“หนังเทียมจากฟางข้าว” นวัตกรรมวัสดุทดแทนหนังสัตว์และหนังเทียมสังเคราะห์

ประเทศไทย กำลังเผชิญกับปัญหาการจัดการวัตถุดิบภาคการเกษตรที่เหลือและถูกทอดทิ้ง โดยเฉพาะ “ฟางข้าว” ที่ชาวนาเลือกจัดการด้วยวิธีเผา เนื่องจากสะดวกและรวดเร็วที่สุดในการเตรียมไถดินสำหรับการทำนาในครั้งต่อไป ซึ่งการเผาฟางข้าวนั้น ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศ มีผลกระทบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนทั่วไปอย่างมาก โดยเฉพาะปัญหา PM 2.5 อีกทั้งฟางข้าวยังถูกมองเป็นของไม่มีมูลค่า โดยแต่ละปีมีฟางข้าวเหลือทิ้งในนาเฉลี่ยปีละ 27 ล้านตัน และมีตอซังข้าวที่ตกค้างอยู่ในนาข้าวประมาณ 18 ล้านตัน ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครต้องการ

จากการตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการจัดการของเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร ไปจนถึงเทรนด์การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของผู้บริโภค จึงเป็นแรงบันดาลใจในการผลิตหนังเทียมจากฟางข้าวของ บริษัท มณีผาสุข จำกัด ที่ต้องการจะลดปัญหาการเผาฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น    PM 2.5 ขณะเดียวกันก็อยากสร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ชื่นชอบวัสดุประเภทหนัง โดยไม่อยากเบียดเบียนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ และเป็นมิตรต่อผู้ใช้งาน ทั้งนี้ ทางบริษัท มณีผาสุข จำกัด ได้รับการสนับสนุนโครงการจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ผ่านหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง (SID-TU) ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้มีความร่วมมือกับ อ้วนกลมแฮปปี้ฟาร์ม ในการพัฒนาหนังเทียมจากฟางข้าวและใช้องค์ประกอบจากธรรมชาติให้มากที่สุด ทั้งสีที่ได้จากธรรมชาติ รวมถึงส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ทั้งหมด

ผลิตภัณฑ์ “หนังเทียมจากฟางข้าว” ซึ่งเป็นวัสดุทดแทนหนังสัตว์และหนังเทียมสังเคราะห์ เป็นนวัตกรรมที่นำฟางข้าวที่เหลือทิ้งจากภาคการเกษตรมาผ่านกระบวนการด้านต่าง ๆ เช่น แช่หมักด้วย Waste จากกากน้ำตาลที่เหลือทิ้ง แล้วนำไปผสมกับสารช่วยยึดเกาะที่ผสมขึ้นมาจากส่วนประกอบของน้ำยางพารา ทำให้หนังเทียมจากฟางข้าว มีความแข็งแรง สามารถโค้งงอได้โดยไม่หักหรือแตก มีผิวสัมผัสที่คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของฟางข้าว ใช้ส่วนประกอบสำคัญจากพืชและวัตถุดิบต่าง ๆ มาสร้างความคงทนต่อการใช้งานโดยผสมกับกาวอะคริลิกแบบปลอดสาร Alkylphenol Ethoxylates (APEO) และยังผ่านมาตรฐาน Zero Discharge of Hazardous Chemicals Programme (ZDHC) มีการเพิ่มสารลดการดูดซึมและเพิ่มความแข็งแรงให้กับวัสดุหนังเทียมจากฟางข้าว และยังมีการใช้สีจากธรรมชาติ ผสมเข้ากับเส้นใยฟางข้าว เพื่อให้ผลิตภัณฑ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง

อย่างไรก็ตาม “หนังเทียมจากฟางข้าว” นอกจากจะเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว ทางบริษัท มณีผาสุข จำกัด ยังได้ร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวแบบนาแปลงใหญ่ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ในการสร้างอาชีพและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกร ทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีรายได้จากการผลิตหนังเทียมจากฟางข้าวถึง 30,000 บาทต่อคนต่อเดือน เพราะการทำหนังเทียมนั้นถือเป็นงานฝีมือ และยังสามารถนำไปผลิตในเชิงอุตสาหกรรมได้จริง เช่น งานออกแบบ เฟอร์นิเจอร์ บรรจุภัณฑ์ กระเป๋า เครื่องหนัง นับว่าเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับฟางข้าวที่ไม่มีมูลค่าให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม อีกทั้งหนังเทียมจากฟางข้าวยังเป็นการลดการฆ่าสัตว์เพื่อนำหนังสัตว์มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อีกด้วย โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หวังว่าโครงการนี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และช่วยส่งเสริมการสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการหันมาใช้ประโยชน์จากฟางข้าวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นการลดมลพิษทางอากาศ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมในระดับพื้นที่ และสร้างความยั่งยืนสอดคล้องตามหลักแนวคิด BCG และ SDGs ต่อไป

หากสนใจผลิตภัณฑ์ “หนังเทียมจากฟางข้าว” สามารถติดต่อได้ที่ บริษัท มณีผาสุข จำกัด เลขที่ 77/120 หมู่ 4 ถ.ลำลูกกา ต.บึงคำพร้อย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หรือช่องทางออนไลน์ Facebook Maneephasuk  ได้อีกหนึ่งช่องทางด้วย

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  • บริษัท มณีผาสุข จำกัด
  • หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคกลาง (SID-TU)
  • เว็บไซต์ ผู้นำท้องถิ่น Online หัวข้อข่าว “ฟางข้าวสร้างรายได้” กรมการข้าวแนะชาวนาใช้ประโยชน์จากฟางข้าว งดเผาลดมลพิษ สร้างรายได้

บทความโดย

วัชราภรณ์ แสงสว่าง (ตาล)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)