LANTARAY นวัตกรรมการสร้างสรรค์ขยะสู่ผลิตภัณฑ์แห่งท้องทะเล

ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา จังหวัดกระบี่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวที่เกาะพีพีและเกาะลันตากว่า 69,000 คน สามารถสร้างรายได้ถึง 1,064 ล้านบาท โดยมีปริมาณนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ทำให้สร้างรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณร้อยละ 70 โดยส่วนใหญ่คนที่มาเที่ยวเกาะลันตาเป็นนักท่องเที่ยวชาวสวีเดนและรัสเซีย

เมื่อเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ กลายเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมที่เต็มไปด้วยโรงแรมและร้านอาหาร รวมถึงวัฒนธรรมที่หลากหลายของชุมชนบนเกาะ ทั้งชาวไทยเชื้อสายจีน ชาวไทยมุสลิม และชาวเล ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีประวัติยาวนานกว่าร้อยปี แต่การท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ได้นำมาซึ่งปัญหาขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 25 ของขยะทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีขยะจากการทำประมงและขยะทะเล ทำให้การบริหารจัดการขยะเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข เพื่อคงความงดงามและยั่งยืนของเกาะลันตา

โครงการ “LANTARAY” จึงได้ถือกำเนิดขึ้นจากความรักและหลงใหลในความงามของท้องทะเลไทย พร้อมทั้งความผูกพันกับวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น โดยโครงการนี้มีแนวคิดในการนำวัสดุเหลือใช้จากการประมง เช่น ทุ่นแหอวนเก่า รวมถึงขยะพลาสติกจากชีวิตประจำวันและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว มาผ่านกระบวนการ Upcycling ผสมผสานกับงานหัตถกรรมท้องถิ่น จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในธีมโลกใต้ทะเล นอกจากนี้ LANTARAY ยังมุ่งเน้นการจัดการงานและทรัพยากรมนุษย์อย่างเป็นระบบ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการผลิตและพัฒนาผลงานควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น โครงการได้วางระบบในการจัดเก็บวัตถุดิบจากของเหลือใช้ในการประมงเพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และคุณค่า

โครงการ LANTARAY ยังช่วยสร้างงานให้กับชุมชน เป็นการใช้องค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีประกอบกับนวัตกรรมกระบวนการผลิตโดยใช้เครื่องหลอมพลาสติก จากนั้นนำมาขึ้นรูปเป็นวัสดุเพื่อใช้ในการทำหัตถกรรมต่อไป ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุที่ถูกทิ้งบนชายหาดและทะเล อีกทั้งยังเป็นการสร้างคุณค่าให้กับชุมชน โดยโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคใต้ ของมหาวิทยาลัยทักษิณ

โครงนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดขยะพลาสติก และวัสดุเหลือทิ้งที่เกิดขึ้นจากการทำประมง แต่ยังเป็นการสร้างงาน สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับคนในพื้นที่ผ่านการสร้างรายได้ ทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นมีการสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น และยังสอดคล้องตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของ SDG อีกด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

บทความโดย

วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)