เรือกู้ภัยไฟฟ้าพลังงานโซล่าเซลล์ สำหรับผู้ประสบภัยน้ำท่วมชาวอุบลราชธานี

เมื่อพูดถึงน้ำท่วม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเราจะนึกถึงจังหวัดอุบลราชธานี เนื่องจากเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากฝนตกหนักและเป็นพื้นที่รับมวลน้ำจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูล ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ทำให้เกิด “ภาวะโลกเดือด” ซึ่งเป็นสภาวะที่อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น ทำให้ผืนดิน ผืนน้ำ ห้วงมหาสมุทร ตลอดจนลมฟ้าอากาศ และฤดูกาลแปรเปลี่ยนและรวนไป ส่งผลให้คนทั่วโลกเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนอย่างรวดเร็ว เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ เช่น แผ่นดินไหว  ลม พายุ น้ำท่วมใหญ่ในประเทศต่าง ๆ เป็นต้น สำหรับประเทศไทยในหลาย ๆ พื้นที่ได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ภัยแล้ง ที่ส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตของเกษตรกร ในบางพื้นที่เกิดอุทกภัยรุนแรงมาก สร้างความสูญเสียและสร้างความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้าง ทรัพย์สิน รวมไปถึงร่างกายและจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

อย่างที่เราทราบกันดีว่าในช่วงเดือนกันยายนและตุลาคมของทุกปี จังหวัดอุบลราชธานีประสบปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่เดิมซ้ำ ๆ มากกว่า 10 ปี ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 10,000 คน ริมน้ำมูลเกิดความเสียหาย จำนวน 4 อำเภอ คือ อำเภอวารินชำราบ อำเภอเมือง อำเภอสว่างวีระวงศ์ และอำเภอดอนมดแดง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สาเหตุมาจากฝนตกหนักในพื้นที่และยังเป็นพื้นที่รับมวลน้ำจากแม่น้ำสายหลัก 2 สาย ในภาคอีสาน คือ แม่น้ำชีที่มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดชัยภูมิ และแม่น้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา แม่น้ำสองสายไหลมาบรรจบกันที่บริเวณอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้นจึงไหลผ่านอำเภอต่าง ๆ เข้าสู่เขื่อนปากมูลและไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี  ด้วยเหตุนี้จึงเกิดการรวมตัวของเครือข่ายในการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชนในการรับมือภัยพิบัติ มีการทำข้อมูล เพื่อจัดทำแผนที่ทำมือสำหรับพื้นที่เสี่ยงภัย เส้นทางหนีภัย และจุดปลอดภัย นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งอาสาสมัครภัยพิบัติในแต่ละชุมชน โดยจัดตั้งเป็นเครือข่ายอาสาชุมชนป้องกันภัยพิบัติจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้เมื่อเกิดน้ำท่วม มีการนำเรือมาใช้อพยพผู้คนและสิ่งของ ทำให้ช่วยลดความเสียหายได้ แต่การช่วยเหลือทำได้ในวงจำกัด เนื่องจากมีเรือเพียงแค่ 4 ลำ หลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2562 จึงมีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการต่อเรือและแพ เพื่อให้ชุมชนริมสองฝั่งแม่น้ำมูลได้ต่อเรือเอาไว้ใช้ในยามน้ำท่วม

ดังนั้นการพัฒนาเรือจึงเป็นสิ่งจำเป็นในการอพยพคนและสิ่งของไปยังพื้นที่ปลอดภัย รวมไปถึงการส่งอาหารและเสบียงให้แก่ผู้ประสบภัย อาสาสมัครป้องกันภัยจังหวัดอุบลราชธานีจึงร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี พัฒนาต้นแบบนวัตกรรมเรือไฟฟ้าพลังงานโซล่าเซลล์ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง (Social Innovation Driving Unit: SID) มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ซึ่งเรือที่พัฒนาขึ้นมานี้สามารถชาร์จพลังงานได้อย่างต่อเนื่องที่แล่นได้ในตอนที่ไม่มีแดด เป็นเรืออลูมิเนียมท้องแบน ขนาดเรือ 13 ฟุต บรรทุกคนได้ไม่เกิน 10 คน หรือ 1,000 กิโลกรัม เดินทางด้วยอัตราเร็ว 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าบนเรือได้ เช่น พัดลม หรือชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์น้ำท่วมที่ต้องมีการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอก โดยปัจจุบันเรือไฟฟ้าต้นแบบนี้จะมาช่วยหนุนเสริมในการเข้าให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ให้กับชุมชนหาดสวนยา ตำบลวารินชำราบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

หากมีการผลักดันสนับสนุนให้เกิดการผลิตสู่เชิงพาณิชย์และใช้ในวงกว้าง จะสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยและลดความเสียหายในพื้นที่หลายจังหวัดได้มากขึ้น อีกทั้งหากมีการต่อยอดนำเรือไปสร้างธุรกิจรูปแบบใหม่ในพื้นที่ โดยใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวริมแม่น้ำ นอกฤดูกาลน้ำท่วม ก็จะช่วยให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ สร้างอาชีพใหม่ให้แก่ชุมชนได้อีกด้วย

ที่มา:

บทความโดย

วรรนิภา พงษ์ไทยสงค์ (โม)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)