เกาะสีชังเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีเสน่ห์และตั้งอยู่ในจังหวัดชลบุรี ด้วยประวัติศาสตร์ที่ยาวนานนับตั้งแต่สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เกาะแห่งนี้เคยเป็นสถานที่เสด็จประพาสของพระมหากษัตริย์ถึงสามพระองค์ ได้แก่ รัชกาลที่ 4 รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ด้วยความงดงามของธรรมชาติที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ และวัฒนธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน เกาะสีชังจึงเป็นจุดหมายปลายทางที่ดึงดูดนักท่องเที่ยว มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย เช่น ประภาคารเกาะสีชัง มณฑปรอยพระพุทธบาท แหลมถ้ำพัง สะพานอัษฎางค์ และสถานที่อื่น ๆ อีกมากมาย
สำหรับชุมชนบนเกาะสีชัง มีการรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสีชัง โดยได้ดำเนินการส่งเสริมการทำประมงของชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อนำปูม้ามาขายเป็นวัตถุดิบ แต่ยังคงเหลือเศษเนื้อปูม้าจำนวนมากที่ไม่มีผู้รับซื้อหรือขายได้ในราคาต่ำ จึงร่วมกันคิดค้นกระบวนการแปรรูปปูม้าเพื่อเพิ่มมูลค่า โดยเฉพาะการนำเศษเนื้อปูม้ามาสร้างสรรค์เป็น “ไอศกรีมปูม้า”
“ไอศกรีมปูม้า” เป็นการนำอาหารคาวมาผสมผสานกับอาหารหวานอย่างลงตัว ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมด้านการแปรรูปอาหารสร้างสรรค์ที่เพิ่มมูลค่าให้กับเศษเนื้อปูม้า เกิดเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของเกาะสีชัง มีทั้งแบบซอฟต์เสิร์ฟ (Soft Serve) และแบบปานี ปูรี (Pani Puri) ที่ได้รับการพัฒนาสูตรให้ทานง่ายขึ้น ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยว ผู้ที่ชื่นชอบอาหารพื้นถิ่นแปลกใหม่ และกลุ่มที่มาทำกิจกรรมเพื่อสังคมบนเกาะ ปัจจุบันสามารถจำหน่ายไอศกรีมปูม้าไปแล้วกว่า 2,600 ถ้วย ในราคาถ้วยละ 50 บาท
ทั้งนี้ วิสาหกิจฯ ยังรับซื้อปูม้าจากชาวประมงในพื้นที่ในราคาที่เป็นธรรม และใช้วัตถุดิบอย่างคุ้มค่า โดยมีการจ้างแรงงานท้องถิ่นที่เชี่ยวชาญในการแกะปู ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เพื่อแปรรูปปูม้าในหลายรูปแบบ เช่น การทำไอศกรีมปูม้าจากก้ามและเศษปู การนำน้ำจากเศษปูไปทำเป็นน้ำปลา และการนำเนื้อปูไปประกอบอาหาร
นอกจากการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์จากเศษเนื้อปูม้าแล้ว วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสีชังยังให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy) ที่มุ่งใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน และเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยเน้นการลดขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste)
โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง (SID-TU) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย NIA มุ่งหวังให้การสนับสนุนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์และสร้างอาชีพให้แก่คนในชุมชน พร้อมทั้งลดปริมาณขยะในกระบวนการผลิต เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำในอนาคต
หากสนใจผลิตภัณฑ์สามารถติดต่อได้ที่ : วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสีชัง จ.ชลบุรี และทางเว็บไซต์ https://kohsichangth.com/
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวโดยชุมชนเกาะสีชัง
- หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง (SID-TU)
- https://thai.tourismthailand.org – 2วัน1คืนเกาะสีชังแบบต๊าซ
- https://travel.kapook.com/viewhtml
บทความโดย
วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)