นวัตกรรมริมคลองแม่ข่า…จากการร่วมแรงใจของคนในเมืองสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

คลองแม่ข่า น้ำแม่ข่า หรือ แม่น้ำข่า เป็นเส้นทางน้ำโบราณที่ไม่ได้เกิดจากการขุดลอกของมนุษย์ ซึ่งมีบันทึกระบุว่าเป็น 1 ใน 7 ชัยภูมิและแหล่งน้ำ 4 แห่ง อันเป็นเหตุผลที่พญามังรายทรงเลือกที่จะสร้างเมืองเชียงใหม่เมื่อกว่า 700 ปีก่อน ในอดีตแม่น้ำสายนี้มีความยาวประมาณ 30 กิโลเมตร ทำหน้าที่เป็นคูเวียงชั้นนอกที่โอบล้อมเมือง และเป็นทางระบายน้ำล้นลงสู่แม่น้ำปิง ช่วยการป้องกันน้ำท่วม ต่อมาด้วยการขยายตัวของเมืองและการขยายเขตที่อยู่อาศัย ทำให้ตลอดเส้นทางคลองแม่ข่านั้นมีการรุกคืบ หากวัดตามเส้นทางที่คลองพาดผ่านเฉพาะตัวเมือง เราจะสามารถวัดระยะความยาวของคลองแม่ข่าได้ประมาณ 11 กิโลเมตร โดยในอดีตสภาพคลองมีขนาดแคบลง และสภาพน้ำในคลองมีสารปนเปื้อนมากเกินกว่าจะใช้อุปโภคบริโภคได้

อย่างไรก็ดี แม่น้ำสายนี้ก็ยังมีความสำคัญสำหรับคนเชียงใหม่เสมอมา โดยเฉพาะกับคนในชุมชนบริเวณใกล้เคียงกว่า 20 ชุมชนตลอดเส้นทางเลียบคลองแม่ข่า โดยภาคประชาสังคมนั้นมีบทบาทอย่างยิ่งในการเรียกร้องการฟื้นฟูปรับปรุงคลองแม่ข่า ทั้งนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มสถาปนิก อาจารย์จากหลากหลายสาขาวิชา คนในพื้นที่ชุมชน รวมถึงหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น ได้มีโอกาสร่วมพูดคุยสร้างความเข้าใจระหว่างกัน จนสามารถผลักดันให้เกิดโครงการนำร่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ริมคลองแม่ข่าบริเวณชุมชนหัวฝาย-กำแพงงาม เป็นระยะทาง 1.5 กิโลเมตร (เฟสที่หนึ่ง) ซึ่งต่อมากลายเป็นภาพภูมิทัศน์คลองแม่ข่าที่สวยงามในปัจจุบัน และกำลังได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA โดยฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่คลองแม่ข่า ผ่านทางหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมเพื่อนำนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน (SID-AT UN) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และเทศบาลนครเชียงใหม่ โดยการสนับสนุนผลงานนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่คลองแม่ข่า ดังนี้

1) Smart Pole รู้ทันฝุ่นพิษ พิชิตน้ำเสีย ร่วมกับ บริษัท จัมโบ้อิเล็กทรอนิกส์ จํากัด (สํานักงานใหญ่) โดยเป็นการพัฒนาอุปกรณ์เสาอัจฉริยะ ซึ่งประกอบด้วย อุปกรณ์ทดสอบคุณภาพน้ำ ชุดอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ จอแสดงผล LED projector และแพลตฟอร์มเก็บข้อมูล ซึ่งเสาอัจฉริยะนี้นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อนักท่องเที่ยวในการเข้าถึงข้อมูลเมืองต่างๆ รวมถึงคุณภาพน้ำและอากาศในบริเวณนั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อชุมชนที่จะช่วยกันตรวจสอบดูแลคุณภาพน้ำผ่านเครื่องวัดที่เชื่อถือได้ และเพิ่มความสวยงามในพื้นที่ด้วยไฟ LED Projector ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดแรกที่ได้มีการใช้ Lighting ตกแต่งสถานที่ทางเข้าคลองแม่ข่าอย่างถาวร

ภาพผลงานนวัตกรรม “Smart Pole รู้ทันฝุ่นพิษ พิชิตน้ำเสีย” โดย บริษัท จัมโบ้อิเล็กทรอนิกส์ จํากัด (สํานักงานใหญ่)

2) TARA Donate เพื่อแม่ข่าชุมชนน่าเที่ยว ร่วมกับ บริษัท โคเวสท์แล็บส์ จํากัด ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการชวนเชิญคนบริจาคเงินเพื่อดูแลคลองแม่ข่าผ่านระบบ Blockchain นับเป็นกลยุทธ์การสร้างความร่วงแรงร่วมใจในการดูแลพื้นที่สาธารณะ โดยผลงานนี้เกิดจากผู้พัฒนานวัตกรรมเล็งเห็นถึงปัญหาของนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวบริเวณคลองแม่ข่าและต้องการบริจาคเงินเพื่อพัฒนาสภาพน้ำในคลองแม่ข่า แต่ไม่รู้ที่มาที่ไปในการบริจาค และไม่มีการดูแลเงินบริจาคที่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอ จึงได้เสนอการสร้างแพลตฟอร์มช่วยบริจาคขึ้นมา โดยผู้บริจาคจะสามารถบริจาคเข้าไปในระบบผ่านแพลตฟอร์มและจะได้รับส่วนลดในการซื้อสินค้าชุมชน ส่วนเงินบริจาคจะเข้าไปอยู่ที่แพลตฟอร์มกลาง โดยเทศบาลนครเชียงใหม่จะเป็นผู้มาตรวจสอบคุณภาพน้ำและกดอนุมัติเงินบริจาคผ่านระบบ ต่อมาเงินบริจาคจะถูกส่งไปสู่หัวหน้าชุมชนเพื่อกระจายเงินบริจาคอย่างเท่าเทียม สร้างแรงจูงใจในการดูแลสภาพลำคลองให้แก่ชุมชน โดยผลงานนวัตกรรมนี้สร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนและเทศบาลโดยตรง ในการลดค่าใช้จ่ายในการดูแลลำคลองของเทศบาล จากการกระตุ้นให้ชุมชนดูแลลำคลองผ่านเงินบริจาค และจูงใจให้นักท่องเที่ยวมาบริจาค

ภาพผลงานนวัตกรรม “TARA Donate เพื่อแม่ข่าชุมชนน่าเที่ยว” โดบ บริษัท โคเวสท์แล็บส์ จํากัด

3) ถอดรหัสจินตนาการพัฒนาคลองแม่ข่า ร่วมกับ บริษัท ไอเชียงใหม่ จํากัด ในการพัฒนาแพลตฟอร์มการรับฟังเสียงของประชาชน แบ่งเป็นจากทั้งคนในพื้นที่ นักท่องเที่ยว และชุมชน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่คลองแม่ข่าในอนาคต พร้อมค่ามิเตอร์วัดความสมบูรณ์ของพื้นที่ โดยโครงการนี้ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และประชาชนทั่วไป เนื่องจากมีทั้งการนำเสนอการสำรวจขอความคิดเห็น โดยการให้ผู้ต้องการแสดงความคิดเห็นติดสติ๊กเกอร์ตามจุดสาธารณะ และร้านกาแฟต่างๆ รวมถึงมีการสำรวจความคิดเห็นทางออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ https://chiangmaialivemaekha.com/ เพื่อให้ภาครัฐสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลสำหรับการพัฒนาเมืองในอนาคต เครื่องมือนี้ถือเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอแนวทางพัฒนาให้ทุกฝ่ายเห็นภาพเดียวกัน โดยได้รับผลตอบรับเป็นเสียงชื่นชมถึงกิจกรรมการฟังเสียงของคนในเมืองอย่างสร้างสรรค์เป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวชุมชนที่เกี่ยวข้องกับคลองแม่ข่า ได้แก่ โครงการ “น้องสุขใจ: ตุ๊กตา NFT ท่องเที่ยววิถีถิ่นย่านคลองแม่ข่า” โดย บริษัท คริปโต ซิตี้ คอนเน็กซ์ จํากัด โครงการที่มุ่งกระตุ้นให้เกิดความน่าสนใจในแหล่งท่องเที่ยวด้วยการนำ “น้องสุขใจ” มาสคอตสุดน่ารักของ ททท. มาเป็นตัวดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวและนักสะสม สามารถมาเก็บไอเท็ม (item) การแต่งกายของน้องสุขใจ Version คลองแม่ข่า ซึ่งสามารถเก็บได้ที่คลองแม่ข่าที่เดียวเท่านั้น

ณ วันนี้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับคลองแม่ข่าได้ถูกจุดประกายเพื่อเริ่มกระบวนการด้านนวัตกรรมสังคม เพื่อพัฒนาคลองแม่ข่าให้เข้าสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนผ่านโครงการต่าง ๆ แล้ว … แต่กว่าจะเห็นภาพการพัฒนาคลองแม่ข่าในวันนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งสิ่งนี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากปราศจากการรับฟังเสียงความต้องการของคนในพื้นที่อย่างจริงใจและเปิดกว้าง ตลอดจนแรงขับเคลื่อนในการสนับสนุนจากภาคประชาสังคม ชุมชน ภาครัฐ และภาคเอกชนทุกฝ่าย

จนเกิดเป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนริมคลองแม่ข่า และเป็นต้นแบบในการพัฒนาฟื้นฟูเมือง เพื่อดึงดูดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาพัฒนาพื้นที่ในด้านอื่น ๆ ต่อไป

ข้อมูลอ้างอิง

  • หอจดหมายเหตุแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ เชียงใหม่ โดย คุณวีระยุทธ ไตรสูงเนิน (14 ก.ย. 2566) https://www.finearts.go.th/chiangmaiarchives/view/37681 
  • Urban Creature โดยคุณอนิรุทร์ เอื้อวิทยา (1 มี.ค. 2566) https://urbancreature.co/klong-maekha/ 

ขอบคุณรูปภาพจาก

บทความโดย
พิชญาภา ศิริรัตน์ (กิ๊ฟ)
นักพัฒนานวัตกรรม ฝ่ายนวัตกรรมเพื่อสังคม
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)