เรื่องเล่า…ของชาวหมู่บ้านนวัตกรรม EP04

กรณีศึกษาชุมชนแม่เหาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน “ฤดูไหน…ก็เที่ยวได้ด้วยนวัตกรรม”

จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีความโดดเด่นที่น่าสนใจโดยเฉพาะสภาพภูมิประเทศ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็น “เมืองสามหมอก” เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเต็มไปด้วยภูเขาสูงสลับซับซ้อน สภาพอากาศมีหมอกปกคลุมตลอดเวลาส่วนใหญ่ของปี ความหลากหลายด้านวัฒนธรรม และความหลากหลายของประชากรจากหลายกลุ่มชาติพันธุ์ แต่อย่างไรก็ดี จังหวัดแม่ฮ่องสอน ยังนับว่าค่อนข้างอยู่ห่างไกล เพราะเป็นพื้นที่ปลายสุดด้านตะวันตกของประเทศ จึงเป็นอุปสรรคด้านการขนส่งและการเข้าถึงบริการของรัฐ เช่น ถนน ระบบประปา การให้บริการด้านสาธารณสุข เป็นต้น ทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างล่าช้า นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นเขตพื้นที่ป่า ทำให้มีข้อจำกัดด้านที่ดินทำกินของประชาชน เนื่องจากไม่มีไร่นา สวน เป็นของตนเอง เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่ำและติดอยู่ในพื้นที่จังหวัดยากจนลำดับต้น ๆ ของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในอำเภอที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คือ อำเภอแม่สะเรียงที่เป็นเสมือนประตูสู่แม่ฮ่องสอน เพราะเมื่อเดินทางมาจากเชียงใหม่ ตามถนนสาย 108 จากอำเภอฮอดก็จะถึงแม่สะเรียงก่อน แม่สะเรียงเป็นเมืองเล็กๆ ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เพราะมีธรรมชาติ ขุนเขา และป่าไม้อันสมบูรณ์ นอกจากนั้นยังมีวัฒนธรรมของชนเผ่าและประเพณีของท้องถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่อยากจะหลีกหนีความวุ่นวายของสังคมเมือง ซึ่งตำบลที่น่าสนใจในการพัฒนาคือตำบลแม่เหาะ เนื่องจากเป็นทางผ่านก่อนเข้าตัวอำเภอเพียง 23 กิโลเมตร มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและวิถีชีวิต อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมและประเพณีของปกาเกอะญอที่น่าสนใจมากมาย

ชุมชนแม่เหาะ มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยมากนัก เช่น ดอยหว่ากลือโจ๊ะ ดอยหัวสิงห์ ที่เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติเส้นทางใหม่ของชุมชนนี้ สามารถดูพระอาทิตย์ ชมหมอก และเห็นวิวของหมู่บ้านได้ทั้งหมด อีกทั้งยังมีทุ่งดอกบัวตอง น้ำตกแม่สวรรค์น้อย และบ่อน้ำร้อนธรรมชาติอย่าง น้ำพุร้อนแม่อุมลอง

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. จึงได้เข้าไปสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนของพื้นที่ชุมชนแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ภายใต้โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อเป็นโมเดลนำร่องในการช่วยแก้ไขปัญหาด้านการท่องเที่ยวและวัฒนธรรม โดยการนำนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวไปใช้ เพื่อสร้างให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวในทุกฤดูกาล และได้สนับสนุนผู้ประกอบการในการร่วมช่วยกันสรรค์สร้างนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวของชุมชนแม่เหาะ โดยเริ่มต้นจากการดำเนินโครงการ Green route Good life” เที่ยวแม่เหาะ ลัดเลาะชมวิถีกะเหรี่ยง” ซึ่งเป็นการนำองค์ความรู้ด้าน Community-Based Tourism (CBT) ร่วมกับ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-tourism) มาช่วยพัฒนาเสริมสร้างองค์ความรู้ทักษะการท่องเที่ยว การเล่าเรื่องราววิถีความเป็นอยู่ ควบคู่ไปกับการออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวให้สามารถสัมผัสวิถีชีวิตและธรรมชาติของชุมชน

แต่เนื่องจาก ช่วง low season ชุมชนมักจะขาดรายได้เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวจำนวนน้อย จึงมีการพัฒนานวัตกรรมที่ทำให้สามารถเที่ยวได้ตลอดทุกฤดูกาล โดยอาศัยเทคโนโลยี Virtual Reality หรือ VR เกิดเป็นแพลตฟอร์ม “แม่เหาะ 360 องศา” ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มท่องเที่ยวเสมือนจริง ให้สามารถดูพระอาทิตย์ขึ้นในขณะที่มีหมอกยามเช้า หรือเห็นน้ำตกสวยงามในตอนที่น้ำแห้ง และยังสามารถสำรวจดูแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ของชุมชน และเส้นทางแนะนำผ่านแอปพลิเคชันได้

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวที่ไปที่ชุมชนแล้วยังสามารถสนุกกับการสแกนหาแหล่งท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร ในรูปแบบ Augmented Reality (AR) กับ Sanuk@แม่เหาะ” แอ่วเมืองสามหมอกด้วย Sanuk AR และชอปปิ้งสินค้าชุมชน สแกนคิวอาร์โค้ดการเล่าเรื่องราวของผลิตภัณฑ์ชุมชนแต่ละชนิด รวมไปถึงได้ส่วนลดในการซื้อสินค้าและค่าที่พักในชุมชนอีกด้วย

ส่วนสุดท้ายที่เป็นผลิตภัณฑ์ไฮไลท์เด็ดของชุมชนนี้ก็คือ “กาแฟหอมเหาะ” ที่ปลูกและดูแลแบบธรรมชาติ ให้กาแฟที่มีรสชาติดี กลิ่นนหอมชวนชิม แต่ในกระบวนการผลิตนั้นยังมีปัญหาที่ทำให้กาแฟไม่ได้คุณภาพตามที่ต้องการมากนัก เนื่องจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนเรียกได้ว่าเป็นเมืองสามหมอก มีแดดน้อยมาก การตากกาแฟแต่ละรอบค่อนข้างใช้เวลานาน จึงมีการนำนวัตกรรมระบบลดความชื้นและการอบแห้งแบบ Low Temperature and low Humidity Drying (LTLH)  มาใช้กับผลิตภัณฑ์จากกาแฟแม่เหาะ และมีห้องบ่มกาแฟระบบปิด ที่เป็นการควบคุมอากาศในระบบให้มีความเหมาะสมกับการลดความชื้น โดยไม่ต้องใช้อุณหภูมิสูง สามารถการตากกาแฟในสภาพอากาศเย็นและความชื้นต่ำ ส่งผลให้ความชื้นกาแฟมาใช้ลดลงจนกระทั่งแห้งสนิทถึงระดับความชื้น 12% นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ใช้ระบบอบแห้งชนิดการแผ่รังสีความร้อนของเซรามิก ที่มีการใช้คลื่นรังสีอินฟราเรดระยะไกล (Far Infrared Radiation : FIR) ในกระบวนการอบแห้ง ซึ่งมีคุณสมบัติการให้ความร้อนที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วเนื่องจากพลังงานจะถ่ายเทไปยังวัสดุโดยการแผ่รังสีโดยตรง ช่วยให้ผลิตภัณฑ์กาแฟที่ได้มีคุณภาพดี คงสภาพ สี กลิ่น รส และสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ และประหยัดพลังงานได้อีกด้วย

จากนวัตกรรมต่างๆ ที่เล่ามาทั้งหมดนั้น สามารถช่วยขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยวโดยชุมชนเส้นทางใหม่ ณ ชุมชนแม่เหาะ และนำเสนอการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยี VR และ AR ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง ซึ่งนับว่าเป็นแนวทางการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวในชุมชนเล็กๆ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ในชุมชน โดยในโครงการนี้มีชุมชนได้รับประโยชน์ จำนวนกว่า 500 ราย ที่เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ใหม่ และเกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ซึ่ง สนช. หวังว่ารูปแบบการท่องเที่ยวชุมชนนำร่องที่แม่เหาะนี้ จะสามารถขยายผลไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนอื่นๆ ได้ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ว่า “ฤดูไหน…ก็เที่ยวได้ด้วยนวัตกรรม”

ผู้เขียน : วรรนิภา พงษ์ไทยสงค์
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)