ระบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับ

“โรคแผลกดทับเป็นหนึ่งในปัญหาที่ไม่ควรละเลยและมองข้าม โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยติดเตียงที่ไม่อาจเลี่ยงการที่จะต้องนอนอยู่บนเตียงเป็นเวลานาน ๆ ได้ ซึ่งหากละเลยผู้ป่วยในกลุ่มนี้อาจจะส่งผลถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี เมื่อเกิดแผลกดทับจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น 4-6 เท่า (Thai Journal of Nursing Council Vol. 31 No.3 July-September 2016)

แสดงจุดที่มีแรงกดทับสูงเมื่อนอนนิ่งเป็นเวลานาน ที่มา : https://blog.xsensor.com/stage-two-pressure-sores

แผลกดทับเกิดจากการที่บริเวณแผลในส่วนหนึ่งส่วนใดเกิดการกดทับลงไปเป็นระยะเวลานาน ทำให้ผิวหนังหรือเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังถูกทำลายแบบเฉพาะที่ ทำให้เกิดเนื้อตายและแผลขึ้นมา บางรายอาจมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยที่สาเหตุส่วนใหญ่นั้นเกิดจากการที่ผู้ป่วยขาดการเคลื่อนไหว เช่น นอนติดเตียงตลอดเวลา หรือ เคลื่อนไหวได้ไม่ค่อยดี ผู้ป่วยบางรายมีลักษณะ ผอม ผิวหนังบาง ขาดน้ำ ขาดอาหาร และอาจจะมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคเกี่ยวกับเส้นเลือด และแผลกดทับในผู้ป่วยบางรายสามารถเกิดได้จากเหงื่อ แบคทีเรีย รวมถึงการควบคุมการขับถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระไม่ได้ ทำให้เกิดความอับชื้นในบริเวณที่ถูกกดทับเป็นระยะเวลานาน จนเกิดเป็นแผลกดทับที่ลุกลามและส่งผลเป็นวงกว้างในท้ายที่สุด

สำหรับความรุนแรงของแผลกดทับ สามารถแบ่งเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ผิวหนังมีรอยแดง ๆ ใช้มือกดแล้วรอยแดงไม่จางหายไป ผิวไม่ฉีกขาด
  • ระยะที่ 2 ผิวหนังเสียหายบางส่วน แผลตื้น ไม่พอง ไม่เป็นตุ่มน้ำใส
  • ระยะที่ 3 แผลลึกถึงชั้นถึงไขมัน สูญเสียผิวหนังทั้งหมด
  • ระยะที่ 4 แผลลึกมองเห็นถึงกระดูก เอ็น กล้ามเนื้อ สูญเสียผิวหนังทั้งหมด

นอกจากนี้ยังมีแผลกดทับที่เรียกว่า Deep Tissue Injury (DTI) ซึ่งเป็นแผลกดทับที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ไม่ค่อยเคลื่อนไหว ผิวหนังไม่ฉีกขาด มีสีม่วงเข้มหรือสีเลือดนกปนน้ำตาล หรือพองเป็นตุ่มน้ำปนเลือด อาจเกิดความเจ็บปวดร่วมด้วย โดยไม่สามารถระบุระยะที่เป็นได้

จากรายงานสถานการณ์การเกิดแผลกดทับในต่างประเทศ พบว่ามีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก โดยพบการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยเรื้อรังจำนวนร้อยละ 2.2 – 23.9 และพบการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยระยะวิกฤติ (Acute care) จำนวนร้อยละ 0.4 – 38 แตกต่างกันตามบริบทของโรงพยาบาล สำหรับประเทศไทยพบอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับจำนวนร้อยละ 10.8 – 11.18 หรือคิดเป็นอัตราการเกิดแผลกดทับ 0.58 – 3.64 ต่อ 1,000 วันที่ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาล โดยกลุ่มผู้ป่วยที่เกิดแผลกดทับเป็นผู้สูงอายุและมักจะมีจำนวนวันที่นอนโรงพยาบาลเป็นเวลานาน (วารสารหัวหินสุขใจไกลกังวล ฉบับที่ 1 ฉบับที่ 1 มกราคม – เมษายน 2564)

จากที่มาของปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถช่วยป้องกันและตรวจจับการที่ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะเป็นแผลกดทับได้ คิดค้นขึ้นมาโดย บริษัท เฟมเม เวิร์ค จำกัด โดยการนำเอาองค์ความรู้เดิมมาต่อยอด คือ การนำเตียงลมอัตโนมัติ เซ็นเซอร์วัดแรงกดทับ และการแจ้งเตือนการเคลื่อนไหวแบบ Real time มาผสมผสานและเชื่อมต่อกันให้กลายเป็น “ระบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันแผลกดทับ” ที่สามารถช่วยลดระดับความเสี่ยงของผู้ใช้งานเตียง (Bed user) โดยกลไกลการทำงาน คือ การที่ผู้ใช้งานบนเตียงอยู่ในท่าทางใด ๆ เป็นระยะเวลานาน ๆ ระบบก็จะส่งข้อมูลผ่านการเชื่อมต่อไร้สาย แจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ พยาบาล และผู้ดูแล และระบบก็จะจัดการกระจายน้ำหนักตัว ปรับเปลี่ยนตำแหน่งแรงกดทับของเตียงให้เหมาะสม ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดแผลกดทับได้

ระบบอัตโนมัติเพื่อป้องกันการเกิดแผลกดทับนี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้สามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดแผลกดทับได้ดียิ่งขึ้น แต่ยังสามารถลดระยะเวลาที่จะต้องนอนบนเตียง ลดภาระการดูแลผู้ป่วยของแพทย์ พยาบาล และผู้ดูแลอีกด้วย หากระบบนี้ ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายทั้งในโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน หรือตามศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากและส่งผลกระทบที่ดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย นับเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมเพื่อสังคมของประเทศไทยด้านการดูแลรักษาสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่มีความน่าสนใจ และเป็นตัวอย่างความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุในระยะเวลาต่อจากนี้ไป

เอกสารอ้างอิง

  • LaVasseur SA, Helme RD. A double-blind clinical trial to compare the efficacy of an active based cream F14001 against aplacebo non-active based cream for the treatment of pressure ulcers in a population of elderly subject. J Adv Nurs 1992; 17:310-6.
  • Reddy M, Gill SS, Rochon PA. Preventing pressure ulcers: a systematic review. Jama. 2006; 296(8): 974-84.
  • ชวลี แย้มวงษ์และคณะ. อุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในแผนกอายุรศาสตร์. วารสารวิจัยทางการพยาบาล 2542; 3(1): 12-25.
  • วิจิตร ศรีสุพรรณ, วิลาวัณย์ เสนารัตน์, จิตตาภรณ์จิตรีเชื้อ, ลัดดาวัลย์ สิงห์ค าฟู, มาลินี วัฒนากูล. การลดอุบัติการณ์การเกิดแผลกดทับโดยการ พัฒนาคุณภาพการพยาบาล. พยาบาลสาร. 2547; 31( 4) : 68-85
  • ปัญญภัทร ภัทรกัณทากุล. ผลของการใช้นวัตกรรมที่นอนยางรถเพื่อปูองกันแผลกดทับในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ. วารสารพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข. 2555; 22(1): 48-60.
  • ปองหทัย พุ่มระย้า, อรพรรณ โตสิงห์, วรรณี สัตยวิวัฒน์, สุวิมล กิมปี, อภิชาติ อัศวมงคลกุล. ผลของการพยาบาลตามแนวปฏิบัติการพยาบาลต่อการปูองกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยศัลยกรรมกระดูก. สารศิริราช 2546; 55 (10): 587-98.
นายธนธัช คงสมบูรณ์
นักพัฒนานวัตกรรม
ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)