นวัตกรรมกี่ทอผ้าจากขยะเศษหนังที่ออกแบบสำหรับคนตาบอด สู่แบรนด์ V – Craft ทอด้วยใจ…ห่วงใยสิ่งแวดล้อม

คนพิการ นอกจากจะขาดโอกาสในการทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพแล้ว ทัศนคติของนายจ้างที่มองว่าคนพิการอาจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาจจะกังวลเรื่องการดูแลสวัสดิภาพของคนพิการในที่ทำงาน ยังส่งผลต่อการจ้างงานคนพิการอีกด้วย ทำให้ผู้พิการเผชิญกับปัญหาในการประกอบอาชีพและยังขาดรายได้ในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัว ผู้พิการส่วนมากจึงต้องรอการดูแลจากทางภาครัฐ ซึ่งเบี้ยคนพิการอาจเป็นรายได้เพียงทางเดียวของผู้พิการ ที่ได้รับเพียงเดือนละ 800 – 1,000 บาทเท่านั้น ทำให้ผู้พิการส่วนใหญ่มีความลำบากในการใช้ชีวิตและเกิดอาการท้อแท้กับปัญหาจากความพิการที่เป็นอยู่ อีกทั้งปัจจุบันการจ้างงานคนพิการ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 33 เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการ และหน่วยงานของรัฐรับคนพิการเข้าทำงานตามลักษณะของงานในอัตราส่วนที่เหมาะสมกับผู้ปฏิบัติงานในสถานประกอบการหรือหน่วยงานของรัฐ และตามกฎกระทรวงแรงงาน ที่กำหนดให้นายจ้างหรือสถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป รับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้างที่มิใช่คนพิการทุก 100 คน ต่อคนพิการ 1 คน เศษของ 100 คน ถ้าเกิน 50 คน ต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน ซึ่งความเป็นจริงของการจ้างงานคนพิการในปัจจุบัน ยังไม่สามารถช่วยสร้างงานให้คนพิการส่วนใหญ่ของประเทศได้

โดยสถานการณ์คนพิการของประเทศไทย มีจำนวนคนพิการถึง 2 ล้านกว่าคน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.33 ของประชากรไทย จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 แบ่งเป็นผู้พิการทางการเห็นถึง 178,103 คน หรือร้อยละ 8.10 ของจำนวนผู้พิการทั้งหมด ผู้พิการทางการเห็นจะประสบความลำบากในการใช้ชีวิต อาทิ การเดินทางในที่สาธารณะเนื่องจากสถานที่ไม่เอื้ออำนวย การช่วยเหลือตนเองในเรื่องการเคลื่อนไหว โดยผู้พิการทางสายตาบางคนอาจจะต้องมีผู้นำทางเกิดเป็นภาวะต้องพึ่งพิงผู้อื่น ปัญหาในการอ่านข้อความ อ่านป้ายฉลาก และไม่สามารถมองเห็นสภาพแวดล้อมใกล้ตัวได้ ทำให้ลำบากในการประกอบอาชีพไปด้วย

บริษัท วันดีวีคราฟท์ จำกัด มองเห็นว่าการเปิดโอกาสให้คนพิการได้มีงานทำและแสดงฝีมือเพื่อหาเลี้ยงชีพนั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับผู้พิการ จึงเกิดเป็นธุรกิจแบรนด์ V – Craft ที่ผลิตผลงานจากงานฝีมือของคนตาบอด โดยเริ่มธุรกิจมาจากการทำงานประเภทเชือกถักมาคราเม่ ผลิตกระเป๋า พวงกุญแจ ของแต่งบ้าน และได้ดำเนินการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องมายังผลิตภัณฑ์จากการทอผ้า โดยแนวคิดของ V – Craft คือการพัฒนาดีไซน์และสร้างตลาดให้สินค้าคนพิการมีช่องทางการหารายได้อย่างยั่งยืน ผู้บริโภคได้ผลิตภัณฑ์ที่สวยงาม และยังเป็นการช่วยเหลือผู้พิการได้อีกหนึ่งช่องทาง ทำให้ผู้พิการเห็นคุณค่าในฝีมือและรู้สึกภูมิใจ มีกำลังใจสร้างสรรค์ชิ้นงานที่มีความสวยงาม สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและครอบครัวได้เพิ่มมากขึ้น

โดยในโครงการนี้ทางบริษัท วันดีวีคราฟท์ จำกัด ที่ต้องการจะลดขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ซึ่งเป็นปัญหาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมในขณะนี้ โดยเป็นผลกระทบมาจาก Fast Fashion ที่เป็นพฤติกรรมการบริโภคสินค้าแฟชั่นอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนง่าย ใช้เพียงไม่กี่ครั้งก็ทิ้ง โดยจากสถิติขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ พบว่ามีการปลดปล่อยคาร์บอนถึงร้อยละ 2 – 8 ของทั้งโลก และคาดว่าในปี 2573 จะมีการปลดปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3-12 ของทั้งโลก บริษัทจึงได้ร่วมมือกับทีมผู้เชี่ยวชาญจากแบรนด์ The ReMaker ที่มีวัสดุเศษหนังเหลือใช้จำนวนมาก และมีส่วนช่วยในการออกแบบสร้างผลิตภัณฑ์ให้มีความสวยงาม โดยการนำวัสดุจากเศษหนังที่เหลือจากการใช้งานแบบ Fast Fashion มาผ่านกระบวนการ Upcycle ด้วยการนำมาตัดเป็นเส้น ให้คนตาบอดนำไปผลิตเป็นผลงาน โดยใช้เครื่องมือ กี่ทอผ้าแบบเฟรมที่ออกแบบมาช่วยคนตาบอดให้สามารถนำเศษหนังที่ตัดเป็นเส้นแล้วมาทอเป็นผืนได้ง่ายขึ้น

กี่ทอผ้าทำมาจากไม้ มีขนาดกะทัดรัด ขนย้ายได้ง่าย และมีการออกแบบพิเศษตรงหมุดที่ยึดเพื่อขึงเส้นเอ็น หรือภาษาทอผ้า เรียกว่า “เส้นยืน”  ให้มีพื้นที่ให้เส้นเอ็นสามารถยกระดับสูงต่ำได้ เพื่อให้คนตาบอดสัมผัส เพราะถ้าเป็นกี่โดยทั่วไปจะยกระดับเส้นยืนไม่ได้ แต่สำหรับคนตาบอด จำเป็นต้องใช้การสัมผัสเส้นที่สูงต่ำสลับกัน ส่วนเส้นยืนจำเป็นต้องใช้เส้นเอ็นที่เหนียวมาก เพราะผู้พิการต้องใช้กดให้เศษหนังขึ้นนูน และเพื่อให้มีลักษณะเฉพาะกับเศษผ้าที่ทอออกมา จึงทำให้สะดวกกับผู้พิการและสามารถทำงานที่บ้านได้ ซึ่งในการพัฒนาโครงการกี่ทอผ้าชุบชีวิตขยะเศษหนัง ยกระดับคุณภาพชีวิตคนตาบอดนี้ บริษัท วันดีวีคราฟท์ จำกัด ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง (SID-TU) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

NIA รู้สึกยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อช่วยผู้พิการให้สามารถสร้างรายได้ด้วยตนเอง และช่วยลดขยะที่เกิดจากอุตสาหกรรมแฟชั่นไปพร้อม ๆ กัน หากสนใจสนับสนุนผลิตภัณฑ์ของ V – Craft ที่มาจากฝีมือผู้พิการ สามารถติดต่อช่องทางออนไลน์ได้ที่ Facebook V – Craft Thailand

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • บริษัท วันดีวีคราฟท์ จำกัด
  • หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง (SID-TU)
  • กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
  • พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550
  • กฎกระทรวงกำหนดจำนวนคนพิการที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการและหน่วยงานของรัฐจะต้องรับเข้าทำงาน และจำนวนเงินที่นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องนำส่งเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2554
  • เว็บไซต์ เดลินิวส์ออนไลน์ หัวข้อข่าว “วิกฤติขยะเสื้อผ้าป่วนโลก เปลี่ยนแฟชั่นมาไวไปไวใช้ยั่งยืน” https://www.dailynews.co.th/news/3044285/

บทความโดย

วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)