พลิกวิกฤตโควิดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมในสังคม

“สุขภาพ” เป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคม ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ให้นิยามของคำว่า “สุขภาพ” ที่ไม่เพียงแต่เป็นความสมบูรณ์ ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บทางร่างกายและจิตใจ แต่ยังหมายถึงการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่บุคคลนั้นพึงจะได้รับตามความต้องการพื้นฐาน ซึ่งส่งผลให้สุขภาวะทางสังคมดีขึ้นด้วย จะเห็นได้ว่า แม้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญกับประเด็นการดูแลสุขภาพของประชาชนมาอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการรักษาฟรี การส่งเสริมสุขภาพในระดับท้องถิ่น ฯลฯ แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพทั้งหมด โดยเฉพาะเมื่อบริบทของสังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาวะของคนในประเทศ ในขณะเดียวกันการทำงานของภาครัฐที่มีข้อจำกัดในหลายส่วนจึงอาจะไม่สามารถรับมือหรือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที ดังนั้น การสร้างสรรค์ “นวัตกรรมบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการเพื่อสังคม” จึงต้องมีการแสวงหาความร่วมมือกับองค์กรภาคเอกชน องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร รวมถึงภาคประชาชนที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์นวัตกรรมกระบวนการหรือแนวคิดใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้น

“การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ด้อยโอกาส (Health-Disability)” เพื่อช่วยให้ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมสามารถเข้าถึงอุปกรณ์หรือบริการทางการแพทย์ที่มีคุณภาพได้อย่างเท่าเทียมกัน นับเป็นประเด็นสำคัญที่จำเป็นต้องอาศัยนวัตกรรมเข้าไปแก้ไขปัญหา โดยนวัตกรรมนั้นต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับสถานภาพของผู้รับบริการ ก่อให้เกิดประโยชน์ ความคุ้มค่า และราคาจับต้องได้ ตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชัน “Whale-ness” เพื่อการดูแลสุขภาพครบวงจร เป็นแอปพลิเคชันที่สามารถช่วยเหลือการจัดเก็บและทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพให้ความสะดวกกับผู้ใช้งานและโรงพยาบาล ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลผลตรวจสุขภาพเพื่อเป็นการเก็บประวัติการรักษาให้อยู่ในระบบออนไลน์ ในราคาที่ผู้ด้อยโอกาสก็สามารถเข้าถึงได้ง่าย

ประเด็นที่น่าสนใจอีกด้าน คือ เนื่องจากประเทศไทยมีการพัฒนาระบบการจัดสวัสดิการให้ประชาชนเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและพึ่งพาตนเองได้ จึงควรนำนวัตกรรมเข้าไปช่วยพัฒนา “แพลตฟอร์มสวัสดิการและประกันทางด้านสุขภาพ (Welfare and Insurance for Society)” ซึ่งนับเป็นการช่วยให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการดูแลป้องกันด้านสุขภาพตามความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สมควรได้รับ เช่น การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค การดูแลรักษาพยาบาล และอาการบาดเจ็บ ดังตัวอย่าง แอปพลิเคชัน Mesitthi ที่ให้คำปรึกษาด้านสิทธิต่าง ๆ แก่แรงงานนอกระบบ โดยมีจุดเน้นที่สวัสดิการในรูปตัวเงิน ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ในนโยบายของภาครัฐเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงสวัสดิการที่ชุมชนจัดเตรียมขึ้น เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น

“นวัตกรรมข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Data Innovation)” เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ช่วยให้การบริการทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพของประชาชนเป็นไปอย่างมีคุณภาพมากขึ้น โดยแพทย์สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ป่วยได้จากทุกที่ตลอดเวลา รวมถึงการที่ผู้ป่วยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลตัวเองเพื่อการวินิจฉัยของแพทย์ เรียกได้วว่าเป็นการพัฒนานวัตกรรมการดูแลรักษาสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เพื่อกระบวนการรักษาที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น แพลตฟอร์ม SAFE-T  ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนการป้องกันและควบคุมการระบาดของไวรัส COVID-19 ในเชิงรุก มีฟังก์ชันตอบแบบสอบถามประจำวันสำหรับการประเมินความเสี่ยงตนเองเบื้องต้น และใช้ระบบ AI ช่วยประเมินสถานที่ปลอดภัยจากไวรัส COVID-19 ตามเวลาจริง อีกทั้งยังรวบรวมข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ อัปเดตข่าวสุขภาพ และรายงานการระบาดของไวรัส COVID-19 ให้สามารถติดตามได้อย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ ถ้าพูดถึงเรื่องการส่งเสริมสุขภาพประชาชน เราจะมองข้ามความสำคัญของ “นวัตกรรมสำหรับการส่งเสริมสุขภาพ (Innovation for Health Promotion)” ไปไม่ได้เลย ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นให้สังคมเกิดการเรียนรู้ ส่งเสริม พัฒนาสุขภาพของตนเอง สร้างสุขภาวะให้มีความสมบูรณ์ทั้งร่างกาย และจิตใจ สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เช่น แพลตฟอร์ม “YOUNG HAPPY” ที่สามารถเชื่อมโยงบริการผู้สูงอายุให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ และทำให้พึ่งพาตัวเองได้ โดยช่วยให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายมากขึ้น สามารถจับคู่และติดต่อกับบริการต่าง ๆ ได้ เช่น การโทรเรียกรถฉุกเฉิน ระบบสามารถทราบถึงตำแหน่ง และประวัติของผู้โทรเรียกใช้บริการ

สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบัน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ถือเป็นช่วงเวลาที่หลายคนได้คิดค้นหานวัตกรรมและหุ่นยนต์ทางการแพทย์ เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับบุคลากรทางการแพทย์ “หุ่นยนต์ทางการแพทย์สำหรับกลุ่มเปราะบาง (Health-Robotic for Vulnerable Persons)” เป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าจะไม่สามารถทำงานแทนคนได้ทั้งหมด แต่เทคโนโลยีของหุ่นยนต์ก็ได้ถูกนำมาช่วยในการช่วยผ่าตัด กระตุ้นพัฒนาการของเด็ก ติดตามดูแลผู้รับบริการหรือให้การดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน งานด้านการพยาบาลบางอย่าง ถือเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่มีส่วนช่วยลดความเสี่ยงให้กับบุคลากรทางการแพทย์อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ช่วยเหลือฟื้นฟูกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ป่วย ผู้พิการ และผู้สูงอายุ ให้ใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น เช่น โครงการลู่วิ่งในน้ำเพื่อการกายภาพบำบัด ที่ใช้สำหรับการฟื้นฟูผู้ป่วยกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง ข้อสะโพกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม ผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูหลังผ่าตัด หรือผู้สูงอายุ โดยการฟื้นฟูในน้ำจะช่วยเรื่องการรองรับน้ำหนักตัว และการทรงตัว ทำให้ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายได้แม้กล้ามเนื้อจะไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ

จากมิติปัญหาและตัวอย่างทางสังคมเหล่านี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA จึงได้หยิบยกปัญหาด้านสุขภาพขึ้นเป็นหนึ่งในโจทย์ City & Community Innovation Challenge 2022 โดยมุ่งหวังให้องค์กรที่มีความร่วมมือกับเจ้าของพื้นที่หรือภาคส่วนต่างๆ ได้เข้ามามีบทบาทในการสร้าง “นวัตกรรมบริการด้านสุขภาพและสวัสดิการเพื่อสังคม” เพื่อแก้ปัญหาและช่วยเหลือคนในสังคมให้สามารถเข้าถึงบริการด้านสุขภาพกันอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพราะคุณภาพชีวิตของทุกคนเป็นสิ่งสำคัญ

ที่มา:
– กระทรวงสาธารณสุข สืบค้นเมื่อ 6 พ.ค. 2564
– บทความ เรื่อง ส่งเสริมสังคมสุขภาพดีด้วยดิจิทัล เว็บไซต์: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สืบค้นเมื่อ 14 พ.ค. 2564
– สุริยา ฟองเกิด สุนันท์ สินซื่อสัตย์กุล และสืบตระกูล ตันตลานุกุล เรื่องนวัตกรรมการบริการสุขภาพ: บทบาทที่ท้าทายของพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข 2020
– Chang CYC, Díaz M, Angulo C. The impact of introducing therapeutic robots in hospital’s organization ininternational workshop on ambient assisted living. Springer Berlin Heidelberg; 2012.

โดย
ณรงค์ธร เนื้อจันทา
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)