เด็กและเยาวชนถือว่าเป็นบุคลากรสำคัญในอนาคต การให้โอกาสกับเด็กและเยาวชนนั้น ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศอีกทางหนึ่ง แต่ยังมีเด็กและเยาวชนบางส่วนที่เมื่อหลงผิด แล้วต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งด้านการเสริมสร้างความรู้ การประกอบอาชีพ และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น จากแนวความคิดนี้เอง ทำให้ บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) ผู้พัฒนานวัตกรรม DJOP Smart Farm ระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะ จึงได้ร่วมมือกับสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดอุดรธานี โดยการใช้พื้นที่ว่างเปล่าหน้าสถานพินิจฯ กว่า 7 ไร่ ในการสร้างฐานเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ และโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โดยนวัตกรรมของโครงการนี้คือการพัฒนาระบบฟาร์มครบวงจร เพื่อส่งเสริมแนวคิดการทำเกษตรกรรม และการใช้พลังงานทดแทนมาสร้างองค์ความรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจฯ เพื่อใช้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชน โดยแบ่งออกเป็น 3 จุดให้เรียนรู้ ดังนี้
1) ฐานเรียนรู้ระบบปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์
เป็นการติดตั้งระบบปั๊มน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ โดยใช้แผงโซลาร์เซลล์จำนวน 8 แผง ซึ่งให้พลังงานสะสมถึง 3,000 วัตต์ และสามารถสูบน้ำได้สูงสุด 75,000 ลิตรต่อชั่วโมง อีกทั้งยังมีการวางระบบกักเก็บน้ำ 1,000 ลิตรไว้ใช้กับโรงเรือนเห็ด ซึ่งสามารถลดค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำทำแปลงเกษตรได้เฉลี่ยถึง 2,200 – 3,000 บาทต่อเดือน จะเห็นได้ว่าจุดนี้เป็นจุดที่ให้เยาวชนสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการสูบน้ำโดยไม่ใช้ไฟฟ้า วิธีกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ช่วยให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อปริมาณของการบริโภค อุปโภคตลอดทั้งปี
2) ฐานเรียนรู้การปลูกผักแบบไฮโดรโปนิกส์ระบบน้ำวนพลังงานแสงอาทิตย์
เป็นการติดตั้งสมาร์ทฟาร์มโดยใช้ระบบ IoT ควบคุมการเปิดปิดจ่ายน้ำและปุ๋ย ตามเส้นทางของแผงให้น้ำ ซึ่งใช้โซลาร์เซลล์ผสานกับการใช้ไฟฟ้าบ้าน ให้กำลังไฟฟ้าที่ 30 – 32 วัตต์ อัตราการจ่ายน้ำได้สูงสุด 2,000 ลิตรต่อชั่วโมง ส่งน้ำได้สูงสุดถึง 2 เมตร เหมาะสำหรับการทำโต๊ะปลูกผักขนาดเล็ก ใช้รางปลูกผักไม่เกิน 6 เส้น โดยจุดนี้จะเป็นจุดที่ให้เยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการดูแลพืชผัก ผลผลิต และเทคนิคการใช้ระบบน้ำวนในการบำบัดฟื้นฟูโรคพืช เช่น โรครากเน่าหรือเชื้อราในพืช ทำให้เยาวชนสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดในการทำการเกษตรเป็นอาชีพได้
3) ฐานเรียนรู้โรงเรือนเห็ด
เป็นการติดตั้งสมาร์ทฟาร์มโดยใช้ระบบ IoT สำหรับระบบเปิดปิดวาล์วน้ำ และจ่ายไฟสำหรับกล้องวงจรปิดในโรงเรือน ซึ่งสามารถช่วยควบคุมปริมาณน้ำ และตั้งเวลาเปิดปิดสำหรับรดน้ำแปลงเห็ด ป้องกันปัญหาก้อนเชื้อเน่า อีกทั้งยังมีการติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิและค่าความชื้นสำหรับโรงเรือนเห็ด โดยจุดนี้เยาวชนจะได้เรียนรู้ถึงการติดตามการเจริญเติบโตของเห็ดแบบเรียลไทม์ และการติดตั้งกล้องวงจรปิด ช่วยให้สามารถคาดการณ์ผลผลิตเห็ดล่วงหน้าได้
ปัจจุบันโครงการนี้ มีเด็กและเยาวชนได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้แล้วถึง 160 คน มีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ ผักไฮโดรโปรนิกส์ ไข่ไก่ และเห็ดนางฟ้าภูฐานเพิ่มขึ้น โดยมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 10 ต่อเดือน และมีเยาวชนที่ได้รับความรู้จากโครงการนี้นำไปใช้ประกอบอาชีพ สร้างผลกระทบทางสังคม ลดการกระทำผิดซ้ำให้กับเยาวชน และยังสามารถสร้างรายได้ในการเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวอีกด้วย
หากสนใจระบบควบคุมฟาร์มอัจฉริยะ สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม) เลขที่ 298 ม.1 ต.นาเหล่า อ.นาวัง จ.หนองบัวลำภู 39170
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- บริษัท อัตลักษณ์ จำกัด (วิสาหกิจเพื่อสังคม)
- สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน จังหวัดอุดรธานี
- หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
บทความโดย
วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)