ้างงานสำหรับผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาส การจ้างงานสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น
  5. ด้านเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการสร้างมูลค่าให้กับวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ โดยมุ่งเน้นการใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรรายย่อยภายในประเทศมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สามารถตอบสนองการเติบโตของตลาดผลิตภัณฑ์อินทรีย์ควบคู่ไปกับการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับระบบการเกษตรของประเทศ
  6. ด้านภาครัฐและความเป็นเมือง เป็นการนำนวัตกรรมเข้าไปปรับปรุงกระบวนการในการเข้าถึงการบริการภาครัฐ นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสและมีธรรมาภิบาลควบคู่ไปด้วยกัน รวมถึง การส่งเสริมการแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมเมือง ที่มีบริบทเกี่ยวข้องต่อสภาพความเป็นอยู่ หรือคุณภาพชีวิตของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมือง เช่น ปัญหาด้านการขนส่งมวลชน ปัญหามลพิษ ปัญหายาเสพติด ปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นต้น
  7. ด้านสุขภาพ เป็นการส่งเสริมการดูแลสุขภาพในระยะยาว การพัฒนากระบวนการเข้าถึงการรักษาของชุมชนในพื้นที่ห่างไกล การลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ตลอดจนพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพที่ทดแทนการนำเข้า ราคาถูก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
  8. ด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม เป็นการนำผลผลิตสร้างสรรค์จากอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีผลกระทบเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในรูปแบบของสินค้าหรือบริการ กระบวนการผลิต การบริหารจัดการในองค์กร การเปิดตลาดใหม่และการสื่อสารทางการตลาด ซึ่งเป็นที่ยอมรับและสามารถนำไปใช้ได้จริง โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการมีส่วนร่วมจากชุมชน
  9. ด้านการจัดการภัยพิบัติ เป็นการแก้ปัญหา และป้องกันภัยภิบัติต่าง ๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วมหรือการขาดแคลนน้ำ ปัญหาไฟป่า ปัญหาภัยพิบัติจากทะเลและชายฝั่ง ปัญหาแผ่นดินไหว เป็นต้น โดยการนำนวัตกรรมการจัดการ กระบวนการ หรือผลิตภัณฑ์เข้ามามีส่วนร่วม

คุณสมบัติของผู้เสนอโครงการ

  • นิติบุคคลซึ่งจดทะเบียนในประเทศไทย (บริษัท หจก. มูลนิธิ สมาคม วิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์) ซึ่งมีหุ้นอันเป็นทุนตั้งแต่ร้อยละ 51 ของนิติบุคคลนั้น ถือโดยบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย
  • ไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น (เว้นแต่ทุนนั้นเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ซ้ำซ้อนจากที่ขอรับการสนับสนุน)
  • ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ตามคำพิพากษาในคดีแพ่ง หรือผู้ต้องโทษในคดีอาญา
  • ไม่สามารถขอรับการสนับสนุนในนามของนักวิจัยโดยตรงได้

เกณฑ์การพิจารณา

         สำหรับโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคม จะทำการพิจารณาโครงการที่ยื่นเข้ามาขอรับทุนสนับสนุนพัฒนานวัตกรรมตามหลักเกณฑ์ใน 3 ด้านหลัก คือ

  • ความเป็นนวัตกรรม
  • ผลกระทบทางสังคม
  • ความยั่งยืนของโครงการ

รูปแบบการสนับสนุน

  • ผู้ผ่านเกณฑ์การสนับสนุนจะได้รับเงินสนับสนุนเพื่อดำเนินโครงการมูลค่าไม่เกิน 1,500,000 บาทต่อโครงการ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การสนับสนุนโครงการที่สำนักงานฯ
  • การจ่ายเงินเพื่อให้การสนับสนุนผู้เข้าร่วมโครงการ จะเป็นลักษณะการเบิกค่าใช้จ่ายย้อนหลัง (reimbursement) ซึ่งผู้ได้รับการสนับสนุนจะต้องออกค่าใช้จ่ายในโครงการแต่ละงวดไปก่อน ตามแผนงาน แล้ว สนช. จะทำการเบิกจ่ายให้เป็นรายงวด
  • กรณีผู้ขอรับทุนเป็นภาคเอกชน จะต้องแสดงค่าใช้จ่าย (In-Cash) ที่เกิดขึ้นหลังจากลงนามสัญญาส่วนของผู้ขอรับทุนไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าโครงการ
  • สนช. ไม่สนับสนุนค่าใช้จ่ายในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax, VAT)

 ขั้นตอนและระยะเวลา

  1. เปิดรับข้อเสนอ concept idea ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ตุลาคม 2566 โดยสามารถลงทะเบียนได้ที่ mis.nia.or.th
  2. พิจารณาข้อเสนอ concept idea
  3. ยื่นข้อเสนอโครงการ (เฉพาะโครงการที่ผ่านการพิจารณา concept idea)
  4. นำเสนอโครงการต่อคณะอนุกรรมการฯ เพื่อพิจารณาอนุมัติดำเนินโครงการ

ทั้งนี้ จะมีการแจ้งประสานการพิจารณาโครงการตลอดกระบวนการ ผ่านทาง email ของผู้สมัครเป็นหลัก

ดาวน์โหลดข้อเสนอโครงการ

ดาวน์โหลดคู่มือการลงทะเบียน

หมายเหตุ  จำนวนโครงการที่ได้รับการสนับสนุนขึ้นอยู่กับงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรจากกองทุน ววน.

ช่องทางการติดต่อ

  1. อีเมล์ : social@nia.or.th
  2. โทรศัพท์ : 02-017-5555 ต่อ 547-548, 550-551